“นิพนธ์” ตอบปม ม็อบจะนะ ญาติซื้อขายที่ดิน เก็งกำไรเป็นเรื่องเอกชน

นิพนธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบปมม็อบจะนะ อ้างรัฐบาลฉีกเอ็มโอยู ชี้แจงปมญาติกว้านซื้อที่ดินขายกินกำไรส่วนต่าง

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา ซึ่งเดินทางมาชุมนุมทวงสัญญา ที่รัฐบาลเคยระบุไว้เมื่อปีที่แล้วว่า จะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะและแก้ไขผังเมืองเอาไว้ก่อน เมื่อช่วง 21.00 น.ของวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

และทวงสัญญาที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยลงนามเอ็มโอยูให้มีการศึกษาโครงการอีกครั้ง ถึงแม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ชาวจะนะอ้างว่าเอ็มโอยูดังกล่าวเป็นการลงนามของรัฐบาลไม่ใช่ตัวบุคคล จึงต้องดำเนินการต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เหมือนรัฐบาลดำเนินการแบบมั่วกันไปหมด

ครม.ไม่เห็นด้วยเนื้อหา MOU

ล่าสุด นายนิพนธ์ บุญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่วง MCOT HD ระบุว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2563 ร.อ.ธรรมนัสได้เซ็นเอ็มโอยูกับม็อบจะนะ และในวันต่อมาได้นำเอ็มโอยูดังกล่าวเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี

นายนิพนธ์กล่าวว่า วันนั้น ร.อ.ธรรมนัสได้เจรจากับกลุ่มจะนะ และได้ทำการลงบันทึก แต่มีหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาที่บันทึก และนำมารายงานใน ครม. ซึ่ง ครม.รับทราบในข้อตกลง แต่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาเอ็มโอยู

ซึ่งประเด็นที่ไม่เห็นด้วยในเอ็มโอยู นายนิพนธ์กล่าวว่า จำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ แต่รู้สึกว่าเป็นเรื่องการยกเลิกโครงการ เพราะฉะนั้นมติ ครม.เห็นชอบมา 2-3 รอบแล้ว ถ้าจู่ ๆ ยกเลิกเลยก็กะไรอยู่ ดังนั้นจึงไม่ยอมรับเอ็มโอยู นายนิพนธ์กล่าวว่า สาระสำคัญคือเรื่องอะไรที่ยังไม่ถูกต้องตามกฏหมายก็ให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง อะไรที่เป็นข้อกังวลว่าไม่ถูกต้องตามขั้นตอนก็ให้ไปดำเนินการตามขั้นตอน

เมื่อพิธีกรถามถึง ครม.ให้แนวทางปฏิบัติต่อไปกับชาวจะนะอย่างไรบ้าง นายนิพนธ์เผยว่า เป็นที่มาที่ตั้ง ร.อ.ธรรมนัสไปดูว่าอะไรที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ให้ดำเนินให้ถูกต้อง จนล่าสุดได้มีการไปร้องเรียนกับกรรมการสิทธิ ในที่สุดกรรมการสิทธิก็มีหนังสือแจ้งมากับ ครม.ว่า การดำเนินการโครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มีหนังสือออกมาเช่นกันภายหลังจากการร้องเรียนไปที่หน่วยงาน

ในขณะที่คณะกรรมการชุดของ ร.อ.ธรรมนัสตั้งโดยคำสั่งนายกฯ เมื่อ 27 มกราคม 2564 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของภาครัฐทั้งหมด ได้มีการนำบทสรุปกลับมานำเรียน ครม.หรือไม่ว่าสรุปอย่างไร นายนิพนธ์เผยว่าไม่ทราบจริง ๆ เพราะยังไม่มีข้อสรุปมารายงานกับ ครม.เลย

เมื่อถามถึงในทางรัฐศาสตร์ การบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้คน ต้องมีการพูดคุยกัน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีการพูดคุยกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง

นายนิพนธ์เผยว่า ผมเข้าใจว่าเจ้าของโครงการนี้คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผมเข้าใจว่าเท่าที่รายงาน ศอ.บต.ก็มีการทำงานอยู่ในพื้นที่ ชี้แจงโครงการอยู่ในพื้นที่ และเท่าที่ทราบตัวแทนของบริษัทก็ลงไปอยู่ในพื้นที่เพื่อทำการชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนในสามตำบลนั้น ผมเองก็ไม่ได้เข้าไปเยอะเพราะถือว่าให้เจ้าหน้าที่ทำ แต่ผมมีบ้านเกิดที่นั่น เลยพอรู้จักว่าพอเป็นยังไง

