ครม.ไฟเขียวรถไฟไทย-จีน “บิ๊กตู่”ปลื้มไฮสปีดเทรนสายแรก เคาะราคา “กทม.- โคราช” แค่ 535 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน อยากให้เรียกว่าโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูง กทม. – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วง กทม.- นครราชสีมา ซึ่งรถไฟความเร็วสูงต้องสอดคล้องทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย ตามแผนการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไปสู่ประเทศอื่นๆ เราต้องพัฒนาการขนส่งทางรางของเรา วันนี้มีเพียงรางรถไฟ 1 เมตรอยู่เส้นเดียวตลอด ต้องไปดูว่าควรต้องมีทางคู่หรือไม่ เพื่อให้มีอีกเส้นทางที่สวนได้

ลงทุนเองเพราะกลัวจีนผูกขาด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เส้นทาง กทม. – นครราชสีมา ถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรก ซึ่งไทยได้เลือกวิธีจีทูจีกับจีน เพราะตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีจีนว่าจะลงทุนร่วมไหม ฝ่ายจีนบอกว่าต้องมีบริษัทมาบริหารอยู่ในไทย และต้องดูแลผลประโยชน์เส้นทางทั้งหมด เราบอกว่าเราลงทุนเองดีกว่าไม่เช่นนั้นเรากลัวการผูกขาดสองข้างทาง จึงมีแผนก่อสร้างทางรถไฟ แผนบริหารสินทรัพย์สองข้างทาง ซึ่งไทยจ้างจีนมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้เราเรียนรู้เทคนิคควบคุมเองได้ในอนาคต ส่วนใช้คนงานไทยบริษัทไทยในการก่อสร้าง ผลประโยชน์จะไปที่ไหน บริษัทไทยจะได้ประโยชน์ ตอนนี้เราไม่ได้ให้เขาสักอย่างเป็นรูปแบบที่ตกลงกันแล้ว ให้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ไม่คิดสั้นทำแค่ กรุงเทพ-โคราช

“เส้นทางนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีสมองสร้างเฉพาะโคราช แต่ทั้งเส้นให้โคราชออกก่อน มีจุดที่สร้างได้ทันทีคือสถานีกลางดง เป็นจุดเริ่มต้นไม่มีคนบุกรุก ไม่มีปัญหาเรื่องป่าเขา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างแล้ว ปี 2564 เปิดดำเนินการได้ และระยะที่สองโคราชหนองคาย ใครที่มาวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่เคยคิดสั้นขนาดนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ใช้งบรายปี – รฟท.กู้เงินในประเทศ

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. – หนองคาย ช่วงที่ 1 กทม. – นครราชสีมา วงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าดำเนินการทั้งหมด โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และ/หรือ กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศตามความเหมาะสม โดยให้ รฟท.เป็นผู้กู้ ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494

ไม่ทำจะตกขบวน เสียโอกาสทาง ศก.

ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็น เพื่อปฏิรูปรถไฟไทยครั้งสำคัญ มีความสำคัญต่อประเทศไทยในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ หากประเทศไทยไม่ลงทุนจะทำให้เสียโอกาสครั้งสำคัญในการเข้าสู่โครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลของจีนเชื่อมโยงยุโรป เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ซึ่ง.โครงการดังกล่าวมีเส้นทางรถไฟ 53,700 กิโลเมตร และดำเนินได้ครึ่งหนึ่ง ถ้าไทยไม่ก่อสร้างเส้นทางสายนี้ โอกาสเข้าเชื่อมโยงโครงข่ายดังกล่าวจะหายไป และทำให้ประเทศไทยตกขบวนได้ ไม่ได้รับโอกาสที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ

เชื่อมโยงพื้นที่ ศก.ในประเทศ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นในการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจไทยเข้าด้วยกัน เพราะเป็นการโยงเครือข่ายการพัฒนา อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ต่อไปขอนแก่น หนองคาย และจะเชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดโอกาสการค้าการลงทุน สุดท้าย เป็นการเชื่อมโยงไทยเข้ากับภูมิภาคโดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาค เมื่อเชื่อมต่อกันแล้วจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจากไทยถึงจีนระยะทาง 1,800 กิโลเมตร ในไทยเส้นทาง 647 กิโลเมตร ลาว 440 กิโลเมตร และจีน 777 กิโลเมตร

เคาะราคา กทม.-โคราช แค่ 535 บาท

“ระยะทางที่ไทยจะสร้างก่อนคือ กทม.- นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนแรกของโครงการ มี 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง นครราชสีมา มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่อำเภอเชียงรากน้อย ประกอบด้วย 6 ขบวน วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง บรรจุคนได้ 600 คนต่อขบวน ใช้เวลาจาก กทม.ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 17 นาที ปีแรกที่จะดำเนินการในปี2546 จะมีผู้ใช้บริการ 5,300 คน/วัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ที่เดินทางไปกลับ กทม.-นครราชสีมา ในปัจจุบันที่มีอยู่ 20,000 คน โดยมี 11 ขบวน/วัน วิ่งทุกๆ 90 นาที และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการ อย่างน้อย 26,800 คน/วัน และจะมีรถไฟ 26 ขบวน วิ่งทุก 35 นาที ค่าโดยสาร คิดที่อัตรา 80 บาท บวก1.8 บาท/กิโลเมตร เช่น กทม.-สระบุรี ราคา 278 บาท กรุงเทพ-ปากช่อง 393 บาท กรุงเทพ-นครราชสีมา 535 บาท เทียบเคียงกับค่าโดยสารรถบัสประจำทาง 200 บาท จะทำให้ผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วเลือกช่องทางดังกล่าวต่อไป” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ตั้งงบเวนคืน 2 พันไร่ 212 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ต่อไปจะมีช่วงที่สองนครราชสีมา – หนองคาย และช่วงที่สาม คือ แก่งคอย – มาบตาพุด ทั้ง 3 ช่วงจะเป็นการพัฒนาที่ตั้งใจเกาะเส้นทางรถไฟเดิมให้มากที่สุด โดยช่วงแรก กทม.- นครราชสีมา หากมีการต้องเวรคืนพื้นที่ เพื่อให้ตีโค้งได้ดีและสามารถขับเคลื่อนความเร็วได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีพื้นที่เวรคืน 10-15เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,815 ไร่ แบ่งเป็น สถานีบางซื่อ 818 ไร่ และ บ้านภาชี 1,997 ไร่ ใช้งบเวรคืน 212 ล้านบาท

คุ้มค่าลงทุน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผลประโยชน์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตกอยู่ที่ 8.56 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคิดผลประโยชน์ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบๆ จะทำให้ผลประโยชน์ 11 เปอร์เซ็นต์ เป็นการคำนวณเฉพาะ กทม.- โคราชเท่านั้น ไม่ได้คำนวณไปถึง กทม.-หนองคาย ไปจีน ซึ่งเป็นการคุ้มค่าการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนรวม