ประชาธิปัตย์ ระดมทุน 210 ล้าน ก่อนยุบสภา สะสมท่อน้ำเลี้ยงสู้ศึกผู้ว่าฯ กทม.

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

การจัดงาน “ดินเนอร์ทอล์ก” เพื่อ “ระดมทุน” ของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้ชื่องาน “Go Together, Go further” ที่โรงแรมเซ็นทรัล ลาดพร้าว BBC Hall แกรนด์ บอลรูม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 คึกคักในหมู่มิตร “จุรินทร์-เฉลิมชัย”

ปชป.เปิดโต๊ะ-อาหารค่ำรสเลิศ จำนวน 120 โต๊ะ โต๊ะละ 2 ล้านบาท เว้นระยะห่างโต๊ะละ 5 คน ขายออก 104 โต๊ะ ระดมทุนได้ราว 210 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะได้ประมาณ 160-180 ล้านบาท

สำหรับ “เมนูอาหาร” พร้อมเสิร์ฟ ระดับ 5 ดาว อาทิ ปูอลาสก้าและไข่ต้มในน้ำพร้อมซอสผงกะหรี่ ไข่ปลาคาเวียร์ ซุปอาหารทะเลบุยยาเบสกับขนมปังกระเทียม ปลาหิมะอบซอสครีมมะนาวเนยสด

“วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่พรรคได้จัดกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินไปข้างหน้ากับพรรค ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่พี่น้องคนไทยทุกคนมีโอกาสเข้ามาเป็นเจ้าของ การจัดงานในครั้งนี้เป็นงานของพวกเราทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของงานไปพร้อมกับพรรค โดยบรรยากาศเหมือนเป็นครอบครัว มีความเป็นกันเอง พูดคุยกันฉันท์ญาติมิตร จึงขอให้ถือว่าเป็นการพบปะของคนในครอบครัว”

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

“งานนี้จะเป็นจุดที่พรรคประชาธิปัตย์จะเดินไปหาหลังจากนี้ ซึ่งพรรคได้ก่อตั้งมา 76 ปี อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ยืนอยู่ด้วยหลักการและอุดมการณ์ที่มั่นคง ผ่านประสบการณ์มาหลายอย่างจนมาถึงวันนี้ และพิสูจน์ได้ว่า เราคือหนึ่งในสถาบันทางการเมือง ที่ยืนอยู่โดยเคารพระเบียบข้อบังคับ และกฎหมาย จึงสามารถยืนอยู่เพียงพรรคเดียวที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน-กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน

ทว่า กลับมีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.หลายคนหลังงานที่ “ประหลาดใจ” เหตุใด “ผู้บริหารพรรค” จึงไม่แจ้งให้ ส.ส.บางคนทราบว่าจะมีการจัดงานดินเนอร์ทอล์กเพื่อระดมทุนเข้าพรรค

โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มอภิสิทธิ์ และ ส.ส.ภาคใต้บางคน ที่ตั้งคำถามในเรื่องความสมานสามัคคีภายในพรรค ตามธรรมเนียมทุกกิจกรรม-งานใหญ่ลักษณะเช่นนี้ จะต้องส่ง “จดหมายเชิญ” อย่างเป็นทางการส่งมาที่บ้าน แต่ครั้งนี้กลับเป็นเพียง “จดหมายผิดซอง”

“กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นการจัดงานระดมทุน และเป็นการทำโดยเปิดเผย และถูกต้องตามกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยทำอะไรใต้ดิน วันนี้ที่เชิญผู้มีเกียรติทุกท่านมา ก็เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เป็นการขับเคลื่อนบนดิน ไม่ใช่ใต้ดิน และทุนที่ได้ในวันนี้จะนำไปทำกิจกรรมของพรรค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดเผยต่อสาธารณชน และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวเลือก และเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชน ขอยืนยันว่าทุนที่ได้ในครั้งนี้จะใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด โปร่งใสที่สุด เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นของคนทุกคน” เสี่ยต่อ-แม่บ้านพรรคกล่าวก่อนเริ่มงาน

สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 5 รายได้ของพรรคการเมือง มาตรา 64 ระบุว่า การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผยและแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน

“ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนและที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กิจกรรมดังกล่าวสิ้นสุด” มาตรา 64 วรรคสอง ระบุ

มาตรา 64 วรรคสาม ระบุว่า ประกาศและหนังสือแจ้งตามวรรคสอง ให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าหนึ่งแสนบาทขึ้นมาด้วย

ขณะที่มาตรา 65 ระบุว่า ทุกเดือน ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าพันบาท ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าของสิ่งที่ได้รับบริจาคให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดให้แก้พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกิดปีละห้าล้านบาทต้องแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว ทั้งนี้ พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินไม่ได้

มาตรา 67 ระบุว่า หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จ หรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ กิจกรรมหมายรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเอง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย

มาตรา 68 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 65 และมาตรา 67 นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้บังคับแล้วจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่ารวมกันแล้วเกินหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรราทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น หรือของพรรคการเมือง หรือ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับบริจาค

