ตอกเข็ม “เวนคืน” ไฮสปีด 5 จว. เปิดข้อเสนอพิเศษ “ซีพี” เชื่อมสถานีเพิ่ม

เปิดข้อเสนอพิเศษกลุ่ม ซี.พี. สร้างส่วนต่อขยาย เส้นทางย่อยเชื่อมสถานีเพิ่ม แลกขอรัฐอุดหนุน ชี้ยังไม่ตอบโจทย์คณะกรรมการคัดเลือกรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขยายเวลาให้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมถึง 9 ม.ค. ก่อนเจรจาต่อรอง 15 ม.ค. รถไฟเดินหน้าเวนคืนที่ดิน 5 จังหวัด 850 ไร่ เร่งส่งมอบพื้นที่ตอกเข็มภายในปีนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้พิจารณาซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการของกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ผู้เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 119,425 ล้าน 2,198 ล้านบาท เบื้องต้นข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ จึงให้กลุ่ม ซี.พี.ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 9 ม.ค. 2562 เพื่อจะได้นำมาพิจารณาในวันที่ 15 ม.ค.นี้

“ยังเปิดเผยข้อเสนอที่กลุ่ม ซี.พี.บรรจุในซอง 4 ไม่ได้ ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ แต่มีทั้งที่รัฐให้และเอกชนขอเพิ่ม ถ้ากลุ่ม ซี.พี.มีข้อเสนอเพิ่มยังเสนอมาได้ ไม่ได้ปิดกั้น ที่คณะกรรมการให้ความสำคัญกับซอง 4 เพราะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ถ้าไม่ฟังเอกชนก็ไม่ใช่การร่วมทุน ตามหลักสากลจึงต้องเปิดให้เจรจากัน รัฐมีสิทธิ์ที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ต้องยึดประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ซึ่งรัฐไม่จำเป็นต้องออกเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากทีโออาร์ ยังมีวิธีการอื่น ๆ เช่น อำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ก็ได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม ซี.พี.เสนอให้รัฐการันตีผลตอบแทนหรือขยายเส้นทางเพิ่มหรือไม่ นายวรวุฒิกล่าวว่า เอกชนมีสิทธิ์จะเสนอได้ แต่รัฐก็มีสิทธิ์ไม่พิจารณาก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง คาดว่าจะเริ่มเจรจาหลังวันที่ 15 ม.ค. แต่ตอบไม่ได้ว่าจะเสร็จทันเซ็นสัญญาวันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท และเป็นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน รัฐจะเสียประโยชน์ไม่ได้ ด้านเอกชนก็ต้องต่อรองทางธุรกิจ หากเซ็นไม่ทันจะเสนอ ครม.รับทราบ

นายวรวุฒิกล่าวว่า เร็ว ๆ นี้คาดว่าจะเริ่มเวนคืนที่ดินได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งต้องเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง วงเงิน 3,570 ล้านบาทโดย 90% ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิม จะมีเวนคืนจุดใหญ่ที่ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ เพื่อสร้างสถานี ทางวิ่งและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) โดยจะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ หลังรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว

Advertisment

ส่วนการส่งมอบพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ หลังเซ็นสัญญาจะส่งมอบสถานีมักกะสัน 100 ไร่ พร้อมสถานีศรีราชา 25 ไร่ และอีก 50 ไร่ที่เหลือของมักกะสันจะทยอยส่งมอบใน 5 ปี เพราะยังติดรื้อย้ายรางรถไฟ

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอซองที่ 4ของกลุ่ม ซี.พี. ไม่ได้มีรายละเอียดการลงทุนที่ชัดเจนเหมือนกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง โดยเสนอเพียงว่าจะมีส่วนต่อขยายเส้นทางเพิ่ม และสร้าง Spur Line (เส้นทางย่อย) เชื่อมสถานี ขณะเดียวกันก็ขอให้รัฐชดเชยบางรายการ แต่ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูล ซึ่งรอให้กลุ่ม ซี.พี.เสนอเพิ่มเติม และต้องชี้แจงให้ได้ว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้มีประโยชน์ต่อโครงการและภาพรวมอย่างไร ทั้งนี้ ข้อเสนอพิเศษของกลุ่ม ซี.พี.ยังเป็นข้อเสนอที่ยังไม่ตรงกับที่รัฐต้องการ ซึ่งรัฐต้องการในรูปแบบเดียวกับส่วนต่อขยายสายสีชมพูกับสีเหลืองที่เอกชนจะลงทุนทั้งหมด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

Advertisment

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!