แมตช์แรก อสังหาพบนายกฯเศรษฐา “ปรับ-ลด-ปลดล็อก” ฟื้นกำลังซื้อตลาดกลาง-ล่าง

2คนอสังหา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

เวลา 10.30 น. ช่วงเช้าวันพุธ 10 มกราคม 2567 มีกำหนดการยื่นหนังสือเพื่อขอมาตรการสนับสนุนของ 7 สมาคมภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งตรงถึงมือ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

รวมทั้งได้นั่งโต๊ะร่วมประชุมอย่างใกล้ชิดเป็นนัดแรกอีกด้วย หลังจากรอคอยไม่ต่ำกว่า 4 เดือนเศษ นับจากวันที่นายกฯเศรษฐา นำคณะรัฐบาลใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยรายชื่อ 7 สมาคมที่เข้าร่วม ประกอบด้วย 1.นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2.นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร 3.นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย 4.นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย 5.นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน 6.นายปรีชา ศุภปีติพร นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ 7.นายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ 2 คีย์แมน “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการกลุ่มสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับ “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย เพื่อนำเสนอภารกิจร่วมระหว่างรัฐและเอกชนครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นภารกิจที่ภาคเอกชนลุ้นและรอคอยอย่างมีความหวังตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา

ขยับเพดานลดค่าโอน-จำนอง

ประเดิมด้วย “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า การประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อหารือและแสดงความพร้อมในการใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 โดยตัวแทน 7 สมาคมอสังหาฯ อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยฝั่งลูกค้าหรือผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอ 4-5 มาตรการ อาทิ

1.อยากให้มาตรการลดค่าโอน 2% และค่าจดจำนอง 1% รวมกัน 3% เหลือ 0.01% จากล้านละ 3 หมื่นบาท ให้ลดเหลือล้านละ 300 บาท ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเศรษฐาต่ออายุให้อีก 1 ปี แต่จำกัดเพดานที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และลดค่าธรรมเนียมจาก 3% เหลือ 1.01% จากล้านละ 3 หมื่นบาท เหลือล้านละ 10,100 บาท และขอให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

นายพีระพงศ์ จรูญเอก
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

ข้อเสนออยากให้ครอบคลุมเพดานราคาไปถึงราคา 7-10 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วน 20% ถือว่าช่วยได้น้อยมาก แต่ถ้าขยับไปถึงราคา 10 ล้านบาท จะครอบคลุม 60-70% ซึ่งสามารถช่วยคนเกือบทั้งประเทศได้

อย่างไรก็ตาม นายกฯเศรษฐายังไม่ได้รับปาก เพราะรัฐบาลก็ต้องกลับไปคำนวณภาระงบประมาณจากการที่รัฐบาลต้องอุดหนุนค่าธรรมเนียมการโอน หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะคุ้มค่าไหม เพราะหากกระตุ้นการซื้อขายที่อยู่อาศัยได้จริง มียอดโอนเพิ่มมากขึ้นจริง รัฐบาลมีรายได้ภาษีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการตกแต่ง-ต่อเติม-ซ่อมแซม ทำให้มีการซื้อวัสดุ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

แบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ย 3% 5 ปี

2.เสนอขอให้ช่วยเหลือการซื้อบ้านหลังแรก โดยรัฐบาลในอดีตเคยออกมาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” โดยรัฐช่วยจ่ายเงินดาวน์หลังละ 50,000 บาท รอบนี้ 7 สมาคมภาคอสังหาฯ เสนอขอให้รัฐช่วยเหลือ 100,000 บาท

ควบคู่กับขอให้ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ย 3% นาน 5 ปี เพราะทำให้คนซื้อบ้านหลังแรกมีตัวช่วย ทำให้ส่วนขาดเงินดาวน์ หรือวงเงินที่ไม่เต็มการปล่อยสินเชื่อ มีตัวช่วยจากภาครัฐเข้ามา
สนับสนุนให้เข้าถึงสินเชื่อได้

เนื่องจากถึงแม้รัฐบาลอาจจะช่วยสนับสนุนบ้านดีมีดาวน์ 100,000 บาท แต่ผู้บริโภคยังกลัวเรื่องดอกเบี้ยแพง ดังนั้น การตรึงดอกเบี้ย 3% 5 ปี จะทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะการตรึงดอกเบี้ย 5 ปีทำให้มั่นใจว่านานพอที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแน่นอน แต่ถ้าตรึงแค่ 3 ปี ยังก้ำกึ่งว่ามีการฟื้นตัวจริงหรือยัง อาจกังวลถ้าเศรษฐกิจแย่แล้วดอกเบี้ยแพง คนจะยอมผ่อนที่อยู่อาศัยอยู่หรือไม่

