อนันดาจุกอกคดี “คอนโดอโศก” ยืดโอน 1 ปี-รับซื้อคืนทุกห้องชุด

แฟ้มภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอนโดฯหรู “แอชตัน อโศก” ป่วนหนัก สร้างเสร็จแต่โอนไม่ได้ ติดคดีรอคำพิพากษาศาลปกครอง มีคำร้อง สตง.กรณีใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมายกำหนด 3 หน่วยงานรัฐ “กทม.-กรมโยธา-รฟม.” โยนเผือกร้อนกันวุ่น ซีอีโออนันดาฯ ทำคลิปขอโทษลูกค้า โอนไม่ทัน 26 มีนาคม 61 ชี้เหตุสุดวิสัย ขอยืดเวลาส่งมอบห้องชุด 1 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าขณะนี้วงการอสังหาริมทรัพย์กำลังจับตามองกรณีคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก” ของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเปิดขายเมื่อปี 2557 และก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2560 เนื่องจาก ผู้ซื้อห้องชุดโครงการนี้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ เพราะติดขั้นตอนการขอเอกสาร “อ.6” ซึ่งเป็นเอกสารตรวจสอบการก่อสร้างและเปิดใช้อาคารจากกรุงเทพมหานคร (กทม.)

กทม.เบรกเซ็น “อ.6”

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องที่เอกชนยื่นแบบ “อ.6” ขอใบรับรองการก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก ว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ โดยสร้างเป็นอาคารพักอยู่อาศัยสูง 50 ชั้น 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน

ประเด็นหลักเป็นเรื่องข้อกำหนดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประกอบกับแอชตัน อโศก อยู่ระหว่างมีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง และยังไม่มีคำพิพากษากทม.จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนอนุมัติแบบ อ.6 แนวทางปฏิบัติคือทำหนังสือเวียนสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักกฎหมาย กทม. ศาลปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงไม่สามารถตอบได้ว่าต้องใช้เวลาดำเนินการนานเท่าไหร่

“ตามขั้นตอนปกติใช้เวลาพิจารณาภายใน 30 วัน เบื้องต้นตัวอาคารไม่มีปัญหา แต่โครงการนี้มีผู้ร้องเรียนไปที่ศาลปกครอง กรณีเจ้าของโครงการเช่าที่ดินของ รฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งประเด็นอยู่ที่ รฟม.เวนคืนที่ดินมาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่บริษัทอนันดาฯเช่าที่ดิน รฟม.อีกต่อหนึ่งและใช้ประโยชน์เป็นทางเข้า-ออกคอนโดฯ เพื่อต่อเชื่อม

กับถนนอโศกมนตรี ถือว่าผิดวัตถุประสงค์กฎหมายเวนคืนที่ดิน ส่วนเหตุผลที่บริษัทอนันดาฯ ขอเชื่อมทางกับ รฟม.เป็นเพราะที่ดินที่ใช้ก่อสร้างแอชตัน อโศก เป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางเข้า-ออก”

ยธ.แจงสร้างตึกสูงได้

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอรอดูข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม กทม.ก่อน ซึ่งกทม.เคยสอบถามเข้ามาว่า สามารถสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ได้หรือไม่ กรมชี้แจงไปแล้วว่า หากที่ดินอยู่ในแนวเขตทางสาธารณะ (ถนน) กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ก็สามารถสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ได้ โดยที่ดินแอชตัน อโศก เช่าพื้นที่ รฟม.สร้างทางเข้า-ออกโครงการให้เชื่อมกับถนนอโศกฯ เท่ากับว่าสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้

แหล่งข่าว รฟม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน เดิมที่ดินโครงการแอชตันฯ ทางเจ้าของที่ดินถูก รฟม.เวนคืนจนกลายเป็นที่ตาบอด และเจ้าของที่ดินได้ทำ MOU หรือภาระจำยอมกับ รฟม.เพื่อเปิดทางเข้า-ออกแปลงที่ดิน ต่อมาเจ้าของที่ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับบริษัทอนันดาฯ จากนั้นอนันดาฯได้ขอเช่าที่ดิน รฟม.ทำทางเข้า-ออกให้กับโครงการ

