ประยุทธ์ ฝ่าคาร์ม็อบ–ศึกซักฟอก คีย์แมน พปชร.กางบันไดเลือกตั้ง ปี’66

รายงานพิเศษ

เกมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทั้งในและนอกรัฐสภา กระทั่งรัฐบาลต้องหันมา “พึงระวัง” ปัจจัยการเมือง ควบคู่กับการแก้การระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง

นอกรัฐสภา กระแส “คาร์ม็อบ” ที่จุดขึ้นโดย “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด ปลุกกระแสให้ระบาดไปหลายจุดทั่วประเทศ ขณะที่ “นักการเมือง-แกนนำม็อบ” ตัวท็อป “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”กระโดดขึ้นบนเวที ประกาศพัฒนาคาร์ม็อบเป็น “คาร์ปาร์ก” ติด #ไล่ประยุทธ์

ขณะที่ด้านในรัฐสภายังมีปมร้อนเรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญ” กลับมาเป็นไฮไลต์สำคัญ ภายหลัง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) เร่งลงมือ ให้จบในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคมนี้

ในจังหวะที่ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิก กมธ.ชุดดังกล่าว ชวนสังคมให้จับตาการเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุ่งเป้าโจมตีไปที่การพิจารณาของ กมธ.ว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบที่คนไม่กี่คนมาสุมหัวกัน โดยประชาชนไม่มีสิทธิอะไร

และยังพยายาม ฟื้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา “ตีตก” ไปแล้ว กลับมาบรรจุใหม่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภา และกำลังแก้ไขกันอยู่

เมื่อการเมืองในรัฐสภา มักเป็นตัวเร่งอุณหภูมิการเมืองนอกสภา และบนถนน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ในฐานะ “คีย์แมน” พรรคพลังประชารัฐ ตัวกำหนดเกมคนสำคัญในรัฐสภา

จึงมองทุกความเคลื่อนไหวในขณะนี้ว่า ที่สุดแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” จะครองอำนาจไปได้จนครบวาระ ปี 2566 แน่นอน

รัฐบาล-ฝ่ายค้านแก้ รธน.ลงตัว

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” เปิดเผยว่า “คำขอแปรญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ สอดคล้องกันในเรื่องบัตรเลือกตั้ง และมาตราที่แก้ไขก็ใกล้เคียงกัน เกือบเหมือนกัน ยกเว้นบทเฉพาะกาล ที่มีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนตัวในฐานะประธาน กมธ.เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาล”

อาทิ ต้องให้แก้กฎหมายลูก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 90 วัน ถ้าหากแก้กฎหมายไม่เสร็จทันแล้วมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ให้ กกต.มีอำนาจออกประกาศขึ้นมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ประกาศใช้แล้ว

ไพบูลย์บอกว่า ภาพใหญ่ของรัฐธรรมนูฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในการแก้ไขระบบเขตเลือกตั้ง จะมีรูปแบบของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลักโครงใหญ่ ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องของพรรคการเมือง ส่วนพรรคไหนได้เปรียบ-เสียเปรียบ ต้องไปว่ากันในตอนเลือกตั้งใหม่

ก้าวไกลแค่เสียงส่วนน้อย

ส่วนเสียงทักท้วงจาก กมธ.พรรคก้าวไกล นั้น “ไพบูลย์” บอกว่า เป็นความเห็นของพรรคก้าวไกล แต่ กมธ.ส่วนใหญ่คงไม่เห็นอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้วนำกลับมาพิจารณาใหม่ แต่เป็นเรื่องคำแปรญัตติของสมาชิก สมาชิกเสนอมาอย่างไร กมธ.เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็มีเอกสิทธิ์ในการออกเสียง รังสิมันต์ โรม หรือ นายธีรัจชัย พันธุมาศ 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล มีเอกสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วย ถ้าเสียงเห็นด้วยชนะ มาตรานั้นก็ผ่าน นำเสนอสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา

“แต่พรรคก้าวไกลเห็นว่าตนเองจะเสียประโยชน์ จึงพยายามผลักดันบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบเยอรมัน เพราะกลัวกระแสถ้าไปต้านการแก้รัฐธรรมนูญก็จะย้อนแย้ง จึงเสนอสูตรบัตร 2 ใบแบบสูตรเยอรมัน”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไพบูลย์บอกว่า คงผ่านไปได้เรียบร้อย ไม่มีปัญหาที่จะไปล้ม ไม่สะดุด ไม่สำเร็จ เท่าที่เช็กดูว่าพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เห็นในทิศทางเดียวกัน ส่วนเสียงคัดค้านของพรรคก้าวไกลมีเสียงไม่มาก แค่ 50 เสียง ไม่มีน้ำหนัก

