‘ปรุงชีวิต ให้สุข’ ความทรงจำในสยามประเทศ ผ่านเรื่องเล่า 91 ปีของหญิงสามัญชน

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

 

ปรุงชีวิต ให้สุข หนังสือที่ผู้เขียนอย่าง วีระพงศ์ มีสถาน นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เรียบเรียงเรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “บุญเรือน คิดชอบ” หญิงวัย 91 ปี (นับถึงปี 2564) ถือเป็นหลักฐานบันทึก ในฐานะประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลและเป็นร่องรอยหลักฐานให้กับประวัติศาสตร์สังคม

ดังนั้นการบันทึกถึงเรื่องราวของคุณแม่บุญเรือนจึงประหนึ่งการยกกล้องเล็งไปที่ใบไม้ใบหนึ่งแล้วบันทึกภาพเอาไว้ คนทั้งหลายย่อมเข้าใจได้ว่า ใบไม้นั้นมิได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่มีก้าน กิ่ง และลำต้นของไม้นั้น ช่วยยึดโยงเอาไว้ มีใบไม้อื่น ๆ อีกมากมายระดะดื่นอยู่บนต้น เหมือนเรื่องราวของคุณแม่บุญเรือนที่มิได้ลอยอยู่อย่างเอกเทศ แต่มีฉากเหตุการณ์ในสังคมร่วมอยู่ด้วย

เปิดเล่ม

คุณแม่บุญเรือน คือ สามัญชนคนธรรมดาที่มีชีวิตวิ่งเล่นในเมืองบางกอก นครหลวงของสยามประเทศก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นประเทศไทย ได้รู้ได้เห็นความเป็นไปในบางเสี้ยวมุมของชีวิตผู้คน กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน

แม้เรื่องราวในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้อาจดูผิวเผินเสมือนเป็นเพียงเรื่องราวของผู้เฒ่าท่านหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย แต่เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการคิด และการกระทำของคุณแม่บุญเรือนที่มีผลต่อชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นความไม่ธรรมดาที่อยู่บนพื้นฐานของความธรรมดา และเรื่องราวความสุขและความสนุกในเล่มคล้ายกับการได้นั่งเครื่องย้อนเวลาไปสู่อดีต ด้วยสำบัดสำนวนที่เหมือนจะเลือนลางหาฟังยากในปัจจุบัน

บุญเรือน คิดชอบ

รู้จักคุณแม่บุญเรือน

คุณแม่บุญเรือน เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 บ้านอยู่ในย่านวัดหัวลำโพง สามย่าน หากนำแผนที่ปัจจุบันมาซ้อนทับ คือบริเวณจามจุรีสแควร์ มารดานามว่า บุญไทย เป็นชาวแปดริ้ว บิดานามว่า “จีนย้ง” หรือ เถ้าแก่ย้ง ทำกิจการโรงฟอกหนัง ต่อมาย้ายไปอยู่ย่านคลองเตย ในเรือนคหบดี 2 ชั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หน้าต่าง 2 ชั้นเป็นบานกระทุ้ง ตั้งอยู่ใกล้โรงฟอกหนัง

ชีวิตวัยเด็กจวบจนวัยรุ่น คุณแม่บุญเรือนให้นิยามตัวเองว่า “ซน” ชอบเดินทางไปไหนต่อไหนคนเดียว ทั้งด้วยรถราง รถไฟสายปากน้ำ ค่าโดยสาร “ตังค์สองตังค์” เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศรีอักษร ใกล้สะพานดำ ย่านคลองเตย ต่อมาเข้าเรียนที่โรงรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

กระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานในฐานะ “CEO ของครอบครัว” จากแม่ค้าแบกะดินย่านสนามหลวง จนถึงตลาดโบ๊เบ๊ กระทั่งเข้าสู่ยุคบุกเบิกการค้า ในย่านสยามสแควร์