“บ้านหลังแรก ต้องยอมรับว่าบัณฑิตจบใหม่ แรงจูงใจน้อยลง แต่ถ้าออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ แทนที่จะไปซื้อมือถือ ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์คงทน กับการสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินทรัพย์คงทน โดยการซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมไม่ใช่สร้างหนี้สิน แต่เป็นการออมเงินในอสังหาฯ”

คุมสินเชื่อด้วยเกณฑ์ DSR

3.สำหรับบ้านหลังที่ 2-3 เราอยากทำหนังสือเข้าไปหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงว่าวันนี้ไม่มีการเก็งกำไร สำหรับคนที่มีเครดิต แต่มีความจำเป็นต้องมีบ้านหลังที่ 2-3 เช่น อยู่ใกล้ที่ทำงาน ซื้อแคมปัสคอนโดฯ ใกล้สถานศึกษา ทำให้ประหยัดค่าเดินทาง เอาเงินค่าเดินทางมาจ่ายค่าผ่อนบ้าน ขอให้ยกเว้น LTV 2 ปีในปี 2567-2568 เพราะเศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้น เพื่อแบ่งเบาภาระคนที่ยังกู้ไหว ทำให้ไม่ต้องมีเงินดาวน์สูงถึง 20-30% ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน

ทั้งนี้ แบงก์มีเครื่องมือควบคุมการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้วคือ DSR-Debt Service Ratio ความสามารถในการชำระหนี้ โดยแบงก์จะดูว่าการพิจารณาสินเชื่อซื้อบ้านตั้งแต่หลังแรก หลังที่ 2-3 ว่าผู้กู้มีความสามารถผ่อนไหวหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องนำกฎเกณฑ์ LTV-Loan to Value เข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมเลย

“กล่าวคือ ถ้าผู้กู้มีเครดิตสามารถกู้ซื้อหลังที่ 2-3 โดยมีสินเชื่อ 90-100% ก็ปล่อยให้เขากู้ไป ไม่ใช่ให้สินเชื่อเหลือแค่ 70-80% ซึ่งแบงก์ชาติกลัวการเก็งกำไร แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ซื้อมาแล้วราคาถูกลง จึงไม่มีการเก็งกำไรอีกแล้ว ส่วนกลัวเรื่องหนี้เสีย ข้อเท็จจริงแบงก์ขันนอตผ่านเกณฑ์ DSR แล้ว เพราะคนที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ก็ไม่ปล่อยกู้”

ทั้งนี้ อยู่ ๆ แบงก์ชาติก็ตั้งกำกับเพิ่มด้วยเกณฑ์ LTV ทั้ง ๆ ที่แบงก์มีเกณฑ์ DSR กำกับในการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว จึงไม่อยากให้แบงก์ชาติไปเชื่อมโยงกัน

ปรับเพดานบ้าน BOI 1.5 ล้าน

4.เสนอให้ปรับเกณฑ์บ้านบีโอไอ ปัจจุบันส่งเสริมการลงทุนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สำหรับบ้านแนวราบ พื้นที่ใช้สอย 80 ตารางเมตร ราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 24 ตารางเมตร ราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ข้อเสนอขอปรับราคาเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพื่อสะท้อนต้นทุนจริงในการพัฒนาโครงการที่มีต้นทุนราคาที่ดินแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ตามความเจริญของเมือง

รวมทั้งขอให้ใช้เกณฑ์บ้านบีโอไอราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทได้ทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดพื้นที่ แค่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพราะจะไปบอกว่าต่างจังหวัดต้นทุนที่ดินถูกแพงไม่เท่ากัน กรณีจังหวัดใดทำราคาได้ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ก็ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว แต่ถ้าทำราคาเกิน 1.5 ล้านบาทก็ไม่ได้รับสิทธิบีโอไอ

5.สำหรับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติ มีข้อเสนอให้ Mid Term VISA หรือวีซ่าระยะกลาง เงื่อนไขซื้อคอนโดฯ ราคา 5 ล้านบาท ได้วีซ่า 5 ปี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ครึ่งทางของ LTR-Long Term VISA Residence หรือวีซ่าพำนักระยะยาว 10 ปี

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าต้องการให้จีดีพีเติบโต มีเงินหมุนเวียนในระบบมากเพียงพอ ต้องมีการใช้อสังหาฯ เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นอยู่แล้ว”

กระตุ้นอสังหาฯ ดันจีดีพี 4%

นายพีระพงศ์กล่าวว่า หากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ตามข้อเสนอ 7 สมาคม มั่นใจว่าจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้จีดีพีปีนี้เติบโตได้ถึง 4% แน่นอน ยังไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นอื่น ๆ ของรัฐบาล

