ขังวังหลวง จำสนม และคุกผู้ดี บทลงโทษ “คนหลวง” ในรัชกาลที่ 6

ประวัติศาสตร์ พระราชนิยม และราชสำนักยุคใหม่ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นยุคที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งจากตะวันตกและตะวันออก มีทั้งการปรับปรุงการบริหารหมวด “มหาดเล็ก” หรือ “คนหลวง” ที่ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสำนัก ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน

ข้าราชพริพารในราชสำนัก สมัยรัชกาลที่ 6 ประกอบไปด้วย มหาดเล็ก, มหาดเล็กรับใช้, คนหลวง, กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร., กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ เป็นต้น

หากเหล่าข้าราชบริพารในราชสำนัก ผู้ที่ปฏิบัติตนไม่ต้องด้วยพระราชนิยม เช่น ประพฤติตนเป็นนักเลงผู้หญิง หรือเสพสุรา มักได้รับพระราชอาญาหนักเบาต่างกันไปตามโทษานุโทษ เช่น ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ยังคงให้อยู่ในตำแหน่งราชการบ้าง ให้ออกไปบ้าง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เมื่อสำนึกผิดและถวายสัตย์ปฏิญาณ จะไม่กระทำผิดอีก ก็มักได้รับพระมหากรุณาให้กลับเข้ารับราชการได้อีกครั้ง

แต่หากยังขืนกระทำผิดซ้ำอีก ก็อาจจะโปรดเกล้าฯ ให้ขับออกจากพระราชสำนัก ส่วนผู้ที่กระทำผิดอาญาบ้านเมือง นอกจากจะโปรดเกล้าฯให้ส่งตัวไปดำเนินคดีในศาลแล้ว ยังจะต้องพระราชอาญาขับพ้นจากราชสำนัก พร้อมกับถอดจากยศบรรดาศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์และของพระราชทานทั้งปวงด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

กรณีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี หรือ หรือท่านหญิงขาว พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ ได้รับการสถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งเป็นพระคู่หมั้นพระองค์แรกในรัชกาลที่ 6 แต่ในเวลา 8 เดือน ทรงยกเลิกการหมั้น

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ในหนังสือ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้ตอนหนึ่งว่า…

“วันหนึ่งเสด็จไปเสวยค่ำกับพระเจ้าอยู่หัวที่สนามจันทร์…พระองค์ลักษมีวัณ (พระขนิษฐาต่างพระชนนีกับพระองค์เจ้าวัลภาเทวี) เกิดอยากเล่นบิลเลียดขึ้นมาบ้าง, แต่-แทงไม่เป็น, ต้องเรียกหาคนช่วยสอน! จนลงท้ายก็เป็นในหลวงทรงสอน…ด้วยเหตุนี้-พระองค์วัลภาฯ ก็ทูลกลับ. ในหลวงทรงตามออกมาส่งดังเช่นเคย ครั้นจะขึ้นรถพระองค์วัลภาฯ ก็เมินหน้าไม่ยอม Good Night ตอบพระเจ้าอยู่หัวต่อหน้าคน! …”

หลังจากที่ทรงเลิกการหมั้น และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับในพระราชฐานชั้นใน เสมือนเป็นการจำกัดพื้นที่เสด็จ มิใช่เป็นการลงพระราชอาญาตามความหมายของการ “ขังวังหลวง” และไม่ใช่เป็นการ “จำสนม”

ทั้งนี้ ราชสำนักในยุครัชกาลที่ 6 มีบทลงโทษอีก 2 คำ คือ “จำสนม” และ “ติดสนม”

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) หรือพระยาประสิทธิ์ศุภการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำอธิบายคำว่า “จำสนม” ไว้ว่า “ถูกกักบริเวณในเขตพระราชฐานโดยอยู่ในความดูแลของพวกสนม ซึ่งคำว่า “สนม” ในที่นี้หมายถึง “เขตพระราชฐาน” จำสนมจึงหมายถึงการกักบริเวณผู้มีฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะฝ่ายหน้า ที่ต้องคำพิพากษาศาลรับสั่งกระทรวงวัง หรือต้องพระราชอาญาให้จำขังไว้ในเขตพระราชฐานฝ่ายหน้า”

ส่วนพระราชวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน “ที่มีความผิดโดยตัดสินของอธิบดีโขลน หรือมีพระบรมราชโองการ หรือมีพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระบรมราชินี สั่งลงโทษให้กักบริเวณ ถ้าโทษเบาก็ต้องกักไว้ที่ศาลาว่าการกรมโขลน” ผู้ต้องโทษนี้ ชาวโขลนเรียกว่า “ติดสนม”

ในปัจจุบันกรมสนมพลเรือนมีฐานะเป็น “แผนกสนมพลเรือน” สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มีเจ้าพนักงานสนมพลเรือนปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับพิธีศพ ทำสุกำศพ หรือการเอาผ้าขาวห่อศพและใช้ด้ายดิบมัดตราสัง แล้วบรรจุศพลงโกศกับหีบศพ ซึ่งมีกระฟางปูรองรับ ดูแลรักษาเครื่องสมัสการและโกศกับหีบศพเท่านั้น

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกกรณีการ “จำสนม” เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ หรือพระยาประสิทธิ์ศุภการ ) ไว้ตอนหนึ่งว่า…

“ในช่วงฤดูร้อนเดือนมีนาคม พ.ศ.2457 ในระหว่างนั้นข้าพเจ้ามีเรื่องกลุ้มใจอยู่ 2 เรื่อง ที่หนึ่งคือ เจ้าพระยารามฯ ชอบพูดเล่นพูดจริงในทาง Flirt หนักขึ้นทุกที แม้ข้าพเจ้าได้ขอแล้วแต่โดยดีก็ยังต้องเคืองกันหลายครั้งมาแล้ว และพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทราบไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่งคือเสด็จพ่อ (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เองเกิดทรงบึ้งตึงไม่ตรัสกับข้าพเจ้ามาหลายวันแล้ว…”

ต่อมากรมพระยาดำรงฯ ได้กล่าวกับ หม่อมเจ้าพูนพิศมัยว่า “ก็พ่อได้รับบัตร์สนเท่ห์ว่าเธอไม่ได้ไปเข้าเฝ้าในหลวงนี่”

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย จึงได้เขียนจดหมายกราบทูลฯในหลวง โดยย่อ ว่า “บัดนี้เสด็จพ่อได้ทรงรับบัตร์สนเท่ห์ฟ้องข้าพเจ้าว่าไปทำชั่วกับเจ้าพระยารามฯ ไม่ได้ไปเฝ้าในหลวงจริงๆ สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ากลุ้มใจก็เพราะเจ้าพระยารามฯ ชอบทำกิริยาให้คนสงสัย จึงไม่มีใครเชื่อข้าพเจ้าแม้แต่เสด็จพ่อเอง แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจจะกราบทูลฟ้องร้องเจ้าพระยารามฯ อย่างไรเลย เพราะเจ้าพระยารามฯ ไม่เคยล่วงเกินข้าพเจ้าเลยแม้สักนิดหนึ่ง ที่กราบทูลฯ ทั้งหมด ก็เพื่อจะได้ทรงทราบความจริงโดยละเอียด ข้าพเจ้าขอพระราชทานอย่าได้ทรงกริ้วกราด…เพราะไม่มีสิ่งไรที่จะตัดความจงรักภักดีของข้าพเจ้าได้จนตลอดชีวิต”

ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล

จากนั้นมีพระราชหัตถเลขา ลงพระปรมาภิไธย “วชิราวุธ ป.ร.” ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2457 ความว่า “ถึงหญิงพูน ฉันได้รับจดหมายของเธอชี้แจงข้อความต่างๆ ในส่วนตัว ได้ทราบความทุกประการแล้ว ฉันเข้าใจดีทีเดียว และมีความเสียใจที่เธอต้องได้รับความเดือดร้อนรำคาญใจ เรื่องนี้ที่จริงแล้วฉันก็ได้รับบัตร์สนเท่ห์ ฉบับ 1 นานมาแล้ว แต่ฉันเห็นว่าเปนเรื่องเหลวไหล และฉันเชื่อถืออยู่ในความมั่นคงแห่งตัวเธอและพระยาประสิทธิ ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งโจทย์มันก็ไม่มีเนื้อมีตัวอะไรจึงมิได้ว่ากระไรต่อไป

“การที่พระยาประสิทธประพฤติสนิทสนมกับเธออยู่บ้าง ฉันก็ทราบอยู่ แต่ใจฉันไม่อยากจะคิดมากมายไปอย่างไรเลย แต่ถ้าการสนิทสนมเปนทางให้คนเขานินทา และเปนทำให้เสด็จพ่อทรงร้อนพระหฤทัยแล้ว ก็เปนการไม่สมควรจะให้เปนไปอีกต่อไป ฉันจะได้จัดการป้องกันมิให้เปนไปอีก ฉันเชื่อว่าพระยาประสิทธิเปนผู้ที่มีความคิดพอที่จะเข้าใจคำชี้แจงของฉัน”

จากนั้นไม่นานมีงานที่โรงละคอนสวนมิสกะวัน พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนิน ที่งานนั้นเอง เจ้าพระยารามราฆพ กล่าวกับกับ หม่อมเจ้าพูนพิศมัยว่า “แหม, ท่านหญิง. หม่อมฉันนะไปสนม แล้วรู้ไหมเล่า?”

“สนม” ที่เจ้าพระยารามราฆพ กล่าวถึงก็คือ การ “จำสนม” นั่นเอง ซึ่งหม่อมเจ้าพูนพิศมัยแปลไว้ในบริบทนั้นว่าเป็น “คุกผู้ดี”

การถูกจำสนม ของเจ้าพระยารามราฆพ นั้น อาจมีสาเหตุมาจากเรื่องราวที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ได้บันทึกไว้

***ข้อมูลจากหนังสือ “ราชสำนักรัชกาลที่ 6” เขียนโดย วรชาติ มีชูบท และ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” เขียนโดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล สำนักพิมพ์มติชน