ประยุทธ์ ชู ภาคใต้อันดามัน Tourism Sandbox ยกโมเดลต้นแบบระดับโลก

ประยุทธ์ เตรียมประกาศ 6 จังหวัดภาคใต้อันดามัน เป็นพื้นที่นำร่อง Tourism Sandbox เป็นโมเดลต้นแบบระดับโลก เชื่อมโยงขนส่ง-การท่องเที่ยวกับอินเดีย-ประเทศกลุ่ม BIMSTEC ติดตาม 2 โครงการ สนามบินกระบี่-ท่าเรือปากเมง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งขณะนี้ได้เดินทางไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 1/2564 ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล) ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า

พี่น้องประชาชนที่รักครับ ช่วงวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ ผมและคณะรัฐมนตรี ได้มีการตรวจราชการ ติดตามผลการดำเนินการโครงการต่างๆ และรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีการพิจารณานโยบายสำคัญเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การประกาศพื้นที่นำร่อง Tourism Sandbox ที่เราจะสร้างให้เป็นโมเดลต้นแบบระดับโลก การสร้างความเชื่อมโยงการขนส่งและการท่องเที่ยวกับอินเดียและประเทศในกลุ่ม BIMSTEC การส่งเสริมให้เป็นแหล่งเพาะปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่างๆ รวมถึงการเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของประเทศพร้อมทั้งยกระดับการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง อีกด้วย

โดยกลุ่มจังหวัดใน “กลุ่มอันดามัน” นี้ (กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล) ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด กลุ่มจังหวัดอันดามันนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวได้มากถึงปีละ 700,000 ล้านบาท มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน หาดไร่เลย์ หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง และสุสานหอย 75 ล้านปี เป็นต้น

นับว่าทุกจังหวัดในพื้นที่นี้ มีความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์ มีมนต์เสน่ห์ดึงดูด ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวหยุดชะงักทั่วโลก แต่ในวิกฤตนั้นก็มีโอกาสเสมอ โดยการโดนสถานการณ์บังคับให้ปิดสถานที่ท่องเที่ยว ในอีกทางหนึ่งก็ถือเป็นการให้เวลาธรรมชาติได้ฟื้นฟู

และให้เราได้ปรับปรุงและจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวและบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อรอรับการเปิดประเทศและการหวนกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้ง อาทิ การรักษาความสะอาด การบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอย การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย (safety) ในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เช่น อุปกรณ์การกู้ชีพ กู้ภัย ระบบการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency) เป็นต้น

ในส่วนของรัฐบาลนั้นมีนโยบายส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้หลายโครงการ โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เราจะได้ติดตามความคืบหน้า 2 โครงการสำคัญของทั้งสองจังหวัด ได้แก่

(1) การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ (ปี 2561 – 2568) เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดย เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 1,500 คน/ชั่วโมง เพิ่มเป็น 3,000 คน/ชั่วโมง หรือจาก 4 ล้านคน/ปี เป็น 8 ล้านคน/ปี ปัจจุบันลานจอดเครื่องบินสร้างเสร็จแล้ว สำหรับอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (หลังที่ 3) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และการก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2566

(2) การปรับปรุงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ที่ใช้งานมานานกว่า 20 ปี ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก มั่นคง ปลอดภัย โดยคาดว่าจะพร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยว ให้กับจังหวัดตรังและกลุ่มจังหวัดอันดามันได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยเมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถรับรองผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จาก 67,000 คน/ปี เป็น 90,000 คน/ปี

ทั้งสองโครงการนี้ เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่รัฐบาลเตรียมพร้อมสู่อนาคต และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมต่อระดับของโลก ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ “ให้เชื่อมต่อง่าย สะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา” ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลกให้ได้เร็วที่สุด

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผมได้เห็นความพร้อมและความตั้งใจของคนในพื้นที่ ในทุกๆ ด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แสดงออกถึงความตระหนัก ในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่ขาดไม่ได้ คือ Service Mind หรือ “จิตใจแห่งการให้บริการ” และความเป็นมืออาชีพจากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ คนขับรถ คนขับเรือ พนักงานในร้านอาหารและโรงแรม และทุกๆคน ที่พร้อมส่งมอบ “ยิ้มสยาม” และ “ความเป็นมิตร” จากชาวไทย ที่สร้างความประทับใจ ความทรงจำที่ไม่รู้ลืมแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก จนต้องมาเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของเรา

ผมจึงขอให้พี่น้องทุกท่าน ในทุกภูมิภาค ร่วมกันดูแลรักษา “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา ให้น่าอยู่สำหรับเราทุกคน และพร้อมรับการมาเยือนของแขกผู้มาเยือน ทั้งนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิกเอเปคที่จะมาร่วมประชุม และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราให้กลับมาคึกคัก และแข็งแรงอีกครั้งในเร็ววันนี้นะครับ