รฟม.โบ้ยสัญญาเช่า 97 ล้าน

ทั้งนี้ การเช่าที่ดิน รฟม.สัญญาทำขึ้นสมัยนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล เป็นผู้ว่าการ รฟม. ขณะนั้นมีนโยบายหารายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งสถานีสุขุมวิทด้านบนเป็นพื้นที่ลานจอดแล้วจร ทางผู้บริหาร รฟม.ยุคนั้นมองว่าได้ผลตอบแทนไม่มาก เมื่อบริษัทเอกชนขอเช่าทำทางเข้า-ออกให้กับคอนโดฯ จึงมีไอเดียให้เหมาเช่าพื้นที่ลานจอด พร้อมกับสร้างสำนักงาน รฟม. ต่อมามีการยกเลิกก่อสร้างสำนักงานแล้วตีมูลค่าก่อสร้างโดยจ่ายเป็นเงินสด ทำให้ค่าตอบแทนการเช่าที่ต้องจ่าย รฟม.ไม่ต่ำกว่า 97 ล้านบาทดังกล่าว

“ปัญหาเกิดจากมีคนใน รฟม.ไปร้องเรียนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกรณีผู้ว่าการ รฟม.ใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมาย รฟม. 2543 กำหนด เพราะนำอสังหาฯ มูลค่าเกิน 10 ล้านบาทไปหาประโยชน์โดยไม่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่ รฟม.เดินหน้าให้เช่าเพราะมีการตีความแตกต่างกัน ระหว่างบอร์ดตีความว่าเป็นค่าตอบแทนจึงไม่ต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติ แต่ผู้ร้องเรียน สตง.ตีความว่าเป็นมูลค่าอสังหาฯ เกิน 10 ล้านบาท จึงต้องเสนอเข้าที่ประชุม ครม. สรุปว่าตอนนี้ สตง.กำลังสอบสวนข้อเท็จจริง ในส่วน รฟม.ล่าสุดยังไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับอนันดาฯ แต่อย่างใด”

โอนไม่ทัน 26 มี.ค. 61

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คอนโดฯ แอชตัน อโศก มีกำหนดสร้างเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าตามหน้าสัญญาภายในวันที่ 26 มีนาคม 2561 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทัน ทางนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงได้ทำคลิปสื่อสารกับลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุด 100% ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กโดยได้กล่าวขอโทษที่ไม่สามารถโอนให้ตามกำหนดเดิมได้ โดยสัญญาเปิดช่องให้ยืดเวลาการส่งมอบห้องชุดออกไปภายใน 1 ปีได้หากเกิดเหตุสุดวิสัย

“ทางเราต้องขอโทษลูกค้าด้วย สิ้นปีที่แล้ว (2560) ได้นัดลูกค้ามาโอนตึกนี้ แต่ทางเราเองมีปัญหาด้านการก่อสร้างเล็กน้อย และต้องปรับแบบ ตอนนี้อยู่ในกระบวนการเปิดใช้อาคาร อาคารนี้อยู่ในสถานที่ใกล้เทอร์มินอล 21 สี่แยกอโศก ทางหน่วยราชการหลาย ๆ หน่วยงานพยายามตรวจเอกสารให้ครบถ้วนให้ดีที่สุด เพราะตอนนี้ทาง กทม.ค่อนข้างเข้มงวดในการตรวจสอบข้อกฎหมายในการเปิดใช้อาคาร ซึ่งกำลังถกเถียงกันอยู่และยังไม่มีข้อสรุป”

อนึ่ง แอชตัน อโศก เปิดขายเมื่อปี 2557 และปิดการขาย 100% ภายในไม่ถึง 1 เดือนราคาเริ่มเฉลี่ยตารางเมตรละ 2.5 แสนบาทห้องละ 6 ล้านกว่าบาท ปัจจุบันราคาขยับไปที่ห้องละ 7 ล้านบาท ดังนั้นถ้าโอนห้องชุดได้ในอนาคตบริษัทมั่นใจว่าลูกค้าจะรับโอนทั้งหมด และบริษัทมีแนวโน้มจะรับซื้อคืนห้องชุดจากลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้