“ถาวร” สั่งการบินไทยคิดใหม่ อย่าให้ขาดทุนซ้ำซากเพราะซื้อฝูงบิน

กลายเป็นหนังคนละม้วน พลันที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวง จากพรรคภูมิใจไทย เปิดไฟเขียวให้การบินไทยสายการบินแห่งชาติเร่งเสนอแผนซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ส.ค.นี้

หลังได้ประชุมติดตามโครงการขนาดใหญ่และไม่ติดใจแผนจัดซื้อที่การบินไทยเสนอทั้งขนาด ราคา และแผนการกู้เงินมาดำเนินการ

ในวันนั้น “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำกับเจ้าจำปีโดยตรง ไม่ได้ร่วมประชุม ติดภารกิจที่ภาคใต้ แต่ได้ส่งทีมงานเข้าร่วม

ถัดมาไม่กี่วัน “ถาวร” ตั้งโต๊ะแถลง ระบุว่าโครงการนี้กำลังให้การบินไทยทบทวนแผนซื้อฝูงบินให้รับกับสถานะการเงินที่ยังประสบปัญหาขาดทุน

แผนซื้อฝูงบินยังไม่หายครุกรุ่นดี ล่าสุด เจอปม “ทอท.-ท่าอากาศยานไทย” เปลี่ยนแผนกลางอากาศ ขอดึง 4 สนามบินของ “กรมท่าอากาศยาน” ที่กำกับไปบริหาร หนึ่งในนั้นมีสนามบินกระบี่เป็นหัวใจหล่อเลี่ยงกรมท่าอากาศยานรวมอยู่ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รมช.ถาวร” อนาคตการบินไทยในยุคนักการเมือง-อัยการรุ่นเก๋า วัย 72 ปี จากถิ่นสะตอ

Q : บทสรุปแผนซื้อเครื่องบิน

การบินไทยเป็นองค์กรที่รัฐมนตรีใช้นโยบายแค่กำกับ ส่วนนโยบายการซื้อเครื่องบิน การตลาด ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) 15 คนและดีดี (สุเมธ ดำรงชัยธรรม) จะช่วยกันทำนโยบายขึ้นมา การซื้อเครื่องบินเมื่อปี 2554 มติ ครม.ให้ซื้อ 75 ลำ หลังเปลี่ยนเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ซื้อ 37 ลำ เหลือ 38 ลำ ที่กำลังจะซื้อ ซึ่งบอร์ดและดีดีเห็นตรงกันว่าซื้อเครื่องบินใหม่เพื่อให้บินไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน บริการประชาชน และนักท่องเที่ยว

ผมตั้งข้อสังเกตว่าขนาดของเครื่องบินที่จะซื้อลอตใหม่ขอให้เหมาะกับรูตการบิน เพราะส่วนใหญ่เป็นพิสัยแคบมากกว่าพิสัยไกล ก็ให้ไปดูใหม่ จากแผนเดิมที่ผ่านบอร์ดแล้ว จำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท เป็นการเช่าซื้อ แยกเป็น 2 ช่วง ในช่วงที่ 1 ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ วงเงิน 78,614 ล้านบาท

ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-374 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ วงเงินลงทุน 71,874 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง 8 เครื่องยนต์ วงเงินลงทุน 6,740 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 ปี 2563-2569 จัดหาเครื่องบินแบบ option order จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแบบ A380-800 และ B777-200ER

Q : ให้ดูการนำเครื่องเก่าไปเทิร์นใหม่

ให้ไปคิดมีเครื่องบินพิสัยไกลจะต้องซ่อมใหญ่ 20 ลำ เสียค่าซ่อมแพง และผู้โดยสารต้องการนั่งเครื่องบินลำใหม่ หากนำเครื่องเก่าไปเทิร์นอาจจะประหยัดเงิน ซึ่งการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน เราสั่งอย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ใช่เจ้าของบริษัท แต่แค่กำกับดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง จึงให้การบินไทยและบอร์ดไปคิดรอบคอบ แนวคิดนี้ทำได้ไหม อย่าให้การบินไทยต้องขาดทุนซ้ำซากเพราะการซื้อเครื่องบิน ผมสั่งให้ทบทวนการตัดสินใจ ไม่ได้ขัดขวาง เมื่อคิดได้แล้วก็ให้แจ้งมาโดยเร็วที่สุดก่อนที่จะนำเรื่องนี้เข้า ครม.

การซื้อเครื่องบินจะถูกหรือแพงมี 4 ปัจจัย 1.body 2.เครื่องยนต์ 3.เครื่องตกแต่งภายใน เช่น ที่นั่ง เบาะ เก้าอี้ 4.อุปกรณ์เกี่ยวกับครัว ซึ่ง 4 เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดได้ว่าเครื่องบินถูกหรือแพง จะเอาสเป็กอะไร มันหลายเรื่อง มันมีรายละเอียด ไม่ใช่ซื้อเครื่องบินมาลำละ 100-200 ล้านบาทก็จบ คุณต้องโปร่งใส ซื้อให้ตรงกับความต้องการที่จะใช้งาน ทำกำไรให้ได้ในรูตนั้น ๆ

Q : เสนอ ครม.ไม่ทัน ส.ค.

