10 บิ๊กเนม คว้าแชมป์ “มาร์เก็ตแคปสูงสุด” วันแรกที่เข้าตลาดหุ้นไทย

ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหุ้น

เปิดโผ 10 บิ๊กเนม คว้าแชมป์ “มูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงสุด” ในวันแรกที่ไอพีโอเข้าตลาดหุ้นไทย 

วันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2566) มีบริษัทเดินหน้าเสนอขายหุ้นไอพีโอเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกันอย่างคึกคักและต่อเนื่อง สืบเนื่องจากเป็นการระดมทุนที่ไม่มีดอกเบี้ย ช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการขยายกิจการได้

และกิจการมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น ทำให้คนรู้จักสินค้าและบริการในบริษัทมากกว่าเดิม รวมถึงมีโครงสร้างการบริหารที่เป็นระเบียบ โปร่งใสและรัดกุม ส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทย ที่สามารถคว้าแชมป์ไอพีโอ ด้วยมูลค่าระดมทุนและมีขนาดมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดของแต่ละปีว่าเป็นใครกันบ้าง ซึ่งมีรายชื่อดังนี้

MASTER รพ.ศัลยกรรม

– ในปี 2566 คือ บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) ประกอบธุรกิจสถานพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ” มีมูลค่าระดมทุน 2,300 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 11,040 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 46 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 25 ม.ค.ที่ 69 บาท เพิ่มขึ้น 50% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 82.75 บาท เพิ่มขึ้น 79.89% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 19,860 ล้านบาท

Advertisment

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 12 บริษัท รวมมูลค่าระดมทุน 8,567 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 43,430 ล้านบาท (ข้อมูลจนถึง 10 เม.ย. 2566)

ไทยประกันชีวิต

– ในปี 2565 คือ บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) ประกอบธุรกิจประกันชีวิต มีมูลค่าระดมทุน 13,600 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 183,200 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 16 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 25 ก.ค.ที่ 15.90 บาท ลดลง 0.62% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 12.70 บาท ลดลง 20.62% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 145,415 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 42 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 2 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 97,852 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 506,545 ล้านบาท

OR

– ในปี 2564 คือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่

Advertisment

มีมูลค่าระดมทุน 46,980 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 208,980 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 18 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 11 ก.พ.ที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.50% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 21.30 บาท เพิ่มขึ้น 18.33% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 255,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 41 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 3 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 98,125 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 454,015 ล้านบาท

เซ็นทรัล รีเทล

– ในปี 2563 คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ธุรกิจค้าปลีกสินค้าในประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศเวียดนาม มีมูลค่าระดมทุน 55,902 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 253,302 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 42 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 20 ก.พ.ที่ 41.75 บาท ลดลง 0.60% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 45.25 บาท เพิ่มขึ้น 7.73% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 272,902 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 28 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์และอินฟราฟันด์ 2 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 136,043 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 555,299 ล้านบาท

AWC เครือเจ้าสัวเจริญ

– ในปี 2562 คือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) โฮลดิ้งส์คอมพะนี ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail & Wholesale) และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office)

มีมูลค่าระดมทุน 41,742 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 185,742 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 6 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 10 ต.ค.ที่ 6.05 บาท เพิ่มขึ้น 0.83% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 5.70 บาท ลดลง 5% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 182,413 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 32 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์และอินฟราฟันด์ 4 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 90,838 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 383,749 ล้านบาท

โอสถสภา

– ในปี 2561 คือ บมจ.โอสถสภา (OSP) ธุรกิจผลิต ทำการตลาด และจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอม และธุรกิจให้บริการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (OEM) และธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ มีมูลค่าระดมทุน 12,668 ล้านบาท

มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 75,093 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 25 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 17 ต.ค.ที่ 27.25 บาท เพิ่มขึ้น 9% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 29.75 บาท เพิ่มขึ้น 19% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 89,361 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 22 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์และอินฟราฟันด์ 4 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 81,572 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 183,140 ล้านบาท

GULF

– ในปี 2560 คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) โฮลดิ้งส์คอมพะนี ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

มีมูลค่าระดมทุน 23,998 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 95,998 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 45 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 6 ธ.ค.ที่ 53.75 บาท เพิ่มขึ้น 19.44% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 54 บาท เพิ่มขึ้น 20% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 633,590 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 42 บริษัท นับรวมรีทพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์และอินฟราฟันด์ 4 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 106,279 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 426,349 ล้านบาท

บ้านปู เพาเวอร์

– ในปี 2559 คือ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) โฮลดิ้งส์คอมพะนี ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีมูลค่าระดมทุน 13,618 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 63,959 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 21 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 28 ต.ค.ที่ 26 บาท เพิ่มขึ้น 29.76% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 15 บาท ลดลง 28.6% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 45,715 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 27 บริษัท นับรวมรีทและพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 4 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 52,657 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 157,766 ล้านบาท

GPSC กลุ่ม ปตท.

– ในปี 2558 คือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีมูลค่าระดมทุน 10,035 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 40,454 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 27 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 18 พ.ค.ที่ 26 บาท ลดลง 3.70% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 67.75 บาท เพิ่มขึ้น 150.9% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 190,331 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 41 บริษัท นับรวมรีทและพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 6 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 130,622 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 289,231 ล้านบาท

สายการบินบางกอกแอร์เวย์

– ในปี 2557 คือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ประกอบธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ และธุรกิจสนามบิน มีมูลค่าระดมทุน 13,000 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 52,500 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 25 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 3 พ.ย.ที่ 22 บาท ลดลง 12% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 13.20 บาท ลดลง 47.2% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 27,720 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปีดังกล่าวมีบริษัทเข้าไอพีโอรวม 45 บริษัท นับรวมรีทและพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 9 กอง รวมมูลค่าระดมทุน 113,989 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 304,796 ล้านบาท

หมายเหตุ : รู้หรือไม่ ปี 2558 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มีมูลค่าระดมทุน 55,000 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ไอพีโอ (มาร์เก็ตแคป) 55,500 ล้านบาท ราคาไอพีโอ 10 บาท ปิดซื้อขายวันแรก 16 ก.พ.ที่ 9.70 บาท ลดลง 3% จากราคาไอพีโอ โดยราคาหุ้นจนถึง 10 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 7 บาท ลดลง 30% จากราคาไอพีโอ และมีมาร์เก็ตแคป 56,000 ล้านบาท