รธน.แก้ไขจบต้นปี’65

ไพบูลย์กางปฏิทินพิจารณารัฐธรรมนูญจากนี้ว่า วาระ 2 จะพิจารณาหลังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 คาดว่า
จะเป็นช่วงหลังวันที่ 20 สิงหาคม จากนั้นทิ้งไว้ 15 วัน จะพิจารณาในวาระ 3 ก่อนวันที่ 18 กันยายน วาระ 3 จะไม่มีการอภิปรายใช้เวลาแค่ 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ

และ กมธ.จะเร่งเสนอร่างกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 90 วัน และอีกร่างหนึ่งคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะนำเสนอควบคู่กันไปเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีเวลา 180 วัน ซึ่งสามารถทำคู่ขนานไปได้ทันที เพียงแต่จะลงมติวาระ 3 ได้ต่อเมื่อ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

ไพบูลย์รวมเวลาทุกขั้นตอน จะมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงปลายธันวาคม-มกราคม หรือต้นปี 2565

ร่าง Re-Solution ไม่ผ่านสภา

ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution นั้น “ไพบูลย์” มั่นใจว่า ไม่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 ซึ่งต้องมีเสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ลงมติเห็นชอบด้วยเป็นองค์ประกอบ

“เท่าที่ดูร่างที่ยื่นมา ไม่น่าได้รับการเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ในวาระที่ 1 ผมไม่เห็นด้วย คนอื่นก็ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็คือไม่เห็นด้วย ฟังดูแล้วเสียงเห็นด้วยมีน้อยมาก อาจจะมีเสียงของพรรคก้าวไกลไม่กี่สิบเสียง เท่านั้นที่เห็นด้วยเช่นเดียวกับเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เห็นด้วยแต่ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านวาระ 1”

ซักฟอกแค่งานประจำปี

ขณะที่ “คำขู่” ของฝ่ายค้านที่ประกาศว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะสร้างบาดแผลให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จนกลายเป็น “อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย”

“ไพบูลย์” มองฝีมือฝ่ายค้านว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายค้านประจำปี ฝ่ายรัฐบาลก็จะได้ชี้แจง เป็นกลไกประจำปีที่จะต้องเกิดขึ้น เหมือนการอภิปรายงบประมาณ”

“ฝ่ายรัฐบาลขณะนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้มแข็ง ไม่ปริ่มน้ำ เสียงเพียงพอ ผ่านได้สบายมาก” เขาเน้นเสียง

“ส่วนเรื่องวัดคะแนนนิยมรัฐบาลวัดกันไม่ได้หรอกตอนนี้ รอให้ถึงการเลือกตั้งค่อยไปวัดคะแนนนิยมกันตอนนั้น แล้วมีผลตามรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะได้จำนวน ส.ส.เข้ามาเท่าไหร่ ส่วนเรื่องคะแนนนิยมรัฐบาลตกต่ำไม่ตกต่ำ พูดกันได้ทั้งนั้น แต่ต้องวัดความเห็นของคนทั้งประเทศโดยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566”

“ตั้งแต่นี้ไปถึงปี 2566 รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหาโควิด-19 ถึงวันนั้นโควิดก็คงจะจบแล้วมั้ง วิกฤตคงลดระดับไปแล้ว ทีนี้ก็อยู่ที่สำรวจความพึงพอใจของรัฐบาลในตอนเลือกตั้ง เอาไว้วัดกันตอนนั้น” ไพบูลย์กล่าว

ประยุทธ์อยู่ครบวาระปี’66

แม้มีวิกฤตหลายระลอกรุมกระหน่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ทว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองมีความเป็นไปได้ต่ำ ในมุม “ไพบูลย์” พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบวาระ จะมีเลือกตั้งใหม่คือ 24 มีนาคม 2566 โดยใช้กติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ว่านี้

เพราะแรงอัดทางการเมืองภายนอกไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐนาวาเรือเหล็ก พล.อ.ประยุทธ์ “จะไปกระทบอะไร เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย อย่ามาพูดว่าชุมนุมโดยความสงบปราศจากอาวุธ เห็นอยู่แล้วว่ามีการโยนนู่น โยนนี่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ”

“ชุมนุมก็ชุมนุมไป ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐบาลนี้ยุบสภา หรือลาออก…ไม่เกี่ยว”

ส่วนคาร์ม็อบ-คาร์ปาร์ก อีเวนต์การเมืองที่ถูกจุดขึ้นมาเป็นกระแสไล่ “พล.อ.ประยุทธ์” เขายืนยันว่า “ไม่มีผล ผลก็คือพวกที่ออกมาโดนคดีไปก็แล้วกัน เรื่องคดีกระบวนการยุติธรรมเราใช้เวลา แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น”