รื้อ TOR ประมูลแหลมฉบังเฟส3-ปลดล็อกข้อกังวลเอกชน-เปิดรายใหม่ยื่นเพิ่ม-ไร้เงาซี.พี.

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน และตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ ของโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ในเบื้องต้นเอกชนที่มาซื้อซองทั้ง 32 ราย มาร่วมฟังเกือบครบ

โดยการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการทำตามประกาศสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยการประกาศเชิญชวน วิธีประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือก หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนและข้อกำหนดมาตรฐานของร่างสัญญาร่วมทุน 2560 ที่ระบุว่า กรณีไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนใหม่อีกครั้งภายใน 7 วัน พร้อมกับพิจารณาทบทวนแก้ไขร่างทีโออาร์

สำหรับความคิดเห็นและข้อสงสัยของเอกชนมีหลายประเด็น อาทิเช่น ระยะเวลาการเตรียมเอกสารก่อนยื่นซองประมูล มีการเสนอหลากหลายระยะเวลา ทั้ง 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน โดยส่วนใหญ่เห็นว่า 2 เดือนยังเหมาะสมอยู่, วิธีคิดต้นทุนและการเสียภาษีโรงเรือน เอกชนสอบถามในหลายจุด เพราะมีความเข้าใจไม่ตรงกันในหลายประเด็น โดยคณะที่ปรึกษาได้ชี้แจ้งวิธีคิดและการเสียภาษีโรงเรือนแล้ว โดยการเสียภาษีโรงเรือนจะเป็นเรื่องที่เทศบาลนครแหลมฉบังเป็นผู้คิดและส่งให้กับผู้ชำระเอง

ขณะที่ประเด็นข้อกำหนดต่างๆ ในเอกสารทีโออาร์ เอกชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า มีบางข้อที่เข้มงวดเกินไป จึงได้ให้คณะกรรมการคัดเลือกรวบรวมความคิดเห็นในส่วนนี้ เพื่อนำไปแก้ไขในทีโออาร์ต่อไป แต่ขอไม่เปิดเผยว่าเอกชนเสนอให้แก้ข้อกำหนดในจุดใดบ้าง

ส่วนการเงินและหลักประกันต่างๆ เอกชนไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด เรื่องประสบการณ์ผู้ยื่นที่กำหนดไว้ว่าต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปี เอกชนมีความกังวลในประเด็นนี้เช่นกัน แต่ที่มีข้อกังวลมากที่สุดคือ การการันตีเรื่องความรับผิดชอบร่วมในฐานะผู้ร่วมทุนตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น พบว่าเอกชนแต่ละรายมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

โดยตัวแทนคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชี้แจงว่า กำลังดำเนินการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องอยู่ โดยจะรับความเห็นเอกชนไปประกอบการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่าจากการชี้แจงในวันนี้ น่าจะทำให้เอกชนคลายความกังวลลงได้บ้าง

รักษาการ ผอ.กทท. กล่าวต่อว่า เอกสารทีโออาร์จะต้องถูกปรับแก้แน่นอน แต่ไม่มากและไม่ได้อยู่ในส่วนสาระสำคัญ เป็นการปรับตามข้อกังวลของเอกชนและเพิ่มความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น โดยจะยึดภาษาไทยน้อยลง เพราะที่ผ่านมาร่างโดยยึดแบบภาษาไทยเป็นหลัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น

โดยหลังจากรับฟังความเห็นในช่วงเช้าไปแล้ว ในช่วงบ่ายวันนี้ (21 ม.ค.) คณะกรรมการคัดเลือกจะร่วมประชุมกันต่อทันที เพื่อเริ่มกระบวนการปรับแก้ทีโออาร์ใหม่ โดยเอกชนที่ซื้อซองอยู่แล้ว อาจจะไม่ต้องซื้อซองใหม่ แต่เอกชนที่เป็นรายใหม่จะต้องซื้อ เบื้องต้น ยังวางกรอบหลังประกาศเชิญชวนเอกชนที่ 60 วันเช่นเดิม แต่ในรายละเอียดทั้งหมดจะต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกสรุปก่อน

@ไร้เงา ซี.พี.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนในวันนี้ มีผู้มาร่วมรับฟังทั้งสิ้น 62 ราย จาก 32 บริษัท เช่น บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มิ นอล จำกัด (PTT Tank), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นต้น

ขณะที่เอกชนจากต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น China Railway Construction (Southeast Asia) Co. Ltd. (จีน), China Harbour Engineering Co.,Ltd (จีน), Mitsui & Co.,Ltd (ญี่ปุ่น), Itochu Corporation (ญี่ปุ่น) เป็นต้น แต่ไม่พบว่ามีรายชื่อจาก C.P. Holding Company มาร่วมรับฟังแต่อย่างใด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!