เค.อี.กรุ๊ป แปลงโฉมเข้ากองรีทรีเทล BKER โตก้าวกระโดด-สินทรัพย์ 11,300 ล้าน

ศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์

กลุ่มบริษัท เค.อี. จับมือหลักทรัพย์จัดการบัวหลวง ตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ คอมมิวนิตี้มอลล์ รีท บีเคอีอาร์ (BKER REIT) “BKER” มูลค่า 11,300 ล้านบาท ขึ้นแท่นใหญ่อันดับสองด้วยขนาดกองรีทประเภทรีเทล รวมพันธมิตร 10 ห้างดังเมืองไทย พร้อมแปลงสภาพ คริสตัล พรอพเพอร์ตี้ ฟันด์ ให้ผู้ถือหุ้นเดิมและให้สิทธิซื้อกอง REIT ใหม่ BKER ตั้งเป้าเติบโตปีละ 30%

ศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เค.อี. กล่าวว่า ปลายปี 2562 จากการจัดตั้งกองรีท BKER จะมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 11,300 ล้านบาท คาดว่าเติบโตในอนาคตได้ปีละกว่า 30% ด้วยการซื้อสินทรัพย์ประเภทไลฟ์สไตล์ คอมมิวนิตี้มอลล์ ปีละไม่น้อยกว่า 3-5 แห่ง

กองรีท BKER จัดตั้งโดยกลุ่มบริษัท เค.อี. เจ้าของศูนย์การค้าซีดีซี คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, เดอะคริสตัล และโครงการบ้านหรู อาทิ คริสตัล พาร์ค, แกรนด์ คริสตัล ร่วมกับบริษัท หลักทรัพย์จัดการบัวหลวง จำกัด โดยแปลงสภาพ Crys-tal property fund ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 4,000 ล้านบาท เป็น real estate investment trust หรือ REIT และนำสินทรัพย์อื่น 10 โครงการ ได้แก่ ซีดีซี คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา, เดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์, อมอรินี รามอินทรา, แอมพาร์ค จุฬา, เพลินนารี มอลล์ วัชรพล, สัมมากร รามคำแหง-รังสิต-ราชพฤกษ์ และเดอะซีน พื้นที่รวม 498,365 ตารางเมตร มีพื้นที่ขาย 170,000 ตารางเมตร

จุดเด่นกองรีท BKER คัดเลือกซื้อสินทรัพย์รูปแบบ lease hold แนวคิด 3 ข้อหลัก 1.ทำเลดีกำลังซื้อสูง 2.สินทรัพย์มีคุณภาพ 3.ผู้เช่ามีศักยภาพ อนาคตขยายการบริหารศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิตี้มอลล์ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

กวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เค.อี. กล่าวเพิ่มถึงแนวคิดทางการเงินของกองรีทรีเทลที่เป็นไลฟ์สไตล์ คอมมิวนิตี้และเนเบอร์ฮูดมอลล์ มีความน่าสนใจในการลงทุนเนื่องจากเติบโตแบบ organic growth คือมีการเพิ่มขึ้นของ occupancy และอัตราค่าเช่า เสริมด้วยการลดต้นทุนจาก economy of scale ตลอดจน synergy

Advertisment

ทั้งเติบโตแบบ acquisition growth โดยซื้อสินทรัพย์คุณภาพทั้งในและต่างประเทศ

“ภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสนใจกับผลตอบแทนประเภทเงินปันผล ซึ่งการคัดเลือกโครงการเข้ามาในกองรีท BKER ให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้ง ผลประกอบการ และโอกาสการสร้างรายได้ มองทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว การปรับผังเมือง การอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าของโครงการที่อยู่ในกองรีท BKER ย่อมส่งผลดีต่อเนื่อง คาดว่ากองรีท BKER จะมีมูลค่าสินทรัพย์ใหญ่เป็นท็อป 2 ของภาพรวมรีทที่เป็นธุรกิจรีเทลของประเทศไทย”

จากข้อมูล CBRE พบว่า ธุรกิจรีเทลในกรุงเทพฯมีพื้นที่รวม 7.7 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นช็อปปิ้งมอลล์จากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯและผู้ประกอบการรายใหญ่ 3.55 ล้านตารางเมตร ที่เหลือเป็นโครงการของผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก 4.16 ล้านตารางเมตร ล่าสุด ณ ไตรมาส 1/62 คอมมิวนิตี้มอลล์ที่มีคุณภาพดี (prime assets) มีอัตราการเช่า (occupancy rate) 95% ปัจจุบันคอมมิวนิตี้มอลล์มีร้านที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบอีคอมเมิร์ซ (online at risk) 20% เมื่อเปรียบเทียบกับ 40-50% สำหรับ enclosed mall ทั่วไป

โดยกลุ่ม เค.อี. มีแนวทางบริหารกองรีท BKER ได้แก่ การวางกลยุทธมอลล์ บริหารพื้นที่ขาย customized strategy เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละทำเล การใช้ระบบ Yardi ซอฟต์แวร์บริหารศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในโลกจากอเมริกา ซึ่งระบบนี้บริหารพื้นที่ 1 ล้านล้านตารางเมตร ใน 80 ประเทศ เค.อี.จึงเป็นบริษัทแรกของไทยที่นำระบบนี้เข้ามาใช้

Advertisment

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ application ทันสมัยที่สุดด้าน customer management ได้แก่ การให้ส่วนลดบนระบบแอป การสะสมแต้มที่ทำได้ง่ายที่สุด การชิงรางวัล และอีกมากมาย พร้อมเปิดให้ใช้บริการในปลายปีนี้, ระบบ Crystal Club เก็บฐานข้อมูลเชิงลึกลูกค้า, ระบบ data analytic agora pulse วิเคราะห์การใช้สื่อดิจิทัลของแต่ละศูนย์พร้อมกัน และระบบเปรียบเทียบกับศูนย์การค้าอื่น, free WiFi เพื่อความสะดวกสบายให้กับลูกค้า, ระบบ operation man-agement เพิ่ม efficiency ลด cost management ของศูนย์ ทั้งด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรและด้านอื่น ๆ จะเห็นว่าข้อได้เปรียบหลักในการบริหารศูนย์ คือ การมี synergy ในทุกด้าน

ในด้านผู้เช่าร้านค้า เค.อี.ได้เน้นบริการเวอร์ติเคิลในการขยายและเติบโตไปในอนาคตอย่างเป็นระบบ 5 แนวทางหลัก 1.จัดทำ tenant financing package ร่วมกับธนาคารชั้นนำ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ให้สินเชื่อธุรกิจ 2.ระบบซอฟต์แวร์บัญชี MAC 5 เชื่อมโยงตรงกับระบบ POS จากบริษัท ดับเบิ้ลไพน์ จำกัด มีความเชี่ยวชาญในระบบร้านอาหารและรีเทล 3.ระบบการชำระเงินออนไลน์ ร่วมมือกับโอมิเซะเป็นที่ปรึกษาทำระบบชำระเงินที่สะดวกและรวดเร็วให้กับผู้ซื้อ

4.ระบบเทคสตาร์ตอัพ ร่วมกับบริษัทเทคชั้นนำ อาทิ แกร็บ ไลน์ ตลอดจนนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาออฟไลน์ อาทิ เตรียมจับมือกับสตาร์ตอัพดัง 2 แห่งด้านผู้รับเหมา สั่งซื้อสินค้าประเภทวัสดุและตกแต่ง 5.ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้แก่ จัดสัมมนาให้ความรู้คู่ค้าในด้านต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ การวางแผนการลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้เปิดบริการฟรี “ซีดีซี เซอร์วิส-Personal Shopper” ให้คำแนะนำเลือกซื้อสินค้าวัสดุและของตกแต่ง, ตั้งศูนย์กลางความรู้เรื่อง GREEN, LEED, WELL และสถาบันชั้นนำ ล่าสุดซีดีซีเป็นศูนย์กลางการตกแต่งที่เดียวในทวีปเอเชีย รวบรวมสินค้าแบรนด์เบอร์หนึ่งของโลกครอบคลุมทุกประเภทสินค้า อาทิ หินอ่อนจากแบรนด์อันดับหนึ่งอิตาลี หินประดับยุโรปรุ่นพิเศษจากเหมืองดัง คริสตัลแชนเดอเลียจากอียิปต์ พรมจากเบลเยียม สุขภัณฑ์โคห์เลอร์แบรนด์อันดับหนึ่งของอเมริกา

ทั้งยังมี flagship store ของผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจตกแต่งและก่อสร้าง อาทิ กลุ่มสีจระเข้ ไม้ซีเมนต์คอนวูด หินนำเข้าจากยุโรป โชว์รูมสุขภัณฑ์โคห์เลอร์ โชว์รูมนวัตกรรมโตโต้ จากญี่ปุ่น และเอส บี ดีไซน์สแควร์ เป็นต้น

กลุ่มบริษัท เค.อี.ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี และแนวคิดสตาร์ตอัพระดับโลก ได้เซ็นสัญญาเป็น 1 ใน 4 founding corporate partner (กลุ่ม เค.อี., ปตท., ไทยออยล์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ-BDMS) กับบริษัท Plug and Play Tech Center ซึ่งเป็น tech ecosystem ใหญ่ที่สุดในซิลิคอนวัลเล่ย์ แคลิฟอร์เนีย เป็นนักลงทุนรุ่นก่อตั้งของ Google, Paypal และ Dropbox ฯลฯ คาดว่าเทคด้านรีเทล พร็อพเพอร์ตี้ และด้านอื่น ๆ จะสามารถนำมาพัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยให้ก้าวไกลไปกับเทคโนโลยี