จากแบกะดินสู่ร้านมั่นคง

คุณแม่บุญเรือนสารภาพว่า นอกจากวิ่งเล่น ทำเรื่องซุกซน และเรียนหนังสือแล้วก็ทำอะไรไม่เป็นอีกเลย โดยครั้งในอดีตเคยมีโอกาสได้ติดตามแม่สามีไปเฝ้าร้านแบกะดินขายผ้าที่ตลาดนัดสนามหลวงในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งการติดตามไปในครั้งนั้นเสมือนการเปิดโลกแห่งความจริงของชีวิตที่ว่า ผู้คนมากมายล้วนปากกัดตีนถีบแสวงหาลู่ทางเพื่อเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจ ต้นทางพอแค่มีกินมีใช้ ปลายทางคือความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งการไปขายผ้าในครั้งนั้นคล้ายกับการฝึกงานได้เรียนรู้งานการขายและประสบการณ์จริง

ต่อมาจึงได้เปิดร้านกับ “คุณพ่อสำเริง” หลังแต่งงานแล้ว ช่วยกันทำกิจการค้าขายผ้า เช่าห้องแถวในซอยวัดบรมนิวาส ตอนกำลังเริ่มขยายกิจการ คุณแม่บุญเรือนนั่งร้านแผงขายที่ตลาดโบ๊เบ๊ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าทดลองทำ ซึ่งในวันนั้น คุณแม่บุญเรือนได้บอกเล่าเรื่องราวการทำเสื้อยกทรง ที่วันแรกในการออกแบบมีทรงแหลมเปี๊ยบ และมีอีกอย่างหนึ่งคือ เสื้อรัดทรง รวมถึง เสื้อคอหุ้ม คอจีบ ที่เป็นที่รู้จักในต่างจังหวัด

คุณแม่บุญเรือนยังบอกเล่าถึงบรรยากาศการขายผ่านย่านโบ๊เบ๊ในสมัยยังสาวอย่างเห็นภาพ กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมที่ชวนให้เรียนรู้ ถึงการค้าขายเสื้อผ้าในตลาดโบ๊เบ๊ช่วงหลังสงครามและก่อนปี 2510 ที่เป็นเวลาทองของการค้า ถึงแม้จะมีร้านค้ามากมาย แต่ด้วยความคิดแปลกและแตกต่างทำให้สินค้าของแม่บุญเรือนขายดีเป็นพิเศษ จนทำให้การเช่าแผงขายแบกะดินไม่นานก็สามารถมีร้านห้องแถวได้เป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อร้าน “บุญศิริ” จากคำต้นของชื่อบุญเรือน ส่วนศิริ เน้นให้จดจำได้ง่าย และเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ตอนนั้นก็…เราค้าขายกับคนต่างจังหวัด แม่ก็เลยคิดตั้งชื่อแม่ชื่อบุญเรือน ก็ให้คนต่างจังหวัดเขาจำได้ ก็เลยชื่อบุญศิริ”

กอปรกับวีระพงศ์ยังนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาประกอบให้เรื่องเล่าเหล่านี้ปรากฏภาพชัดขึ้นในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ โดยย่านโบ๊เบ๊นี้ มีข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองสยาม เข้ามารับจ้างขายแรงงานขุดคลองผดุงกรุงเกษมในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยก่อนหน้านั้น ก็มีการขุดคลองแสนแสบในรัชกาลก่อนหน้าโดยแรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนเช่นกัน

จากบันทึกและเอกสารโบราณ บ่งชี้ว่าตลาดโบ๊เบ๊ น่าจะมีผู้คนคึกคักมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2489 คลาคล่ำด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่นำข้าวของเครื่องใช้โดยเฉพาะเสื้อผ้ามาขายบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตัดกับคลองมหานครเรื่อยไปถึงสะพานยศเส

กิจการของร้านบุญศิริเติบใหญ่ขึ้นตามลำดับ เมื่อลูก ๆ ทยอยเข้าเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่บุญเรือนก็ขยายกิจการจากโบ๊เบ๊ บุก (เบิก) ตลาดสยามสแควร์ ตั้งชื่อร้านเป็นภาษาอังกฤษว่า TOT (ท็อต) แปลว่า เด็ก ต่างจากบุญศิริ ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่เสื้อผ้าผู้ใหญ่ต่างจังหวัด โดยมีน้องสาวคู่บุญ นามว่า “เบญจางค์” หรือยายจางค์ของหลาน ๆ ร่วมเป็นดีไซเนอร์ เน้นเสื้อผ้าเด็ก ต่อมายังสั่งซื้อของใช้เด็กอ่อนและของเล่นเด็กยี่ห้อดังจากเมืองนอกมาขายด้วย