“7 สมาคมมีความตั้งใจดี เราอยากได้รับความช่วยเหลือ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เราอยากให้มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพราะแน่นอนว่าเมื่อกระตุ้นอสังหาฯ แล้วก็ไปช่วยตัวเลข ตัวเลขจีดีพีที่รัฐบาลอยากให้ไปถึงจีดีพี 4-5% ซึ่งภาคอสังหาฯ จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะกลางถึงระยะยาว นอกเหนือจากดิจิทัลวอลเลต” นายพีระพงศ์กล่าว

ฝนตกทั่วฟ้าลดค่าโอน 3 ล้านแรก

ถัดมา “อิสระ บุญยัง” ประธานกรรมการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป ในฐานะประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญที่มีการหารือในที่ประชุม ดังนี้

1.เสนอให้พิจารณาลดค่าโอนและค่าจดจำนอง 3% เหลือ 0.01% ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้อย่างได้ผลในรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา โดยขอให้ยกเว้นเป็นเวลา 1 ปีในปี 2567 จากปัจจุบัน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพิ่งต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง จาก 3% เหลือ 1.01%

เงื่อนไขที่เสนอขอเพิ่มเติมคือ ขอให้พิจารณาเพิ่มเพดานราคาจากไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือยกเว้นค่าโอน-จดจำนอง 3 ล้านบาทแรก สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ทุกระดับราคา แต่ได้อานิสงส์เฉพาะราคา 3 ล้านบาทแรก เพื่อจูงใจให้คนมีกำลังซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งบ้านสร้างใหม่ บ้านมือสอง และบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินตัวเอง

อิสระ บุญยัง
อิสระ บุญยัง

ฟื้นบ้านดีมีดาวน์-รัฐช่วย 1 แสน

2.กระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มบ้านสร้างเอง นำเสนอโดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ด้วยการขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกินลดหย่อน 100,000 บาท ซึ่งเทียบเท่าการสร้างบ้านเองราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท วิธีการดูจากมูลค่าการก่อสร้างบ้านตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ติดอากรแสตมป์ (อ.ส.4) กับกรมสรรพากร เป็นหลักฐานการขอลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับสร้างบ้านเข้าระบบภาษีมากขึ้น

3.ช่วยเหลือการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก (บ้านและคอนโดมิเนียม) โดยจัดแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% นาน 5 ปี จากสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมทั้งลดค่าโอน-จดจำนองราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท

4.ขอให้รัฐบาลพิจารณาฟื้นมาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” สำหรับการซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งเคยใช้ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรัฐช่วยจ่ายเงินดาวน์ 50,000 บาท รอบนี้เสนอขอให้รัฐบาลเศรษฐาเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเป็น 100,000 บาท

มาตรการที่ 5 ขอให้ฟื้นโครงการบ้าน BOI เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการลงทุนบ้านบีโอไอให้กับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง จากเกณฑ์ปัจจุบัน คอนโดมิเนียมต้องมีพื้นที่ใช้สอยขั้นต่ำ 24 ตารางเมตร บ้านแนวราบพื้นที่ใช้สอยขั้นต่ำ 80 ตารางเมตร ราคาขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาท เสนอขอให้ปรับราคาเพิ่มเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการพัฒนาโครงการ

หดไซซ์บ้านแนวราบสู้ที่ดินแพง

มาตรการที่ 6 ขอให้ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์ใบอนุญาตจัดสรร สำหรับบ้านแนวราบ โดยปรับขนาดที่ดินให้เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน เพราะเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ เป็นตัวกดดันให้บ้านแนวราบมีราคาแพงเกินกำลังซื้อที่ประชาชนจะรับได้

รายละเอียดคือ บ้านเดี่ยว ปัจจุบันกำหนดขั้นต่ำ 50 ตารางวา เสนอลดเหลือขั้นต่ำ 35 ตารางวา, บ้านแฝด ปัจจุบันขั้นต่ำ 35 ตารางวา เสนอลดเหลือขั้นต่ำ 28 ตารางวา และทาวน์เฮาส์ ปัจจุบันขั้นต่ำ 16 ตารางวา ลดเหลือขั้นต่ำ 14 ตารางวา

ขอส่วนลดภาษีที่ดิน 50%

มาตรการที่ 7 ขอให้รัฐบาลพิจารณาส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในยุคโควิด ปี 2563-2564-2565 ให้ส่วนลด 90% เท่ากับจ่ายจริง 10% ปี2566 ส่วนเหลือ 15% เท่ากับจ่ายจริง 85% ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ข้อเสนอจึงขอให้ลดภาษี 50% ในปี 2567 เพื่อลดภาระจ่ายภาษีเหลือ 50%

