ที่ดินราคาพุ่ง-ระเบียบเพียบ รัฐจ่ายอืด ตั้ง 62 ทีมทะลวงท่อ

การเบิก-จ่ายงบประมาณ เป็นจังหวะสำคัญในการกระตุ้นการเต้นของหัวใจเศรษฐกิจ

รัฐบาลจึงตั้งเป้าการเบิก-จ่ายงบประมาณ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในนามของ “ผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี” ของส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ

แต่ “ตัวเลข” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ “รับทราบ” ล่าสุด ในไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560-30 มี.ค. 2561 ทิศทางยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ครึ่งปีเบิกลงทุนต่ำเป้าแสนกว่าล้าน

ผลการเบิกจ่ายในช่วง 6 เดือน หรือครึ่งปีงบประมาณ ปรากฏว่า จากงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 2,900,000 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายไปได้ 1,470,558.80 ล้านบาท คิดเป็น 50.71% หรือ “ต่ำกว่าเป้าหมาย” ไป 1.53% เมื่อเทียบกับเป้าหมายเบิกจ่ายช่วง 6 เดือนแรกที่ตั้งไว้ที่ 1,516,522 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไป 46,993 ล้านบาทรายจ่ายประจำที่มีทั้งสิ้น 2,240,219 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1,289,746 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 57,625 ล้านบาท จากเป้าหมายเบิกจ่ายช่วง 6 เดือนที่ตั้งไว้ที่ 1,232,121 ล้านบาท

ส่วนรายจ่ายลงทุนที่มีทั้งสิ้น 659,781 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 180,813 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายไป 103,618 ล้านบาท จากเป้าหมายเบิกจ่ายในช่วง 6 เดือนตั้งไว้ที่ 284,431 ล้านบาท

มั่นคง-ขีดแข่งขันเบิกจ่ายต่ำ

4 ยุทธศาสตร์ ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย คือ ด้านความมั่นคง 271,267.25 ล้านบาท เบิกจ่าย 106,221.15 ล้านบาท คิดเป็น 39.16% ต่ำกว่าเป้าหมาย 13.13%,ด้านความสามารถในการแข่งขัน 467,719.64 ล้านบาท เบิกจ่าย 243,749.69 ล้านบาท คิดเป็น 52.11% ต่ำกว่าเป้าหมายไป 0.18%,ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 571,885.52 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 285,086.95 ล้านบาท คิดเป็น 49.85% ต่ำกว่าเป้าหมายไป 2.44%, ด้านการจัดการน้ำ 121,425.60 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 42,140.58 ล้านบาท คิดเป็น 34.70% ต่ำกว่าเป้าหมาย 17.53% และรายการค่าดำเนินการภาครัฐที่ 352,742.46 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 158,479.34 ล้านบาท คิดเป็น 44.93% ต่ำกว่าเป้าหมายไป 7.36%

ยุทธศาสตร์ที่เบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความยากจน 331,920.46 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 208,290.51 ล้านบาท คิดเป็น 62.75% สูงกว่าเป้าหมาย 10.46% และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 783,039.08 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 426,590.58 ล้านบาท คิดเป็น 54.48% สูงกว่าเป้าหมาย 2.19%

ค่าที่ดินพุ่ง-ระเบียบเพียบ

ปัญหาอุปสรรคการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย เกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ 1.รายการค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างประสบปัญหาเรื่องความพร้อมของพื้นที่ กรรมสิทธิ์ที่ดิน และราคาที่ดิน ทำให้การดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด 2.มีการประกวดราคาหลายครั้ง เนื่องจากผู้รับจ้างขาดคุณสมบัติ/ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา หรือมีผู้เสนอราคารายเดียว ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

3.เป็นรายการที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะหรือจัดหาจากต่างประเทศ และ 4.ส่วนราชการบางหน่วยไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ โดยอยู่ระหว่างขออุทธรณ์/ขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการหรือลงนามในสัญญาได้

เร่งจ่ายไทยนิยม 1.5 แสนล้าน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายภาพรวมในครึ่งปีงบประมาณแรก ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย การเบิกจ่ายก้อนใหญ่ อาจจะช้าไป ส่วนงบประมาณเพิ่มเติม หรืองบฯกลางปี 150,000 ล้านบาทนั้น จะต้องมีการเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลให้เบิกจ่ายลงไปในพื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นงบประมาณในโครงการไทยนิยมยั่งยืน

ตั้ง 62 ทีมกระทุ้งเบิกทะลุท่อ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาครัฐมีความพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในภาพรวมที่ 98% โดยแม้ว่าผลการเบิกจ่ายช่วง 6 เดือนแรกจะต่ำกว่าเป้าหมาย

“กรมบัญชีกลางตั้งทีมขึ้นมาถึง 62 ทีม เพื่อส่งไปติดตามเร่งรัดแก้ปัญหาการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ”

นางสาวกุลยากล่าวด้วยว่า หากพิจารณาในมุมต่อเศรษฐกิจมหภาค ยังมองว่า การเบิกจ่ายภาคสาธารณะ ปี 2561 นี้จะขยายตัวได้ 9-10% ต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ถึง 4.5% ต่อปี ผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ล่าสุด ถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2561 พบว่าภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 62.96% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ที่เบิกจ่ายได้ 50.71% โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 68.45% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ที่เบิกจ่ายได้ 54.03% และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 44.15% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ที่เบิกจ่ายได้ 34.45%

สนช.รับหลักการงบฯปี”62 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ถึงหลักการและเหตุผลการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายจ่ายประจำ 2,261,488.7 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 660,305.8 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,205.5 ล้านบาท

จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 1,060,869 ล้านบาท 2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน 764,128.8 ล้านบาท 3.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 487,791.4 ล้านบาท 4.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ 325,600.9 ล้านบาท 5.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 259,609.9 ล้านบาท 6.กลุ่มงบฯกลาง 102,000 ล้านบาทจำแนกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง 329,239.6 ล้านบาท 2. สร้างความสามารถในการแข่งขัน 406,496 ล้านบาท 3. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 560,884.9 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 397,581.4 ล้านบาท 5. ด้านการจัดการน้ำ 117,266 ล้านบาท 6. พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 838,422.2 ล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 350,109.9 ล้านบาท

ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น (อปท.) โดยให้เงินอุดหนุนแก่ อปท.ทั่วประเทศ 7,852 แห่ง วงเงิน 276,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 12,978 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาด้านการลงทุนสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าได้กระจายการจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 411,552.3 ล้านบาท ลงสู่พื้นที่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ 6 ภาคอย่างทั่วถึง