ปิดเกมพรรคเล็ก ภูมิใจไทย ก้าวไกล ไม่ยื่นรัฐธรรมนูญ ให้ศาลชี้ขาด

พรรคเล็กหวั่นสูญพันธุ์ หลังรัฐสภาโหวตผ่านรัฐธรรมนูญวาระ 3 กลับไปใช้กติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ ก้าวไกล – ภูมิใจไทย ไม่ร่วมลงเสียงยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด 

10 กันยายน 2564 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่สาม

ปราฏกว่า กลุ่มพรรคเล็ก 7 พรรคที่เคยประกาศว่าหากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบในวาระที่ 3 นั้น จะรวมตัวกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้ออกมากล่าวว่า ในส่วนของตนและพรรคเล็กเราลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับนี้ 

แต่เมื่อมติเสียงสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ออกมาแบบนี้แล้ว การดำเนินการต่อไปของพรรคเล็กมีแนวความคิดว่าจะไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้ยอมรับว่าเสียงของพรรคเล็กนั้นไม่เพียงพอในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมาย 

เพราะต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด หรือประมาณ 72 เสียง  และมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการยื่นได้ภายใน 15 วัน หากพรรคเล็กจะยื่นได้จำเป็นต้องอาศัยเสียงของพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ที่ได้ลงมติงดออกเสียงไว้ว่าทั้งสองพรรคจะร่วมยื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอเขาตัดสินใจ และภายใน 15 วันนี้ตนก็จะไปพูดคุยเจรจาประสานกัน 

ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาปฏิเสธว่า พรรคจะไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าการดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ทุกอย่างจบแล้ว

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า ไม่มี และพร้อมที่จะสู้ต่อไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ ประเมินว่า พรรคก้าวไกล ไม่น่าจะเทเสียงให้พรรคเล็กเพื่อใช้ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่า ไม่ต้องการมอบอำนาจการพิจารณาของสภา ไปให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ก็คือจะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งระหว่าง 15 วันนี้ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาสงสัยในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเที่ยวนี้

สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับเรื่อง ถ้าทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการจนกระทั่งทรงลงพระปรมาภิไธย และถือว่าผ่านกระบวนการเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายลูก หรือพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต่อไป โดยพรรคมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องของกฎหมายลูกต่อไป 

ซึ่งประกอบด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผล รวมไปจนกระทั่งถึงการที่จะต้องกำหนดมาตรการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลัก ๆ สำหรับกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการต่อไป 

ส่วนเป็นการปลุกผีทักษิณกลับมาหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ว่าระบบไหน ก็ต้องมีคนได้เปรียบ เสียเปรียบ ถ้าเราไปมองตรงนั้น ไม่มีทางจะหาข้อยุติได้ แต่ว่า เราต้องมองหลักการอย่างที่ตนเรียน เรามองว่า เราแก้เพื่อทำให้ระบบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยในอนาคตเข้มแข็ง ส่วนผลการเลือกตั้งในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร อันนั้นอยู่ที่ประชาชน ไม่ว่า จะเป็นระบบเลือกตั้งแบบไหน ก็อยู่ที่มือประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การมีบัตรเลือกตั้ง 2 เป็นระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกพรรค และประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สุดเพราะได้เลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ ไม่ถูกมัดมือชกให้เลือกกาได้เพียงใบเดียวเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 

ที่มองกันว่าพรรคใหญ่จะได้เปรียบนั้น ตนคิดว่าเร็วเกินไปหากจะสรุปเช่นนั้น เพราะต้องดูวิธีการคำนวนคะแนนเลือกตั้งจากกฎหมายลูกก่อน ซึ่งตนคิดว่าคงไม่มีพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบเพราะไม่ว่าจะคำนวนอย่างไรก็ต้องคิดจากคะแนนเสียงที่ประชาชนให้มาตอนเลือกตั้ง ดังนั้นการที่รัฐสภา พิจารณาผ่านร่างแก้ไขครั้งนี้ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด