พลิกสูตรวัคซีนกู้วิกฤต สร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจสู้โควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะการดูแลรักษาชีวิต และป้องกันการแพร่ระบาดแต่ยังรวมไปถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากมหันตภัยนี้ด้วย เครือมติชนจัดสัมมนา “ไลฟ์สตรีมมิ่ง” ในหัวข้อ “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจ”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อควบคุมการระบาด ที่ผ่านมาไทยทำสำเร็จ หยุดการแพร่ระบาดเป็น 0 ได้กว่า 6 เดือน แต่กลับมาระบาดใหม่ไม่ใช่เพราะการ์ดตก แต่มีการทำผิดกฎหมาย มีเชื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการบังคับใช้กฎหมายเข้มขึ้น

สำหรับเป้าหมายการหาวัคซีนเพื่อไม่ให้ทวีความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าฉีดแล้วจะไม่ติด ดังนั้น ได้วัคซีนแล้วไม่ใช่แปลว่าจะถอดหน้ากากอนามัยได้ ต้องใช้ชีวิตนิวนอร์มอลต่อไป

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน มีคณะกรรมการบริหารจัดการว่าจะฉีดให้ใคร ตรงไหน เท่าไร แต่จะไม่ให้คนไทยเป็นหนูทดลองยาเด็ดขาด

ดีเดย์ฉีด มิ.ย. เดือนละ 5 ล้านโดส

กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ห้ามส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลต่อการส่งมอบวัคซีนลอตแรกที่ไทยสั่งซื้อนำร่อง (early dose) จากแอสตร้าเซนเนก้า 2 แสนโดส ทำให้ไม่สามารถส่งทันตามกำหนดใน ก.พ. ล่าสุดผู้ผลิตประสานจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตที่ในประเทศนอกอียูให้ไทย โดยไทยทำสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไป 26 ล้านโดส และจะทำสัญญาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส และที่ทำสัญญากับจีนเป็นแผนเพิ่มเติม ราคาเฉลี่ยโดสละ 5 เหรียญสหรัฐ ไม่รวมค่าขนส่ง และกระจายวัคซีน จะเริ่มฉีด มิ.ย. เดือนละ 5 ล้านโดส

ชูไทยฮับวัคซีน “อาเซียน”

นอกจากนี้ ออกซ์ฟอร์ด เจ้าของผลิตภัณฑ์วัคซีนโควิด-19 ยังเป็นผู้เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นตัวแทนผลิตวัคซีนในไทย ทำให้ต่อไปไทยจะมีโรงงานวัคซีนที่จังหวัดนนทบุรีเป็นแห่งแรกเพื่อป้อนให้ผู้ใช้ในประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 200 ล้านโดส เทียบประชากรไทย 70 ล้านคน หักเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเหลือ 50 ล้านคน คนละ 2 โดส เท่ากับ 100 ล้านโดส เท่ากับว่าจะมีปริมาณวัคซีนเหลือใช้ในประเทศ 100 ล้านโดส ที่จะส่งออกไปขายในอาเซียนสร้างรายได้กลับเข้าประเทศ

ย้ำเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจต้องพิจารณา 3 ระดับ ระดับแรก “ภูมิคุ้มกันประเทศ” มีตัวชี้วัด 1.อัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) โตต่อเนื่อง 2.ฐานะการเงินระหว่างประเทศหรือทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ไทยมีทุนสำรอง 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามั่นคง 3.ฐานะการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณยังอยู่ในระดับมั่นคง 4.หนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ต่ำกว่าเพดานที่ 60%

ระดับที่สอง “ภูมิคุ้มกันกลุ่ม” คือ ภาคการผลิต ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมถึงท่องเที่ยว ระดับที่สาม “ภูมิคุ้มกันของประชาชน” ต้องมีการออมเพื่ออนาคตของตนเอง

ปรับวิธีเยียวยาโควิดระลอกใหม่

นายอาคมกล่าวต่อว่า การดูแลเศรษฐกิจเดิน 3 ขั้นตอน คือ เยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟู โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งด้านเศรษฐกิจหยุดเฉพาะที่มีการมั่วสุมเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ แต่โลจิสติกส์ ร้านอาหารไม่กระทบ ยังดำเนินชีวิตปกติ

“มาตรการเยียวยาช่วยเหลืออาชีพอิสระ ขยายกลุ่มแรงงาน เกษตรกรบวกเข้ามาอยู่ที่ 41 ล้าน ดูว่าใครบ้างที่มีระบบดูแลอยู่แล้วก็ให้ระบบดูแล เช่น ข้าราชการ ส่วนผู้ประกันตนมีกองทุนประกันสังคม สิทธิตาม ม.39 และ 40 ก็ได้รับการเยียวยาด้วยก็จะได้ตัวเลขในระบบ 31 ล้าน อีก 10 ล้านอยู่ที่ประกันสังคม”

สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้หยุด คือ 1.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.กระตุ้นเศรษฐกิจ 3.ปฏิรูปโครงสร้างรายได้ 4.ลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เน้นพื้นที่อีอีซี 5.เน้นความยั่งยืน สร้างอาชีพ 6.การท่องเที่ยวต้องคิดว่าหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ต้องปรับตัว โดยนโยบายเศรษฐกิจเดินบนหลักการ 3 เรื่อง 1.ปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งธุรกิจและรัฐ 2.ระบบเศรษฐกิจสีเขียว 3.ส่งเสริมสุขภาพและกินดีอยู่ดี

“เรารักกัน” แจกคนละ 4 พัน มี.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่ากระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือเหมือนให้วัคซีน ตัวแรกในช่วงโควิด-19 ครั้งแรกต้นปี 2563 ใช้วิธี “พยุงไม่ให้คนตกงาน” ช่วงเลิกจ้างจำนวนมาก ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน จากนั้นให้วัคซีนตัวต่อไปเป็นยาบำรุง ทำให้คนกลับมามีงานทำ โดยจัด Job Expo Thailand ตั้งเป้าบรรจุ 1 ล้านตำแหน่ง บรรจุไปกว่า 8.6 แสนคน จากนั้นพยุงให้ผู้ประกอบการแข็งแรง ใช้เงินกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้าน ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ 3%/ปี รักษาการจ้างงานได้เกือบ 4 หมื่นคน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือในการระบาดระลอกสอง อาทิ ช่วยผู้ประกันตนที่ตกงานหรือไม่ได้ทำงาน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน มีผู้ใช้แรงงานเข้าข่าย 2 แสนคน จ่ายไปแล้ว 5 หมื่นคน ราว 400 ล้านบาท ภายใต้โครงการ “เรารักกัน” สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 33 เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2 ทาง คือ 1.จ่ายให้ 7 พันบาท ให้คนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 3 แสนบาท จะมีได้ 5 ล้านคน 2.จ่ายทุกคนที่ 3,500-4,500 บาท แต่คนที่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาทจะไม่ได้รับ โดยท่านนายกฯมีนโยบายให้จ่ายทุกคน วงเงิน 4 หมื่นล้าน มีผู้เข้าข่าย 9 ล้านคน จ่าย 4 พันแบ่งจ่ายสัปดาห์ละพันบาท จะนำเข้า ครม. จ่ายได้ใน มี.ค.นี้

สาธิตอัพเดตแผนกระจายวัคซีน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการกระจายวัคซีนกำลังวางแผนการกระจาย และคำนวณตัวเลขขีดความสามารถที่โรงพยาบาลแต่ละระดับให้บริการได้ต่อวัน ต่อเดือน โดยจะให้บริการในโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป เพราะเมื่อฉีดแล้ว ต้องให้ประชาชนรอดูอาการ 15-30 นาที หากมีผลข้างเคียงจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที

ในพื้นที่ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดควบคุมได้แล้วแต่ไม่ได้หมายถึงผู้ติดเชื้อเป็น 0 แต่คือติดตามสอบสวนโรค ทราบต้นตอการระบาด ติดตามหาผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ หรือผู้มีความเสี่ยงมาตรวจได้หมด โดยทำงานเชิงรุกด้วยทรัพยากรที่จำกัด ถ้าทำตามมาตรการป้องกันขอพี่น้องประชาชนทำความเข้าใจโควิด-19 คุมให้ติดเชื้อน้อยที่สุด และฉีดวัคซีนไปพร้อมกัน เชื่อว่าจะสู้ได้เร็วกว่าประเทศอื่น