มาตรการที่ 8 กระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติที่มีศักยภาพ ด้วยการขยายเวลาสิทธิการเช่า จากปัจจุบัน 30 ปี เสนอขยายเป็น 50 ปี เพื่อให้สิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการถือกรรมสิทธิ์ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่เพิ่มสูงขึ้น

มาตรการที่ 9 พิจารณาเงื่อนไขการให้วีซ่าพำนักในประเทศไทย โดยการเช่าระยะยาว หรือซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เสนอให้วีซ่า 10 ปี สำหรับครอบครัว 4 คน และการเช่าระยะยาว หรือซื้อที่อยู่อาศัยราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป เสนอให้วีซ่า 5 ปี สำหรับ 2 คน

ผ่อนผันเกณฑ์ LTV

มาตรการที่ 10 ขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อผ่อนผันเกณฑ์ LTV-Loan to Value ปัจจุบันมีการบังคับใช้เกณฑ์สูงสุดสำหรับการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 มี LTV 80% หรือให้สินเชื่อ 80% เท่ากับต้องมีเงินดาวน์ 20% และหลังที่ 3 เกณฑ์ LTV ขยับเหลือ 70% เท่ากับต้องมีเงินดาวน์ 30%

ข้อเสนอคือ ขอให้ผ่อนผันใช้เกณฑ์ LTV ที่แบงก์ชาติเคยผ่อนผันในปี 2565 ที่มีเกณฑ์ LTV 100% หรือขอสินเชื่อได้ 100% สำหรับหลังที่ 2-3 ในขณะที่สินเชื่อซื้อบ้านหลังแรกมี LTV ได้ถึง 110% เพื่อให้มีวงเงินสินเชื่อสำหรับนำไปตกแต่ง-ต่อเติม-ซ่อมแซมได้

ปลดล็อกเอกสารยื่น EIA

มาตรการที่ 11 เสนอขอให้รัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไขการขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA-Environmental Impact Assessment สำหรับโครงการคอนโดมิเนียม ปัจจุบันมีอุปสรรคที่การขอให้พิจารณา EIA จะต้องมีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินมาประกอบการยื่นขออนุมัติ ในขณะที่มีหลายโครงการที่ซื้อที่ดินมาแล้วแต่ไม่ผ่านการอนุมัติ EIA สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการ เพราะทำเลสร้างคอนโดฯ มักจะมีที่ดินแพง เพราะต้องอยู่แนวรถไฟฟ้า หรืออยู่ในเขตเมือง

ข้อเสนอคือ โครงการคอนโดฯ ปรับเงื่อนไขเอกสารมัดจำที่ดิน สามารถนำมายื่นขออนุมัติ EIA ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารกรรมสิทธิ์เพียงอย่างเดียว เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการในการลงทุนพัฒนาโครงการ

สำหรับข้อกังวลของหน่วยงานพิจารณา EIA ว่า ถ้าปลดล็อกเรื่องเอกสารมัดจำซื้อที่ดินมายื่นได้ อาจเป็นสาเหตุให้มีการยื่นขออนุมัติมากเกินจนงานล้นคน ก็มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานรัฐสามารถคิดค่าธรรมเนียมพิจารณาเฉพาะคนที่นำเอกสารวางมัดจำค่าที่ดินมายื่นขออนุมัติอีไอเอในอัตราพิเศษ เพื่อให้มีความแตกต่างจากคนที่นำเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินมายื่นขออนุมัติอีไอเอตามปกติ น่าจะคัดกรองผู้ที่ต้องการขออีไอเอเพื่อพัฒนาโครงการจริง ๆ

“บรรยากาศของการประชุมนัดแรกร่วมกับท่านนายกฯเศรษฐา ถือว่ามีสัญญาณที่ดี ประเด็นไหนทำได้ก็ทำเลย เพราะมีบางเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ บางเรื่องกระทบกับงบประมาณ แต่มีผลในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า มีตัวคูณทางเศรษฐกิจได้มากกว่าหรือไม่ สไตล์การทำงานท่านนายกฯเศรษฐา ทำงานรวดเร็ว มีข้อสรุปเบื้องต้น ตั้งอนุกรรมการชุดเล็ก ๆ เพื่อลงลึกรายละเอียดร่วมกันระหว่างทีมนายกฯ กับตัวแทน 7 สมาคมอสังหาฯ” นายอิสระกล่าว