ย่านดังกล่าวสะท้อนแฟชั่นจากต่างประเทศมาตั้งแต่ช่วงต้น พ.ศ. 2500 คุณแม่บุญเรือนเห็นกระแสนี้มาตลอด และนับเป็นผู้ทำธุรกิจรุ่นแรกของสยามสแควร์ มีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ทั้งคุณแม่บุญเรือนและคุณพ่อสำเริงจ้างทำโฆษณาร้านท็อตทางทีวี ทำถุงสินค้าโดยมีโลโก้ร้าน ซึ่งวิธีนี้เคยทำมาตั้งแต่ตอนอยู่โบ๊เบ๊

รู้เพิ่ม รู้พอ

เรื่องราวของคุณแม่บุญเรือน จากเรื่องเล่าที่ผู้เขียนเรียบเรียง ทำให้เห็นตัวตนและพัฒนาการตามลำดับ จนกระทั่งประสบความสำเร็จซึ่งมาจาก 2 ส่วนด้วยกันคือ

1.การ “รู้เพิ่ม” คุณแม่บุญเรือนดึงศักยภาพของความซนมาใช้ได้อย่างได้ผล เมื่อมีความคิดแปลกใหม่เป็นพื้น การคิดหางานเพื่อสร้างรายได้ ประกอบกับการได้รู้เห็นชีวิตชาวต่างจังหวัดจนรู้นิสัยใจคออันเป็นเอกลักษณ์พื้นฐานของรสนิยมการแต่งกาย ทำให้เกิดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

2.การ “รู้พอ” หลังจากที่คุณแม่บุญเรือนตรากตรำทำงานมานานกว่า 40 ปี ได้รู้เห็นโลกมากมาย และยังรู้อีกว่าหากทำต่อไปจะมีรายได้เข้ามาอีก กอปรกับการส่งลูก ๆ ของเธอขึ้นฝั่งสำเร็จการศึกษาและทำหน้าที่การงานได้อย่างน่าภาคภูมิ จึงเป็นความกล้าหาญในชีวิตที่ใช้ความเด็ดเดี่ยวกับการฝากความสุขไว้กับการไหลมาของรายได้ และการหยุดไหลมาของรายได้แล้วมีความสุข ซึ่งประการหลังคุณแม่บุญเรือนได้สัมผัสด้วยตนเองโดยไม่ต้องขอพรจากเทพทั้งปวง

การปรุงชีวิต เปรียบได้กับการปรุงอาหาร ที่ผู้ปรุงประสงค์จะให้มีรสชาติออกมาเปรี้ยวหวานมันเค็ม เจ้าของชีวิตทุกชีวิตล้วนมีหน้าที่ปรุงชีวิตของตนเองว่าจะให้สุขหรือทุกข์ รุ่มร้อนหรือร่มเย็น…คุณแม่ปรุงชีวิตด้วยการเรียนรู้ รู้เพิ่มรู้พอ ตัดสินใจอย่างรอบคอบและกล้าหาญ ทำกิจต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นและมั่นใจ ชีวิตจึง “สุข” ในแบบฉบับของสามัญชนนามบุญเรือน คิดชอบ

เรื่องเล่าของ “คุณแม่บุญเรือน คิดชอบ” ในหนังสือ ปรุงชีวิต ให้สุข ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต โดยเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หญิงวัย 91 ปีผู้นี้ เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเธอ สถานที่ที่เรารู้จักกันในวันนี้เมื่อในอดีต ด้วยความสามัญชนคนธรรมดาของเธอ ที่ระหว่างทาง (เนื้อหาในเล่ม) ถูกลงรายละเอียดอย่างออกรส เพื่อให้เราได้รำลึกประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