ถูกต้องเพราะผมไม่เออออห่อหมกตามเขาหมดนะ ถ้าตามเขาก็เสร็จเร็วเข้า ครม.เร็ว แต่ผมเห็นว่า ต้องเอาเข้าบอร์ดวันที่ 27 ส.ค. เท่ากับเรื่องตั้งต้นใหม่ที่การบินไทย หากจะส่งเรื่องนี้ไปที่กระทรวงคมนาคมก็ต้องผ่านปลัดกระทรวง มาถึงผม จึงส่งให้ท่านว่าการ ก่อนจะส่งไปที่การบินไทยใหม่ นำเสนอต่อเลขาฯ ครม. เพื่อสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเดือน ส.ค.ไม่น่าทัน น่าจะเป็นเดือน ก.ย.นี้

ให้การบ้านเขาไปคิดถ้าเส้นทางบินไปนอร์เวย์ สวีเดน ลอนดอน ใช้เครื่องบินแบบไหน พิสัยไกลเท่าไหร่ จะซื้อเครื่องบินลำตัวแคบมาใช้ก็ไป คำนวณต้นทุน กำไร ยอดขาย กลยุทธ์ให้ดีที่สุด เพราะการทำสายการบิน สำคัญที่สุดคือ ฝ่ายกลยุทธ์ การตลาด ต้องจับมือกันคิด ฝ่ายกลยุทธ์ต้องคิดว่า จะซื้อเครื่องบินแบบไหน วิ่งเส้นทางไหน การซ่อมบำรุงเป็นยังไง เครื่องบินขนาดนี้ ที่นั่งเท่านี้ วิ่งเส้นทางนี้ จะได้กำไรไหม คุ้มทุนไหมพอกลยุทธ์เสร็จก็มาดูการตลาด ทำแผนขายตั๋ว ถ้าจริงใจกับองค์กรต้องกลับไปคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดในวันเดียวเสร็จ นี่คือการบ้านที่การบินไทยต้องรอบคอบมากขึ้น ไม่ใช่ขอ 38 ลำพิสัยไกลใกล้ เท่านั้นลำเท่านี้ลำ

Q : หากผลงานไม่เข้าเป้าจะเปลี่ยนดีดีไหม

ดูสัญญาจ้างก่อนว่าเขาทำได้ตามเป้าไหม ไม่ใช่ดูว่าใกล้หมดสัญญาหรือยัง เวลาจ้างคนเงินเดือน 800,000 บาท ต้องมีการวัด KPI

Q : กรณี ทอท.ขอบริหารสนามบินกระบี่และบุรีรัมย์

กรมท่าอากาศยานได้ชี้แจงผลกระทบผลได้ผลเสีย ตอนนี้รัฐมนตรีขอดูห่าง ๆ ใจเย็น ๆ สิ่งสำคัญคือ ทรัพย์สินของรัฐโอนไปให้บริษัทมหาชนที่มีพ่อค้านักธุรกิจจากไหนไม่รู้มานั่งเป็นผู้ถือหุ้น น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ

Q : ภารกิจอะไรที่อยากเห็นผลงาน 2-3 เดือนนี้

ตอนนี้อยากเร่งรัดการสร้างสนามบินภูมิภาคให้เสร็จตามเป้าก่อน เช่น สนามบินนครศรีธรรมราช เบตง จะเห็นต่อไปคือ การอนุมัติซื้อเครื่องบินของการบินไทย ต้องโปร่งใสและเป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับสายการบินที่มีสโลแกนว่า “รักคุณเท่าฟ้า” จะได้เห็นเลยว่า จะกำกับยังไงให้อยู่ในแนวทางที่ประชาชนสบายใจ คนอาจจะจับต้องไม่ได้ แต่วงเงินกว่า 1.56 แสนล้านบาท ที่เป็นเงินของบริษัทที่คลังถือหุ้น 50% และกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้น 15% ผมดูแลบริหารจัดการกำกับดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติได้มากน้อยขนาดไหน และจะไม่ทำให้สายการบินนี้ขาดทุนอีกต่อไป แถมจะได้กำไรขึ้นมาจะทำอย่างไร ? นอกจากนี้จะเดินหน้าการเชื่อมโลกเชื่อมไทยสู่เมืองรอง ส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับสนามบินภูมิภาค 29 สนามบิน

Q : เปลี่ยนจุดสร้างสนามบินนครปฐมใหม่

ขอให้นำข้อร้องเรียนผลกระทบจากการเวนคืน วัฒนธรรมประเพณี การคุ้มทุนการลงทุน ประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนทุกด้าน จากเดิมที่ปรึกษาเสนอให้สร้างที่ อ.บางเลน และ อ.นครชัยศรี บนพื้นที่ 3,500 ไร่ ผมไม่ขัดข้องจะพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ แต่กรมท่าอากาศยานก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ ทราบว่าพื้นที่ อ.กำแพงแสน ยังมีสนามบินของกองทัพอากาศ ให้ดูว่าจะขอเพื่อการพาณิชย์เพิ่มได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