กับดัก ประชามติ รธน.ใหม่ ล็อกเสียงข้างมาก ชนะโหวต 2 คูหา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคลื่อนมาถึงจุดที่ต้องนับ 1 ใหม่อีกครั้ง

เพราะร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ. … แท้งก่อนคลอดในวาระที่ 3 ในการประชุมรัฐสภา

แถมมัดอย่างแน่นหนาด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่า ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ขณะที่จุดเริ่มต้นของ “ประชามติ” ในรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นได้มีอยู่ 2 วิธี

วิธีแรก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้คิกออฟ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ระบุว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติ ในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้

วิธีที่สอง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กรณีที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้

ดังนั้น หากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เกมก็จะถูกเขี่ยไปอยู่ในอำนาจของ ครม.-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะทำประชามติหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะแท้งกลางสภา แต่ที่ไม่แท้งคือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับล่าสุด ที่เตรียมไว้ใช้ในการทำประชามติครั้งใหม่นี้

แกะไส้ใน สาระสำคัญ ลำดับแรกคือ “จุดเริ่มต้น” ประชามติ อยู่ในมาตรา 11 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ให้นายกฯประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับ กกต. ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

ขณะที่มาตรา 13 กำหนดว่า การออกเสียงประชามติจะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

แปลให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า การชนะโหวตประชามติ จะต้องชนะถึง 2 ชั้น 1.ต้องมีประชาชนที่มีสิทธิออกเสียง มาใช้สิทธิลงคะแนนเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น มีผู้มีสิทธิลงประชามติ 50 ล้านคน จะต้องมีคนมาลงคะแนนเกิน 25 ล้านคน 2.จำนวนเสียงโหวตจะต้องมากกว่าครึ่งหนึ่ง

โดยใช้หลัก double majority-เสียงข้างมากสองชั้น อาจกลายเป็นด่านหินใหม่ที่ทำให้การชนะเกมประชามติไม่ใช่ของง่าย

ขณะเดียวกัน การลงประชามติตามกฎหมายใหม่ ยังเปิดช่องให้ลงคะแนนออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ที่บัญญัติอยู่ในส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ยังเปิดให้ลงคะแนนออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น EVM (electronic voting machine)

ยังเพิ่มเติมส่วนที่ 4 การลงคะแนนออกเสียงนอกราชอาณาจักร ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่ง คือ ลงคะแนนที่สถานทูต ลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ ลงคะแนนทางไปรษณีย์ หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับ “กฎเหล็ก” ประชามติ ตามกฎหมายใหม่ มีด้วยกัน 7 ข้อ บัญญัติอยู่ในมาตรา 60 มีโทษทั้งจำคุก-ปรับ ตัดสิทธิการเมือง

ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (1) ขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (2) ให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(3) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการออกเสียง

(4) เปิดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ นำไป หรือขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียง หรือบัตรออกเสียง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงที่คณะกรรมการประจำหน่วยได้จัดทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรออกเสียงที่ตั้งไว้เพื่อการลงคะแนนออกเสียง หรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรออกเสียงนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการออกเสียงได้เสร็จสิ้นแล้ว

นอกจากนี้ กมธ.ที่พิจารณาในวาระที่ 2 ยังเพิ่ม (4/1) “เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ”

(5) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิ
ออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(6) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(7) ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกาของวันก่อนวันออกเสียงหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 นาฬิกาของวันออกเสียง
ผู้ใดกระทำตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

และผู้กระทำตาม (4/1) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

ผู้ใดกระทำตาม (7) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตาม (6) เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ มอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

การทำประชามติรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจกลายเป็นด่านหินใหม่ แม้จะมีการเปิดช่องในการออกเสียงประชามติ ทั้งเข้าคูหา ลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ เครื่องลงคะแนน และลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ต

แต่สุดท้ายคะแนนเสียงต้องชนะถึงสองด่าน ตามสูตร double majority