เกมซ้อน คสช.ในกติกาเลือกตั้ง อุ้มพรรคทหาร สกัดพรรคใหญ่-เล็ก

ถึงคิวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับสำคัญทางการเมือง

หนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

อีกหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็น “กติกา” ใช้ “กำกับ” การเลือกตั้งในอนาคต เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบให้ พ.ร.ป.ดังกล่าวเป็น “ส่วนขยาย” ของกติกาเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้อยู่แล้วว่า ระบบเลือกตั้งให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.บัญญัติ แตกต่างพิสดารไปกว่ากฎหมายเลือกตั้งฉบับต่าง ๆ

สูตรคิดคะแนนสุดซับซ้อน

การคิดคะแนน ส.ส. 350 คน ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 129 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เขียนไว้ว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนกาบัตรเลือก ส.ส.เขต เพียงใบเดียว โดยคะแนนนั้นจะถูกนำไปคิดหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรธ.ได้ยกตัวอย่างการนับคะแนนดังนี้

1.หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก ส.ส.ทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดคือ 500 คน เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกัน 29.5 ล้านเสียง เมื่อนำไปหารจำนวน ส.ส. 500 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทุก 59,000 เสียง พรรคนั้นจะมี ส.ส. 1 คน

2.การหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้ ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1 ไปหารด้วยคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ได้รับจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น พรรค ก. มีคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ 13.1 ล้านเสียง เมื่อหารกับ 59,000 เสียง จะได้ผลลัพธ์ 222.03 ดังนั้นจำนวนที่พรรค ก. พึงมี ส.ส. คือ 222 คน

สำหรับเศษทศนิยมของแต่ละพรรคที่เหลือ ให้เก็บไว้คิดหาเศษที่เหลือของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส. เช่น เศษที่เหลือของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี มี 7 คน ก็ให้กระจายจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส. ไปอีกพรรคละ 1 คน ให้สำหรับพรรคที่มีเศษทศนิยมสูงสุด 7 ลำดับแรก

3.การหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรได้ ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือก เช่น พรรค ก. ควรได้ ส.ส. 222 คน แต่ปรากฏว่า พรรค ก. ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตไปแล้ว 187 คน ยังขาดอีก 35 คน จะทำให้พรรค ก. ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มไป 35 คน แต่ถ้าพรรคไหนได้ ส.ส.เขตครบตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่ได้รับ ส.ส.เพิ่มอีก

หมายเลขผู้สมัครทำคนสับสน

นอกจากนี้ยังมี กรณีที่หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ในระบบเขตจะไม่ตรงกัน เขตใครเขตมัน 350 เขต มี 350 หมายเลข ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เลือกตั้งคราวนี้คงสับสนอลหม่าน ข้ามเขตเบอร์พรรคก็เปลี่ยนไป ให้จดจำหน้าผู้สมัครแทนหัวหน้าพรรคการเมือง เวลาหาเสียงทางทีวี คงบอกได้แค่ชื่อพรรค ไม่สามารถบอกว่าให้เลือกเบอร์ใดได้ บัตรเลือกตั้งหากมีชื่อพรรคอยู่ในบัตร ต้องพิมพ์แตกต่างกัน 350 แบบ การรักษาความปลอดภัยในการจัดพิมพ์บัตรทำได้ยากขึ้น โอกาสปลอมบัตรมีมากขึ้น การนับคะแนนที่หน่วยคงไม่มีปัญหา แต่การรวมคะแนนพรรคการเมืองทั้งประเทศด้วยเบอร์ที่แตกต่างกันของแต่ละพรรคใน แต่ละเขตคงวุ่นวาย ใช้เวลามากขึ้นหลายเท่า และมีโอกาสผิดพลาดในการประกาศผล การติดตามตรวจสอบจากพรรคการเมือง และองค์กรเอกชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งทำได้ยากยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากยังเขียนกำหนดให้เป็นดังว่านี้ กกต.สามารถดำเนินการได้ ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ”

