ประยุทธ์ปิดแผลพรรคร่วม 7 จุด ทัวร์หาเสียงทั่วประเทศ ชิงผ่าน กม.เลือกตั้ง

รายงานพิเศษ

ย่างเข้าสู่ปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เส้นทางคู่ขนาน-ระหว่างทางตะลอนทัวร์พบปะแฟนคลับ เป็นหมุดหมายทางการเมืองก่อนยูเทิร์นเข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นสมัยที่สาม

อยู่ทำเนียบสลับกับลงพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นสัญญาณของการเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่จะ “ยุบสภา” หรือ “ครบวาระ” ยังต้องประเมินกันรายเดือน-ราย 6 เดือน

ลงพื้นที่ 14 ครั้ง 16 จังหวัด

นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย-วัคซีนเต็มแขน “พล.อ.ประยุทธ์กับคณะ” ปฏิบัติการเดินสาย-ลงพื้นที่ต่างจังหวัดถี่ยิบ 14 ครั้ง 16 จังหวัด ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน

มีอีก 6 จังหวัด ที่อาจจะไปในอนาคต เช่น มหาสารคาม พัทลุง อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครนายก และพังงา

ครั้งแรก-12 กันยายน 2564 จังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่สอง ชัยนาท ครั้งที่สาม ชลบุรี

Advertisment

ครั้งที่สี่ เพชรบุรี ครั้งที่ห้า สุโขทัย ครั้งที่หก ชัยภูมิ ครั้งที่เจ็ด นนทบุรี ครั้งที่แปด นครศรีธรรมราช ครั้งที่เก้า อุบลราชธานี ครั้งที่สิบ สิงห์บุรี

ครั้งที่สิบเอ็ด เป็นการประชุม “ครม.สัญจร” ครั้งแรกของปี 2564 จังหวัดกระบี่-จังหวัดตรัง ครั้งที่สิบสอง อุดรธานี ครั้งที่สิบสาม สุพรรณบุรี ครั้งที่สิบสี่-ครั้งล่าสุด 15 ธันวาคม 2564 ยะลา-ปัตตานี

กับระเบิดอุบัติเหตุยุบสภา

ระหว่างทางลงพื้นที่ของพี่-น้อง 3 ป. ที่มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐล้อมหน้า-ล้อมหลัง ต้องหลบ-เลี่ยง ไม่ให้เดินไปเหยียบ “กับระเบิด” ที่วางอยู่ตามเส้นทางอำนาจจนนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมือง

โดยเฉพาะ “ระเบิดเวลา” วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม 2565 หากนับวันที่นั่งเก้าอี้นายกฯวันแรกในปี 2557 ยังต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

Advertisment

8 เดือนนับจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ยังไม่รู้อนาคตทางเมืองจะออกหัว-ออกก้อย

ล่าสุดความเคลือบแคลงสงสัย-ไม่ชอบมาพากลในพฤติกรรมของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม-คีย์แมนกลุ่มสามมิตรของพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งลูกจัดชั้นนักโทษชั้นดี-เลวในคดีทุจริต โดยมี “เข็มชัย ชุติวงศ์” อดีตอัยการสูงสุด นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการและจัดชั้นนักโทษในการขอพระราชทานอภัยโทษ

หลังจาก “บุญทรง เตริยาภิรมย์กับพวก” อดีต รมว.พาณิชย์ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว อยู่ในเกณฑ์ลดโทษจาก 48 ปี เหลือ 10 ปี ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ

นอกจากนี้ยังมี “สะเก็ดระเบิด” ที่รอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ดึงฟืนออกจากไฟ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา

แม้กลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ที่ล้อมอยู่รอบทำเนียบรัฐบาลจะกลับที่ตั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์สั่งเบรก โดยให้ “สภาพัฒน์” รับหน้าเสื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA ซึ่งมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน รับ “เผือกร้อน”

รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่จะตามมาหลังโควิด-19 เช่น ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งในระบบ-นอกระบบที่ “ตกสะเก็ด” มาจากวิกฤตโควิด-19

กฎหมายเลือกตั้ง-จบเอเปก ปี’65

เส้นตายของการยุบสภา-ครบวาระ จึงต้องรอไทม์ไลน์กฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ซีกฝั่งรัฐบาล ร่าง “กฎหมายลูก” ทั้ง “ 2 ฉบับ” จะมีการหารือกันเพื่อตกผลึก-ชิงความได้เปรียบ เช่น วิธีการนับคะแนน การทำไพรมารี่โหวต ในวันที่ 20 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี “นั่งหัวโต๊ะ”

หลังจากนั้น “ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล” จะยื่นถึงมือรัฐสภาในวันที่ 23 ธันวาคม ขณะที่ “ฉบับรัฐบาล” โดย กกต.จะเข้าสภาภายในเดือนมกราคม 2565

“วิษณุ-เนติบริกร” ดีดลูกคิด-กางไทม์ไลน์กฎหมายลูกแบบเผื่อเหลือ-เผื่อขาดไว้ว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม 2565

ครึ่งปีหน้าจึงเป็นปีแห่งการยกร่างกติกาการเลือกตั้ง คู่ขนานไปกับการทิ้งทวนผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการเป็น “เจ้าภาพ” จัดงานเอเปก ตลอดทั้งปี’65

สามัคคีพรรคร่วมรัฐบาล

ปัจจัยอยู่ครบวาระ ปี’66 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงอยู่ที่ความสามัคคีภายในพรรคพลังประชารัฐ และระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้ “คลื่นลมสงบ” หลังจาก “วัดกำลัง” กันหนักข้อก่อนหน้านี้ ระหว่างก๊กของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กับก๊กของ 6 รัฐมนตรีตึกไทยคู่ฟ้า

ท่ามกลาง “สงครามข่าวลือ” ที่ปล่อยออกมาสร้างข่าวเท็จ-ปั้นข่าวโคมลอยใส่กัน

ขณะที่ความระหองระแหง-แตกคอของพรรคร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยที่ผ่านมามีมาโดยตลอด แต่ไม่ถึงขั้น “แตกหัก” โดยเฉพาะระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

1.ยึด 4 กรมเกรดเอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.เซ็นคำสั่ง “แบ่งงาน” รัฐมนตรีใหม่

3.ส่ง “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” ลงเลือกตั้งซ่อม จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 3

4.“ยึดอำนาจ” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “นั่งหัวโต๊ะ” คณะกรรมการประมงแห่งชาติ

5.พล.อ.ประวิตรนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ชิงเหลี่ยมหาเสียงดันราคาปาล์มกิโลละ 4 บาท

6.“ไม่ร่วมลงชื่อ” ในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปัตย์

7.กดดันประชาธิปัตย์ไม่ให้ลงมติเห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 รวมถึงญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต

ในวันที่ 21 ธันวาคมจะเป็นอีก 1 ร่องรอยตอกย้ำความไม่ลงรอย พรรคพลังประชารัฐจะได้ข้อสรุปว่าจะส่งเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดสงขลา เขต 6 และเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

แม้ความขัดแย้งเฉพาะหน้าจะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลพรรคร่วม แต่ตราบใดที่ความมั่นคง-มั่งคั่ง ของพรรคการเมืองยังคงยั่งยืน โอกาสอยู่จนครบวาระ-ปิดประตูยุบสภาเป็นไปได้มากที่สุด