ขณะที่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ส่วนที่ 2 การจัดกิจกรรมระดมทุน ข้อที่ 38 การจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผยและแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน

ข้อ 40 ระบุว่า ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จัดกิจกรรมระดมทุนสิ้นสุดลง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมระดมทุน และจำนวนเงินที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมระดมทุน และให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป พร้อมทั้งแจ้งให้นายทะเบียนทราบด้วย

ข้อ 43 ระบุว่า การจัดกิจกรรมระดมทุนต้องไม่กระทำในช่วงเก้าสิบวันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร

และต้องไม่กระทำในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่น นอกจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร

การขยับตัว-จัดโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการชิงจังหวะ-ตัดหน้า ก่อนครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรถึง 7-8 เดือน แต่ที่สำคัญ เป็นการเตรียมพร้อมสรรพกำลังทุน หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความ “เขี้ยวลากดิน” ของพรรคเก่าแก่ 76 ปี

หลังจาก “นายทุนพรรค” เลือดไหลออกจากประชาธิปัตย์ไปหลายคน มิหนำซ้ำยังไปเสริมกำลังให้กับ “พรรคการเมืองคู่แข่ง” เช่น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์-เขยในครือดุสิตธานี ที่ย้ายบ้านไปอยู่ตึกไทยคู่ฟ้า-ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และจ่อที่จะขึ้นแท่นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ “คนแรก”

รวมถึง “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้กลายเป็น “นายทุนคนใหม่” ให้กับ พล.อ.ประวิตร ทำศึกชิงเก้าอี้ ส.ก. 50 เขต

“เสี่ยโต” แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 3,593,168,031 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,544,368,296 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 2,048,799,735 บาท

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า “เสี่ยโต” ยังมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ 1.ประธานกรรมการ/ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ลักษณะธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง/พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 375,896,456 หุ้น คิดเป็น 17.31%

และ 2.ประธานกรรมการ/ประธานกรรมการบริหาร (รักษาการ) บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) ลักษณะธุรกิจ เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 276,472,784 หุ้น คิดเป็น 23.14%

ขณะที่ข้อ 49 ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศบัญชีรายชื่อผู้บริจาค จำนวนเงิน รายการทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับบริจาคที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าห้าพันบาท พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาคเพื่อให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกสิ้นเดือนแล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศ

ข้อ 50 ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคกรเมืองต่อปีไม่ได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไป หลังจากบริจาคแล้ว

“สำหรับผู้ที่ซื้อโต๊ะ หรือซื้อบัตรที่นั่งในงานดังกล่าวเป็นบุคคลทั่วไปมาช่วยกัน ไม่ได้มีคนที่เป็นนายทุนรายใหญ่เข้ามาทุ่มเงินซื้อ” นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคกล่าวก่อนงานดินเนอร์ทอล์กจะเริ่มฉายแสง-สี-เสียงอีกไม่กี่นาที

จากคำกล่าวของนายนิพนธ์ ถือเป็น “ข้อดี” เพราะนอกจากจะทำให้ประชาธิปัตย์ ไม่มีภาพของ “นายทุนรายใหญ่” เข้ามาเป็น “เจ้าของพรรคแล้ว” บริษัทเอกชนที่บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง “เกินปีละ 5 ล้านบาท” กฎหมายไม่กำหนดให้ไม่ต้องแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับทราบ

การระดมทุนของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ หมายมั่นปั้นมือว่า หากมีการเลือกตั้งไม่ว่าเร็ว-ช้า ประชาธิปัตย์ พร้อมทุกสรรพกำลังทุน

“พรรคการเมืองคือกลไกทางการเมืองสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จให้กับประเทศ และประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่งในจำนวนนั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์ต่างจากหลายพรรคการเมือง ที่ก่อตั้งในปี 2489 อยู่ยั้งยืนยงมาถึงวันนี้ 76 ปี และจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 77 เป็นพรรคการเมืองที่มีอดีต ปัจจุบันและจะมีอนาคตต่อไป

เพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น ทั้งรุ่นอาวุโส รุ่นกลาง และมีคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเลือดใหม่ที่เดินเข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรค ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในนามประชาธิปัตย์มีคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อยกว่า 30-40% และเป็นผู้ที่มีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนประชาธิปัตย์ต่อไปได้

“ประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น และไม่ได้มีอดีตกับปัจจุบัน แต่จะมีอนาคตต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย เราได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนมาแล้ว แม้แต่วิสัยทัศน์มีความคิดความอ่านในการที่จะพาประเทศไปข้างหน้า เราคิดทุกวันแล้วเราก็ทำทุกวันเมื่อเรามีโอกาส เพราะการบ้านประเทศคือการบ้านประชาธิปัตย์ ขอให้มั่นใจว่าการสนับสนุนของทุกท่านครั้งนี้ท่านได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืนที่สุดและดีที่สุดพรรคหนึ่งของประเทศ” จุรินทร์ตบท้าย

เป็นการระดมทุนเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร-การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว จนตั้งตัวไม่ทัน