หมอเลี๊ยบ คีย์แมนเพื่อไทย เคลียร์คดี เปิดใจกลับรั้วชินวัตร

หมอเลี๊ยบ คีย์แมนเพื่อไทย เคลียร์คดี เปิดใจกลับรั้วชินวัตร
PRACHACHAT/Illustration/Bhattarada Manee

“ผมเชื่อมั่นระบบรัฐสภา” คือเหตุผลหนึ่งในการกลับมาสู่สนามการเมือง อีกครั้ง ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคนแรก (ปัจจุบันชื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)  

มีนักการเมืองพรรคแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายตรงข้าม ถามกันมากว่า นักการเมืองรุ่นใหญ่มากประสบการณ์ ทั้งวงในไทยรักไทย-พลังประชาชน วงรอบทำเนียบรัฐบาลเพื่อไทยยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงต้องเดินทางไกลไปติดคุกเกือบปี เหตุใด ถึงหันหลับกลับไปอยู่ในร่มเงา “ชินวัตร” อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับหมอเลี๊ยบ เรื่องสถานภาพใหม่ ในพรรคเพื่อไทยใหม่ เพื่อไขหลายคำตอบ

นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ ตอบชัด ๆ เรื่อง “บ้านชินวัตร” ไว้ 2 ข้อ ว่า 1. โทษจำคุกของเขานั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเหตุจากการรับใช้ตระกูลชินวัตร แต่เป็นเพราะมีข้อกล่าวหาว่าทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ แต่เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาได้ทำไปนั้นเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ

“เพราะฉะนั้นการติดคุก ในแง่ข้อมูลพิสูจน์ว่า ไม่ได้ทำให้ชาติเสียประโยชน์ ตรงกันข้ามกลับทำให้รัฐได้เงินเพิ่ม 300 ล้าน ได้ดาวเทียมไอพีสตาร์ มาด้วย…จึงไม่ใช่เหตุเรื่องการรับใช้ตระกูลชินวัตร”

ข้อ 2. หมอเลี๊ยบเคยบอกในขณะดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ว่า เขาตั้งใจจะไม่ยุ่งกับการเมือง หลังทำงานครบ 8 ปี แล้วจะพอ ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่น และเมื่อถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็ยิ่งไม่อยากยุ่งกับการเมือง ก็กลับไปทำธุรกิจอยู่กับครอบครัว

“ถามว่าทำไมต้องกลับมา เพราะรู้สึกทนไม่ไหวกับบ้านเมืองแบบนี้ แบบที่ประชาธิปไตย ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยากจะทำให้ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทำได้หลายอย่าง เราเชื่อมั่นว่าในระบบรัฐสภา จะเป็นช่องทางในการนำบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ แต่ก็เห็นว่าควรสู้กันในรัฐสภา”

“พรรคการเมืองจึงเป็นความหวังในการต่อสู้ในระบบรัฐสภา และพรรคที่มีความหวังนั้นก็คือ เพื่อไทย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือ 1 ในแรงบันดาลใจ ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อ อนาคตใหม่ ไฉน ถึงกลับองศาคืนถิ่นเพื่อไทย

หมอเลี๊ยบ อธิบายช่วงชีวิตไว้ว่า เริ่มจากปี 2561 เขาเขียนบันทึกในเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทยถึงเวลาที่ต้องดิสรัปต์ตัวเองต้องเลือก “Disrupt or Die”

“จากนั้นปีที่แล้ว (2563) มีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค จากทีมคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นทีมที่เคยถูกมองว่าเป็นนกแลทางการเมือง มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เห็นเจตนาของพรรคที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากดิสรัปต์ตัวเอง…นี่จึงเป็นอีกต้นเหตุ ที่อยากกลับมาช่วยเพื่อไทย”

ทันทีที่เขาเดินทางคืนถิ่น-ขึ้นปรากฏตัวบนเวทีประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งที่ถูกประกาศว่า “ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย” คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง ปรากฏข้อร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการโดยศิษย์เก่าเพื่อไทย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ปักธงยุบพรรคเพื่อไทย เพราะเหตุปัจจัยมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย

หมอเลี๊ยบบอกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเหตุให้เขาต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็น “รักษาการ ผู้อำนวยการพรรค” หลังรับตำแหน่งเพียงไม่ถึง 20 วัน

หมอเลี๊ยบ ออกตัวไว้ว่า “สาเหตุที่ต้องเรียกตำแหน่งตัวเองใหม่ว่า “รักษาการ ผู้อำนวยการพรรค” เพราะเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนเก่า ดังนั้นเมื่อมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าหัวหน้าคนใหม่ จะแต่งตั้งตามที่หัวหน้าคนเก่าเสนอไว้หรือไม่”

และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หมอเลี๊ยบ บอกว่าจะไม่ล้มเลิก “ไม่เป็นผู้อำนวยการพรรค ก็ช่วยพรรคได้”

ข้อร้องเรียนใหม่ ยังไม่ถูกตั้งเป็นคดี แต่กลุ่มคดีเก่าของเขาถูกล้างไปหมดจากสารบบแล้ว  “คดีไทยคมก็จบแล้ว คดีกรรมการสรรหาบอร์ดแบงค์ชาติ ก็พิจารณาจบแล้ว รอลงอาญา”

ไม่ควรลืมว่า หลังเลือกตั้งทั่วไป 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมรัฐบาล รวม 18 พรรค

