เมืองการบิน “อู่ตะเภา” สะดุด ซี.พี.ขอศาลคุ้มครองเปิดซองประมูล

ยังคงเป็นที่จับตา ที่สุดแล้วศาลปกครองกลางจะรับ-ไม่รับกรณีกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ. ธนโฮลดิ้ง (เครือ ซี.พี.) บจ.Orient Success International Limited บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง

ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท

หลังคณะกรรมการคัดเลือกโครงการมีมติไม่พิจารณาข้อเสนอ “กลุ่ม ซี.พี.” ที่ยื่นเพิ่มเติมภายหลัง เวลา 15.00 น.

“กลุ่ม ซี.พี.ยื่นข้อเสนอซอง 2 ด้านเทคนิคและซอง 3 ผลตอบแทนช้า 9 นาที ยื่นเวลา 15.09.24 น. ถือว่าผิดกติกาที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกมาจากหลายฝ่ายไม่รับพิจารณาซองที่ยื่นไม่ทัน จะพิจารณาเฉพาะซองคุณสมบัติที่ยื่นภายในเวลา แต่ ซี.พี.ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้เปิดซอง อย่าเพิ่งตัดสิทธิ คิดว่าจะทำให้การพิจารณาผลประมูลล่าช้าออกไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะต้องรอฟังคำตัดสินจากศาล” รายงานข่าวกล่าว

ขณะที่กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการ ทำหนังสือชี้แจงว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในทีโออาร์ เมื่อตรวจสอบเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติเสร็จแล้ว จะประกาศผลให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบและเชิญผู้ที่ผ่านการประเมินร่วมเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค

คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินข้อเสนอจนได้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกหลังเปิดซองที่ 2 ภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อเสนอแต่ละรายว่ามีมากน้อยเพียงใด ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ของทั้ง 3 ราย

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผลพิจารณาซองที่ 1 ของทั้ง 3 ราย เบื้องต้นมี 2 กลุ่มผ่านการพิจารณา คือ กลุ่ม ซี.พี. และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ซึ่งมีนาริตะจากญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารสนามบินให้

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า ซี.พี.เป็นผู้ดำเนินการยื่นซองข้อเสนอของโครงการทั้งหมด หากคณะกรรมการคัดเลือกไม่รับพิจารณาซองที่ทางกลุ่มยื่นล่าช้าไป เท่ากับต้องถูกตัดสิทธิจากการประมูล ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและคำตัดสินของศาลจะออกมายังไงถึงกรณีที่ยื่นช้าไป 9 นาทีมีนัยสำคัญหรือไม่

“สาเหตุที่ไปยื่นช้า วันนั้นการจราจรติดขัดมาก แต่ทางคณะกรรมการก็เซ็นรับไว้ทั้งหมด แต่ไม่พิจารณา ก็ต้องรอให้ศาลตัดสิน ก็น่าเสียดายเพราะราคาที่ทางกลุ่มยื่นเสนอน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐมาก”

ยังลุ้นระทึก หาก “ซี.พี.” ตกม้าตายเพราะมาไม่ทันเวลา งานนี้ “ค่ายเจียรวนนท์” คงจะเสียดายไม่น้อย

เพราะกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรวาดแผนพัฒนาโครงการไว้สวยหรูเป็นแพ็กคู่กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หวังให้เป็นธุรกิจเกื้อหนุนกันและกันในอนาคต

ซึ่งโปรเจ็กต์เมืองการบินอู่ตะเภา “ซี.พี.” ใช้โมเดลลงทุนเดียวกับรถไฟความเร็วสูง คือ ซี.พี. ถือหุ้น 70% ที่เหลือเป็นพันธมิตร อาทิ อิตาเลียนไทยฯ 5% บี.กริมฯ 10% และ ช.การช่าง

มีบริษัทญี่ปุ่นมาออกแบบ และมี บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide จากเยอรมนี เป็นโอเปอเรเตอร์สนามบิน

วางคอนเซ็ปต์ให้ “อู่ตะเภา” เป็นสนามบินนานาชาติและแอร์พอร์ตซิตี้ธุรกิจไมซ์ (MICE) แข่งกับสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์

บนพื้นที่ 6,500 ไร่ แบ่งพัฒนาธุรกิจด้านการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน คาร์โก้ อาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน มี ช.การช่าง และอิตาเลียนไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง

และให้ “แมกโนเลีย” พัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่โดยรอบ เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และร่วมกับคิง เพาเวอร์พัฒนาดิวตี้ฟรี มี บี.กริมฯซัพพอร์ตระบบพลังงานและซีเมนส์ซัพพลายส่วนรถไฟฟ้า APM วิ่งบริการภายในโครงการ

ยกระดับ “อู่ตะเภา” กลายเป็นฮับการบินของภูมิภาค