“ประยุทธ์” ประชุมด่วน กุนซือเศรษฐกิจ ถกแผนใช้เงินกู้ 7 แสนล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ ถกทีมเศรษฐกิจ-ที่ปรึกษา ปิติ-รุ่งโรจน์-ไพรินทร์ มาครบ 9 อรหันต์ คาดเตรียมออกแพ็กเกจเงินกู้ 7 แสนล้าน เยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-อุ้มจ้างงาน โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-เพิ่มรายได้ชนบท กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย-เพิ่มกำลังซื้อประชาชน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน-ร้านตลาด อัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมหลังโควิด

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรียกรัฐมนตรีเศรษฐกิจและคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อาทิ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษา นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และนายปิติ ตันฑเกษม ที่ปรึกษา ร่วมหารือมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

•ครม. เคาะกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน แก้วิกฤตโควิด จ่ายเยียวยา 4 แสนล้าน
ทำไมต้องกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน เปิดกับดัก 5 บัญชี เบิกเยียวยาโควิดไม่ได้

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟสบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ว่า ช่วงบ่ายเป็นการประชุมเพื่อติดตามและพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาในรายละเอียด ตั้งแต่แผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมๆ กับแผนงานช่วยเหลือประชาชน

“โดยครั้งนี้มุ่งเป้าหมายไปที่ SMEs เพื่อให้สามารถรักษาการจ้างแรงงานได้ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน การกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าและบริการรายย่อย ควบคู่กับการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเทียวเพื่อเตรียมพร้อมการขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานในพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกัน/รับมือน้ำท่วม-น้ำแล้งในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้อีกด้วยนะครับ”

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ว่า การหารือในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานการฉีดวัคซีนให้กลับกลุ่มเป้าหมายตามระยะความจำเป็นและเร่งด่วน นอกจากนี้ยังรับทราบผลการดำเนินงานของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้เป็นแนวทางการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ยังไม่มีการพูดถึงรายละเอียด