“แต่ผมเห็นด้วยกับคุณดนัย (พิธีกร) เรื่องทำนองนี้เนี่ย ต้องพูดคุยกัน แต่ว่าผมเข้าใจ ศอ.บต.ได้ว่า เรื่องโครงการนี้เป็นขบวนการหนึ่งที่ต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในจังหวัดชายแดนใต้ เราใช้เงินตั้งแต่ปี 2547-2563 ไป 3 แสนกว่าล้าน สำหรับลงโครงการพื้นที่สามจังหวัด”

“เพราะฉะนั้น การที่จะให้มีภาคเอกชนมาสร้างงานให้คนในพื้นที่ ผมเห็นด้วยกับโครงการนี้ในประเด็นนี้เพื่อจะแก้ปัญหาการว่างงานให้ได้ เพราะว่าปัญหาเรื่องการศึกษา เรื่องความมั่นคง ความไม่เป็นธรรม ได้ถูกแก้ไประยะหนึ่งแล้ว” นายนิพนธ์กล่าวเพิ่มเติม

บริษัทเอกชนทำประชาพิจารณ์

เมื่อกล่าวถึงกรณีที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก และกระเบื้องคอนกรีต ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กำลังตั้งโต๊ะเปิดประชุมทำประชาพิจารณ์ตามกระบวนการ การที่เอกชนทำประชาพิจารณ์ แสดงว่าต้องมีความมั่นใจว่าภาครัฐอนุมัติแล้ว ใช่หรือไม่

นายนิพนธ์กล่าวว่า ท่านนายกฯก็เห็นโครงการไม่ใช่แค่เฉพาะที่จะนะ แต่รวมถึง 4 เมืองหลัง อย่างปัตตานี ยะลา นราธิวาส และเรามีเขตอุตสาหกรรมเช่นนี้หลายที่ สงขลาก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นพื้นที่ไหนที่รัฐบาลเห็นว่าส่งเสริมให้เอกชนไปลงทุนได้ ให้เกิดมีการจ้างงาน เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้คนมีงานทำ

ตอนนี้ใน 4 จังหวัด เรามีมหาวิทยาลัยทุกจังหวัด เราผลิตบัณฑิตมา 2-3 หมื่นคนต่อปี แต่ว่าคนเหล่านี้ไม่มีงานทำ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่ ลงทุนโดยให้สิทธิพิเศษมายาวนานแล้ว แต่ไม่มีคนกล้าไปลงทุน เพราะกลัวระเบิด การที่นักธุรกิจต้องกล้าไปลงทุนกลางดงระเบิดและเสียงปืน เราจึงคิดว่าอะไรที่สนับสนุนได้ก็ต้องสนับสนุน

ญาติซื้อที่ดิน ขายต่อเจ้าสัว

เมื่อพิธีกรถามว่า จริงหรือไม่ที่ญาติพี่น้องของนายนิพนธ์ไปกว้านซื้อที่ดินจะนะ และนำไปขายต่อกับเจ้าสัวประชัย ได้กำไรเป็นร้อยล้านบาท นายนิพนธ์ชี้แจงว่า นายนิพนธ์กับครอบครัวเป็นผู้แทนจำหน่ายปูนซีเมนต์มา 30 ปี จึงรู้จักนายประชัย เพราะเคยเป็น ส.ว.ภายหลังนายประชัยปรึกษาตนว่า ไปลงทุนภาคใต้ได้ไหม นายนิพนธ์ตอบว่า ไม่มีอะไร เพราะตนทำโรงงานอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นผมจึงตอบตกลง ถ้านายประชัยต้องการที่ดิน เพราะใคร ๆ ก็นำไปขายกันเยอะ

“เวลาที่นักธุรกิจเขาไปสร้างที่ดิน เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องการซื้อที่ดินมาขายรัฐ เป็นเรื่องค้าขายกันระหว่างเอกชน แต่ว่าใครไปซื้อมาเกิดโครงการไม่เกิด ก็รับผิดชอบกันเอง”

นายนิพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวของตนซื้อที่ดินไปขายต่อนายประชัยจริง และตนเป็นคนที่นั่น ที่ดินเดิมก็มีอยู่แล้วจึงนำไปขายจริง เพราะเวลาซื้อ ซื้อกันเป็นหมื่นไร่ ใครพอใจขายก็ขายในราคาที่ตกลงได้ เมื่อก่อนราคาไร่ละ 8-1.2 แสนบาท ขึ้นมาเป็น 3-4 แสนบาท

เมื่อถามถึงข่าวลือกำไรที่ได้จากการขายที่ถึง 2 ร้อยล้านบาท นายนิพนธ์เผยว่า ไม่ทราบจริง ๆ ว่าใครได้เท่าไหร่ เพราะตนไม่ได้ซื้อขาย แต่เท่าที่รู้จักคนซื้อขายบางคนได้มากกว่านั้น ซึ่งมีหลายคนที่มีที่ดินไว้ขายให้กับบริษัทเอกชน