เลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ 28 มี.ค. ขั้นตอนเช็กสิทธิ์-การเตรียมตัว

เลือกตั้ง
Jewel SAMAD / AFP

เปิดรายละเอียดเลือกตั้งเทศบาล “ขั้นตอนเช็กสิทธิ์-การเตรียมตัว-วิธีแจ้งเหตุหากไม่ไปเลือกตั้ง” วันที่ 28 มี.ค. นี้ 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้ง “สมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี” ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 2,472 แห่งทั่วประเทศ

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประชาชนผู้มีสิทธิ์จะต้องทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปเลือกตั้งจริง ทั้งขั้นตอนการเลือกตั้ง วิธีการใช้บัตรเลือกตั้ง จนถึงการแจ้งสาเหตุหากไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ เพื่อจะได้เตรียมตัวและทำความเข้าใจเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ดังนี้

วิธีเช็กสิทธิ์เลือกตั้งเทศบาล

ปกติแล้วการเลือกตั้งเทศบาล ทาง กกต. จะส่งเอกสารมาที่บ้านเพื่อแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งหากไม่ได้รับสามารถไปตรวจสอบได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการ อบจ. หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปตรวจสอบยังสถานที่ข้างต้น ทาง กกต.ได้เปิดให้ตรวจสอบรายชื่อผ่านทางออนไลน์ ดังนี้

  • เข้าไปที่ stat.bora.dopa.go.th เพื่อทำการตรวจสอบ
  • ระบบจะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก จากนั้นกดค้นหา
  • จากนั้นระบบจะแจ้งวันที่เลือกตั้ง สิทธิ์การเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีรายชื่อให้ผู้มีสิทธิ์ทราบ

หลักฐานที่ใช้แสดงตนวันเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุสามารใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

วัน-เวลา การเลือกตั้ง

วันที่ 28 มีนาคม 2564 เวลา 08.00 -17.00 น.

ขั้นตอนเลือกตั้งเทศบาล

เมื่อถึงเวลา 08.00 น. ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะกล่าวเปิดการออกเสียงลงคะแนน โดยการใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าที่หน่วยเลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานแสดงตนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือหลักฐานอื่นของทางราชการหรือ หน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อ
  3. รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือต้นขั้วบัตรเลือกตั้งแล้ว
  4. เข้าคูหาลงคะแนนแล้วทำเครื่องหมายกากบาท (x)
    – บัตรเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล เลือกผู้สมัครได้จำนวน 6 หมายเลข
    – บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเลือกผู้สมัครได้จำนวน 1 หมายเลข
    – หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อย
  5. หย่อนบัตรเลือกตั้งใส่ลงในหีบบัตรแต่ละประเภทด้วยตนเอง

ไปใช้สิทธิ์ไม่ได้ทำอย่างไร

ในกรณีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้ดำเนินการแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ ดังนี้

  • ให้แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  • ทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน โดยสามารถแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคม 2564 หรือ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2564

เหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปเลือกตั้ง

  1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
  3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
  4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  7. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

สำหรับกรณีที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ์ได้

จำกัดสิทธิ์อะไรหากไม่ไปเลือกตั้ง

ผู้ที่เดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุผลในการไม่ไปใช้สิทธิ์ จะถูกจำกัดสิทธิ์ในอนาคต ดังต่อไปนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ./ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ./ผ.ถ.
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริการท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นการถูกจำกัดสิทธิ์ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง