“ศักดิ์สยาม”ดีเดย์มี.ค. ชง “บิ๊กป้อม” เคาะซิ่ง120-คุม10ล้อเข้ากรุง” คิกออฟเม.ย.นี้

“ศักดิ์สยาม” ชง 2 นโยบาย “อัพสปีดรถ 120 กม./ชม. – คุมรถบรรทุกเข้ากรุง” ให้ คจร.เคาะ มี.ค.นี้ คาดบังคับใช้อัพสปีด เม.ย.นี้ พบมีรถบรรทุกใหญ่เข้ากรุงเดือนละ 1.2 หมื่นคัน จ่อวาง 3 มาตรการคุม พร้อมสั่ง สนข.ประสานกม.-ตำรวจ-ผู้ประกอบการ หารือให้สะเด็ดน้ำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ได้ประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของนโยบายที่เคยสั่งการไว้ มี 2 นโยบายด้วยกันคือ

@ชงอัพความเร็ว 120 เข้า คจร. มี.ค.นี้

1. นโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. พิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ทางหลวง 2563

โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็น 120 กม./ชม. และกำหนดประเภทถนนที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้ ประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป เฉพาะถนนที่มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน

ตลอดจนกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดในช่องขวาให้ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วไว้ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับขี่ในอัตราที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจร ขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำประชาพิจารณ์แนวทางดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

@เริ่ม เม.ย.นี้ประเดิมสายเอเชีย

เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน เกิดประโยชน์สูงสุดกับความปลอดภัยของประชาชน ก่อนนำเข้าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาในช่วงเดือน มี.ค. คาดว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศใช้ได้ในเดือน เม.ย.นี้ จะนำร่องในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน–แยกหลวงพ่อโอ แต่อยู่ระหว่างกำหนดช่วงเส้นทางที่เหมาะสมอยู่

สำหรับกฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดความเร็วสูงสุดที่รถประเภทต่างๆ ไว้ดังนี้

1.รถบรรทุกขนาดตัวรถ 2,200 กก.ขึ้นไป และรถโดยสารที่บรรจุคนเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.

2.รถสี่ล้อเล็ก รถสามล้อ รถลากจูงรถอื่น ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 65 กม./ชม.

3.รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม.

4.รถมอเตอร์ไซค์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ 35 กิโลวัตต์ หรือมีความจุกระบอกสูบ 440 ลบ.ซม. ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 ก./ชม.

5.รถโรงเรียน ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม.

6.รถที่มีผู้โดยสารตั้งแต่ 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม./ชม.

ส่วนรถอื่นๆนอกจากนี้ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.

@คุมเวลารถบรรทุกเข้าเมือง

และ 2.การพิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ตั้งแต่เวลา 24.00 – 04.00 น. สนข.รายงานข้อมูลสะสมของรถบรรทุกในช่วง 1 เดือน (1 – 31 ต.ค. 2562) พบว่ามีจำนวนรถบรรทุกทั่วประเทศทั้งหมด 362,398 คัน/เดือน และพบว่ามีรถบรรทุกวิ่งบน ถ.กาญจนาภิเษก จำนวน 12,600 คัน/เดือน โดยช่วงที่มีปริมาณรถบรรทุกสะสมสูงสุดอยู่ที่เวลา 04.20 – 05.10 น.

“เบื้องต้น กำหนดให้ถนนภายนอกเขตพื้นที่ ถ.กาญจนาภิเษก สามารถให้รถบรรทุกเข้ามาวิ่งได้ 24 ชั่วโมง ยกเว้นถนนเข้า-ออกเมืองสายสำคัญที่อนุญาตให้วิ่งได้ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 10.00 – 15.00 น. และช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. คือ ถ.บรมราชชนนี – แยก ถ.พุทธมณฑลสาย 4, ถ.เพชรเกษม ถ.พระราม 2 ถ.สุวินทวงศ์ และ ถ.นิมิตใหม่ “

ส่วน ถ.กาญจนาภิเษก อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งได้ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 10.00 – 15.00 น. และช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น ส่วนถนนในเขตพื้นที่วงแหวนรอบนอก อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งได้เฉพาะเวลา 24.00 – 04.00 น.

ยกเว้น ถ.เกษมราษฎร์ และ ถ.อาจณรงค์อนุญาตให้วิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามข้อผ่อนผันปัจจุบัน (เพื่อกิจการของท่าเรือกรุงเทพ) และทางพิเศษ จะอนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งได้ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 21.00 – 06.00 น.

“ได้มอบให้กรมทางหลวง พิจารณาแนวทางจัดทำ Rest Area ให้ห่างจากถนนไม่ต่ำกว่า 1 กม.”

@ขนส่งวัสดุก่อสร้างมากสุด

สำหรับลักษณะของกลุ่มรถบรรทุกที่เข้ามา จะขนส่งวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก รองลงมา คือ ขนส่งน้ำมันและเชื้อเพลิง และขนส่งสินค้าตามลำดับ จึงให้ สนข.นัดผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มา workshop เพื่อแก้ปัญหาจราจรและ PM2.5 ร่วมกัน โดย สนข.ได้วางมาตรการแก้ปัญหาไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วย

1.รถบรรทุกผัก-ผลไม้ ในระยะเวลา 1 ปี จะให้ขนส่งเข้ามาถึงบริเวณตลาดไทเท่านั้น โดยสามารถเข้ามาได้ตลอด 24 ชม. จากนั้นระยะกลาง 3 ปี จะต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ควบคุม

2.รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ระยะสั้น 1 ปี จะอนุญาตให้รถที่เข้ามาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ใช้เส้นทางถ.อาจณรงค์และเกษมราษฎร์ในการขนส่งสินค้าได้ตลอด 24 ชม. และให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับปรุงระบบบริหารจัดการภายใน ให้ใช้เทคโนโลยี IT NSW เข้ามาช่วย และระยะยาว 5 ปี จะต้องเปลี่ยนบทบาทท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยว และโยกย้ายการขนส่งสินค้าทั้งหมดไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

และ 3.รถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ใน 1 ปี รถบรรทุกคอนกรีตผสมเสร็จวิ่งได้ระหว่างเวลา 10.00 – 15.00 น. โดยให้ สนข.เชิญ กทม.และผู้ประกอบการที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่มาคุยกัน และให้เจรจากับผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ย้ายโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ (Plant) เข้าไปอยู่ในไซต์ก่อสร้าง

หากมีความต้องการใช้ปูนที่เกินกำลังการผลิตจาก plant ให้ทำเรื่องขออนุญาตเป็นครั้งคราวไป ส่วนระยะกลาง 3 ปีให้ใช้รถขนส่งขนาดเล็กที่ใช้พลังานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะให้วิ่งตลอด 24 ชม.

จะมีการเสนอในที่ประชุม คจร. ให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกันกับมาตรการเพิ่มความเร็ว 120 กม./ชม.ในช่วงเดือน มี.ค.นี้