1 ในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 คือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีบารมีของ เนวิน ชิดชอบ บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ทาบเงาหัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้โควต้ารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ด้วยคอนเนกชั่นเก่าของ “แกงค์ออฟโฟร์” ยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่ประกอบด้วย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค, เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน,  ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ และ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค ในขณะนั้น

นำมาสู่ตำแหน่งใหม่ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง ในยุคประยุทธ์ 2 ของหมอเลี๊ยบ บนบทบาทที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การร้องขอ-เชิญชวนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล

“ผมไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่รับเบี้ยประชุมใด ๆ ให้คำปรึกษาตามที่นายอนุทินขอคำปรึกษา มีโอกาสได้ช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 1 ผลักดันให้มีการเปิดเมืองช่วงเดือนเมษายน 2563 และสางปัญหาในทางปฏิบัติ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ของการใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ทุกจุด”

แต่เมื่อศูนย์อำนาจการบริหารจัดการควบคุมโรค รักษาโรค ถูกย้ายจากกระทรวงสาธารณสุข ไปรวมศูนย์ที่ทำเนียบรัฐบาล ในนาม “ศบค.” หมอเลี๊ยบไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงได้ถอยตัวห่างออกมา

“ถ้ากระทรวงสาธารณสุข สู้เรื่องการคุมโรคโดยใช้หลักวิชาการ ระบาดวิทยา สธ.จะได้ผลงาน ได้เครดิตมากกว่านี้ และไม่มีการป่วยเกือบสองล้าน ตายเกือบสองหมื่น เหมือนเช่นทุกวันนี้”

กิจกรรม-การเมืองการบริหารในชีวิตประจำวันของหมอเลี๊ยบ ทุกวันนี้ เขาต้องทำงานในฐานะ “รักษาการ ผู้อำนวยการพรรค” ไปก่อน จนกว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะแต่งตั้ง

เขาเริ่มวันทำงาน ในการจัดประชุมวงปลีกย่อย-ลงรายละเอียด เตรียมวางแผน การสื่อสารต่อจากวิสัยทัศน์ เรื่องนโยบายพรรคที่ประกาศไว้เมื่อวันประชุมใหญ่ของพรรค (28 ตุลาคม 2564) เพื่อขยายผล สร้างความรับรู้ในวงกว้าง

จากนั้นลงมือประสานงานผลักดันให้เกิดการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่อง ซอฟต์พาวเวอร์ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ดำเนินการประสานกับกลุ่มแคร์ จัดรายการในคลับเฮาส์ ให้ “โทนี่-ทักษิณ ชินวัตร” ได้พูดกับมวลชน เดือนละ 2 ครั้ง และจัดการให้เกิดวาระถกแถลงในรายการ Dare to Care ทุกวันศุกร์ ทั้งสองรายการเป็นการระดมความรู้ ส่งต่อ ผลักดัน จุดประกายให้เกิดรูปธรรมในทางปฏิบัติ

คำถามใหญ่ที่ว่า เขาจะเป็นหนึ่งในคีย์แมนพรรคเพื่อไทย นำทัพ ส.ส.เข้าสู่การเลือกตั้ง และปักธงชัยชนะแบบแลนด์ไลด์ หรือแผ่นดินถล่ม ต่อมาทักษิณเรียกว่า ชนะแบบหิมะถล่ม หรือได้คะแนนมากกว่าพรรคอันดับสอง ถึงสองเท่า ซึ่งฝ่ายเพื่อไทย เคยทำได้มาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ “ทักษิณ” ลงสู่สนามการเมืองครั้งแรก สมัยเลือกตั้ง ปี 2544 และปี 2548 รวมทั้งการเลือกตั้งปี 2550 และปี 2554 ที่ได้เสียง ส.ส.เกือบกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภา

มีเพียงการเลือกตั้ง 2562 ที่ฝ่ายเพื่อไทยไม่ได้ชนะขาดลอด ได้ ส.ส.เพียง 130 ที่นั่ง ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่

หมอเลี๊ยบ กล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้เพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ ภายใต้หลักการและองค์ประกอบ 4 เสาหลัก คือ

1.รายชื่อผู้ที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำที่สามารถบริหารประเทศผ่านวิกฤต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิกฤตโรคระบาดไปได้

2.ปัจจัยเรื่องนโยบายที่มีความชัดเจน คือต้องมีนโยบายที่จะเปลี่ยนชีวิตของคน เปลี่ยนประเทศไปได้

3.ผู้สมัคร ส.ส.ที่ตั้งใจจริงในการรับฟังปัญหาชาวบ้าน เป็นสะพานเชื่อมความทุกข์ของประชาชนสู่รัฐบาลในการแก้ปัญหา

4.การสื่อสารที่ต้องเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นทักษะที่ยากมาก ต้องใช้ศิลปะขั้นสูง ปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่ และเข้าใจสื่อเก่า

หมอเลี๊ยบ ที่คลุกการเมืองมานานกว่า 4 ทศวรรษ ขยายผลองค์ประกอบข้อที่ 1 เรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่มีการเอ่ยชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ไว้ว่า “ขึ้นอยู่กับคุณเศรษฐา ว่าเขาสนใจหรือไม่ ใน 3 ชื่อที่พรรคเสนอให้ประชาชนเลือก และขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมองว่าคนไหนมีความสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้มากที่สุด…อยู่สถานการณ์ ณ วันนั้น วันที่ใกล้เลือกตั้ง”

ทั้งหมดนี้คือโปรไฟล์ใหม่-บทบาทใหม่ ในการภารกิจนำทัพเพื่อไทย ลงสู่สนามเลือกตั้ง ให้ชนะแบบแลนด์สไลด์…อีกครั้ง