ม็อบสะสมชัยชนะ ล้มประยุทธ์ ด้อยค่าฝีมือจัดหาวัคซีน แก้โควิด

นาทีนี้กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดหน้า-เปิดตัว ปักหมุดสื่อโซเชียลออฟไลน์-ออนไลน์ เป้าหมายเดียวกัน คือ การถอนรากถอนโคน “ระบอบประยุทธ์” อย่างน้อยที่สุด รุก-ไล่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา-ลาออก

ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ หมุดหมายทฤษฎี “สมคบคิด” หวังล้มกระดานรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ล้างไพ่-เปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่

การเคลื่อนทัพ-ปรับขบวนท่าของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผนึกกำลังทั้งม็อบทะลุฟ้า คาร์ม็อบ-คาร์พาร์ค และพรรคการเมืองที่ “แยกกันเดินรวมกันตี” ครบองค์ประกอบ “แก้วสามประการ” ตามสมติฐานของหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนี้

ประการแรก พรรคการเมืองเครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” เดินหน้าใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติ-ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์-5 รัฐมนตรี และกลไกฝ่ายตุลาการ-ผ่านการเป็นตัวแทน-ตัวกลางในการฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ต่อศาลคดีอาญา-คดีแพ่ง กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่-แก้ปัญหาโควิด-19 ผิดพลาด

ประการที่สอง มวลชน-แนวร่วมหลัก-แนวร่วมมุมกลับ ได้แก่ กลุ่มคณะราษฎร-เยาวชนปลดแอก-ธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มอดีตแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.)-คนเสื้อแดง และกลุ่มอดีตเสื้อเหลือง-กปปส.บางส่วน ที่ถูกลดบทบาท-หลุดวงโคจรอำนาจ

Advertisment

ประการที่สาม การใช้ “กองกำลัง” เป็น “ด่านหน้า” เพื่อยั่วยุ-สร้างสถานการณ์ให้เกิดภาพความรุนแรง ดิสเครดิตรัฐบาลทหาร-รัฐบาลเผด็จการ โดยมีแกนนำกักตัวอยู่บ้าน-work from home

แม้ว่า “ม็อบดินแดง” อานุภาพจะเทียบไม่ได้กับ “กองกำลังเสื้อแดง” ในการชุมนุมเมื่อปี’53 ที่มี “ชายชุดดำ” เป็น “หน่วยกล้าตาย”

ทว่า วิวัฒนาการของการก่อเหตุ-การชุมนุมทางการเมือง ได้หมุนรอบวงเป็นพลวัตไปตามยุคโลกไร้พรมแดนเดินตามรอย “ฮ่องกงโมเดล” ภายใต้แผนบันได 7 ขั้น

บันไดขั้นแรก โฆษณาชวนเชื่อ ภายใต้ “สามข้อเรียกร้อง” ข้อแรก “หยุดคุกคามประชาชน” ข้อสอง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” และข้อสาม “ยุบสภา”

Advertisment

“สองจุดยืน” จุดยืนที่หนึ่ง ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร และจุดยืนที่สอง ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ กับ “หนึ่งความฝัน” คือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

บันไดขั้นที่สอง ดิสเครดิตผู้ภักดี และ บันไดขั้นที่สาม บังคับให้เลือกฝ่าย ขั้นที่สี่ ก่อการประท้วง ขั้นที่ห้า ก่อการจลาจล ขั้นที่หก ก่อวินาศกรรม และ ขั้นที่เจ็ด สงครามกลางเมือง

บันได 7 ขั้น เป้าหมายเพื่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดเหมือนเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี’53 ควักมือเรียกทหารให้ออกมาจากกรมกอง แต่ตราบใดที่ยัง “เอาอยู่” ทหารจะอยู่ในที่ตั้ง ไม่ติดกับดัก-หลุมพราง

การชุมนุมรูปแบบ “ม็อบดินแดง” ที่เกิดภาพเผาทรัพย์สินของทางราชการ เช่น รถตำรวจ และการก่อเหตุเป็นจุด ๆ ณ สถานที่สัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น ทำเนียบรัฐบาล บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ พระบรมมหาราชวัง เกิดขึ้นเป็นระยะ

ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 จะเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตมากที่สุด (พีก) จึงเป็น “นาทีทอง” ของกลุ่มที่ต้องการล้ม “ระบอบประยุทธ์” ชิงจังหวะ “รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ”

ขณะที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีความหวังสูงสุดจะได้ “กลับบ้าน” อย่างที่ตั้งใจไว้ ภายใต้เงื่อนไข พรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” เพื่อ “ชนะเสียง ส.ว.” เปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐบาล

จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้จะเห็น “ทักษิณ” ขยับแรง ผ่านสื่อโซเชียล ผ่าน “คลับเฮาส์”ของกลุ่ม CARE สัปดาห์เว้นสัปดาห์ และการเปิดตัว www.thaksinofficial.com

เหมือนโมเดลเมื่อปี’53 ที่ “ทักษิณ” โฟนอิน-สไกป์ มายังเวทีชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

สถานการณ์ขณะนี้จึงเหมือนการ “ชักเย่อ” ระหว่างกลุ่มต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์กับระบอบประยุทธ์ โดยไม่มีพื้นที่ตรงกลาง-เวทีพูดคุย เพราะเป็น “ม็อบไม่มีแกนนำ” และต่าง “ยืนกันคนละโลก”

ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ต่อว่า หากผู้ชุมนุมยังใช้วิธียั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้ความรุนแรง-เผาทรัพย์ คนที่อยู่กลางคง “ไม่เอาด้วย” ดังนั้นจึงมีผลต่อการอยู่-การไปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ขณะนี้การชุมนุมทางการเมืองจึงมีแต่กำลัง แต่ “ไม่มีพลัง” ชะตากรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาโควิด-การจัดหาวัคซีน

“กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้เกิดภาพการปะทะให้หนักขึ้น เพื่อรักษาความรุนแรงไปเรื่อย ๆ ยิ่งเกิดความรุนแรงต่อประชาชนยิ่งจะนำมาขยายความว่าเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลเผด็จการ ทำร้ายประชาชน”

“ถ้าไม่ชุมนุมตอนนี้จะเสียโอกาส และเพื่อรบกวนสมาธิของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่าง ๆ ขณะนี้ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาโควิด และปัญหาเศรษฐกิจแก้ได้ยากขึ้น”

“กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสะสมความเสียหายของรัฐบาลไปเรื่อย ๆ เพื่อล้มระบอบประยุทธ์ แต่ตราบใดที่คนกลาง ๆ ไม่เอาด้วยก็เปลี่ยนประเทศไม่ได้”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-กองทัพจึง “อยู่ในที่ตั้ง” ไม่ลาออก-ไม่ยุบสภา เพราะเมื่อผ่านช่วง 2 เดือนอันตราย-หลังเดือนกันยายน “รอจังหวะ” เปลี่ยนจากรับเป็นรุก อาศัย momentum ตามหลักการระบาดของโควิด-19 ที่จะมีผู้ติดเชื้อโควิดลดลง

เมื่อถึงเวลานั้นแรงกดดันจากเสียงต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอ่อนกำลังลงไม่มากก็น้อย