ดีเดย์ 30 พ.ค.ตีฆ้องชวนเอกชนทั่วโลกลงทุนไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน เปิดทางต่างชาติถือหุ้นเกิน 49%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันแถลงขั้นตอนการดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายอุตตมกล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็น 1 ใน 5 โครงการพัฒนาสำคัญในพื้นที่อีอีซี ซึ่งวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะมีการประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมประกวดราคา โดยครั้งนี้จะเปิดกว้างทั้งนักลงทุนจากในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลแบบนานาชาติ (International Bidding) ถือว่าจะเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ

“ยืนยันว่าจะได้เอกชนร่วมทุนในปีนี้อย่างแน่นอน เบื้องต้นมีเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วมประมูล 5-6 กลุ่ม มีทั้งในและต่างประเทศ และมีทั้งที่มาเดียวและจับมือกันมา โดยจะมีการชี้แจงกับทูตต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ”

นายไพรินทร์กล่าวว่า โครงการนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง รวม 220 กม. ได้แก่ 1.รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. 2.ส่วนต่อขยาย (แอร์พอร์ตลิงค์) ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. 3.รถไฟความเร็วสูงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนาบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. นอกจากนี้จะรวมการเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนาบริเวณสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ โดยทั้งหมดจะอยู่ในระยะเวลาตามสัญญา 50 ปี (ก่อสร้าง 5 ปี บริหารและเดินรถ 45 ปี) เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง โครงการทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

สำหรับกรอบเวลาดำเนินโครงการเบื้องต้นในวันที่ 30 พ.ค. – 17 มิ.ย. จะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและออกประกาศ TOR เบื้องต้น ในวันที่18 มิ.ย. – 9 ก.ค. จะเป็นช่วงขายซองประมูล มีทั้งหมด 4 ซอง โดยเอกสารประกวดราคาขายอยู่ที่ 1 ล้านบาท วันที่ 23 ก.ค. ประชุมชี้แจงเอกชนที่ซื้อเอกสารการประมูลครั้ง 1 วันที่ 24 ก.ค. นำผู้เข้าร่วมประมูลลงพื้นที่โครงการจริงวันทึ่ 24 ก.ย. ประชุมชี้แจงเอกชนที่ซื้อเอกสารการประมูลครั้งที่ 2 วันที่ 10 ก.ค. – 9 ธ.ค. เปิดรับคำถามข้อสงสัยจากเอกชน และวันที่ 12 พ.ย. ยื่นซองประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนสิ้นปีนี้ จากนั้นจะต้องนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาต่อไป

ขณะที่นายคณิศชี้แจงถึงงบประมาณการลงทุนและผลตอบแทนว่าตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมากำหนดกรอบที่รัฐจะร่วมลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 119,425.25 ล้านบาท ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ที่สามารถเสนอให้รัฐลงทุนน้อยที่สุด ทั้งนี้โครงการนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้งโครงการอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินเมื่อสัญญาสิ้นสุด 300,000 ล้านบาท

เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องร่วมทุนและเปิดเป็น International Bidding จึงอนุญาตให้บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจมาร่วมได้เกิน 1 ราย โดยจะต้องทำข้อตกลงว่าไม่ได้ฮั้วกัน และสถานทูตประเทศนั้นๆ จะต้องรับรองไว้ด้วย ส่วนสัดส่วนการลงทุนนั้นยังไม่เปิดเผยในขณะนี้ ขอให้รอ TOR ก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถยกเว้นได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการร่วมทุนกับต่างประเทศในสัดส่วนที่เกิน 49% นั้นมีกฎหมายอีกหลายประเภทที่ไม่ได้ระบุห้าม เช่น กฎหมายของรฟท., การส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น แต่ทั้งนี้ รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องรับรองมาว่า ไม่มีการฮั้วประมูลกัน และได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามหารทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยกรมบัญชีกลางบอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ส่วน ป.ป.ช.บอกว่า ไม่ได้ห้ามแต่ค้องดูที่เจตนา