เปิดช่องพรรคกลางโกยแต้ม

จึงทำให้พรรคใหญ่ที่วัดชัยชนะด้วยสนามเลือกตั้ง ส.ส.เขตต้องกุมขมับ เพราะกติกาที่สุดหิน และชวนสับสน เปิดช่องให้พรรคขนาดกลาง ที่แม้จะแพ้ในระบบเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าสามารถโกยแต้มในเขตเลือกตั้งได้มาก ก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปเติมมากขึ้นด้วย

ท่ามกลางกระแสข่าวการจับมือระหว่าง 2 ขั้วอำนาจตรงข้ามการเมือง พรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย ที่แม้สามารถเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก ยังคงต้องดูกันอีกยาว

แต่สำหรับพรรค ขนาดกลางอย่าง ภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ชาติไทยพัฒนา ของตระกูลศิลปอาชา และชาติพัฒนา ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”

เป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ต่างได้เปรียบจากกติกาเลือกตั้งไปเต็ม ๆ จึงเห็นท่าทีของ “อนุทิน” ที่ประกาศว่า “เลือกตั้งพรุ่งนี้ก็พร้อม”

จึงเห็นท่าทีของลูกทีมพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย “วราวุธ ศิลปอาชา” ต้อนรับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ในการจัดคณะรัฐมนตรีสัญจร ยอวาทีให้อยู่ต่อ 8-10 ปี

จึงเห็นท่าทีของ “สุวัจน์” ชงไอเดียปฏิรูปการเมือง 6 ข้อ 1 ในนั้นคือ ส่งเสริมบทบาทของพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง โดยพรรคการเมืองอนาคตควรเป็นพรรคขนาดกลางที่เหมาะสมกับโครงสร้างทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ เพื่อทำให้การเมืองไม่เกิดเดดล็อก

ส่วนพรรคเล็ก-พรรคตัวประกอบ กลายเป็นว่า ถูก “จำกัด” บทบาท โดย พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ประกาศใช้ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เพราะหนึ่ง ภาระที่พรรคเล็กจะต้องแบกรับ ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคคนละ 100 บาทใน 180 วัน ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน ชำระค่าบำรุงพรรคคนละ 100 บาท ใน 1 ปี จัดตั้งสาขาพรรค-ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบตามกำหนด ภายใน 180 วัน

สอง ตามมาตรา 47 กำหนดว่า ถ้าพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งไหน จะต้องมีสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น และการส่งผู้สมัคร ส.ส.จะต้องได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เรียกว่าการทำ “ไพรมารี่โหวต”

สี่หากพรรคเล็กส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตน้อย โอกาสที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ย่อมน้อยตามไปด้วย เพราะคะแนนเขต ต้องนำมาหารเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เปิดช่องพรรคทหาร

แหล่งข่าวระดับสูงจาก กกต.วิเคราะห์ว่า แม้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้พรรคใหญ่อ่อนกำลังลง จากกติกาต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อนำมาประกบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง จะพบว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็จะเป็นเครื่องคัดกรองพรรคเล็กให้ไม่มีที่ยืนใน สนามเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ดังนั้นจึงประเมินได้ว่า ระบบกติกาพรรคใหญ่จะได้เปรียบ และที่ได้เปรียบกว่า คือ พรรคขนาดกลาง

ในช่วงเวลาที่ คสช.เตรียมวางกลไกท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นเกือบ 8,000 แห่ง เหมาะเจาะกับข่าวการตั้งพรรคทหาร โดยมีนักการเมืองระดับรองนายกฯ เดินเกมประสานกับนายทุนกลุ่มก๊วนต่าง ๆ พร้อมด้วยรัฐธรรมนูญทำลายพรรคขนาดใหญ่ กีดกันพรรคขนาดเล็ก เอื้อให้พรรคขนาดกลางได้เปรียบจากเกมเลือกตั้ง และเปิดโอกาสนายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. โดยมี ส.ว.ที่ตั้งโดย คสช.ร่วมโหวตด้วย

ทั้งหมดจึงขมวดปมมาที่การตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าจะเล่นการเมืองต่อหลังการเลือกตั้งหรือไม่