ผุดโครงข่ายทะลวงสายสีแดง ดึง ปตท.-SCG เดินรถเมล์ไฟฟ้าป้อน “สถานีกลางบางซื่อ”

กำลังนับถอยหลังเปิดหวูดรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในเดือน ม.ค. 2564 มี “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ดำเนินการโครงการ

ลุ้นเปิดทัน-ไม่ทัน ม.ค. 64

ถึงงานก่อสร้างโดยรวมใกล้เสร็จ 100% ยังต้องลุ้นการเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ในเมื่องบฯก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท และการอัพเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกเพื่อบริการสายสีแดงก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ

ขณะที่การบริหารพื้นที่ “สถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์การเชื่อมต่อการเดินทางระบบราง ก็ยังไม่ได้เริ่มตั้งไข่

เร่งเชื่อมจราจรโดยรอบบางซื่อ

ล่าสุดมีแต่แผนบูรณาการจัดจราจรเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ โดย นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการจราจรเพื่อรองรับการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 2564 นี้ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบจำลองสภาพจราจรพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ จะเร่งรัดการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะก่อน

ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่กำกับดูแลโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการทำทางเชื่อมบริเวณสถานีบางซื่ออยู่แล้ว และเร่งรัด ร.ฟ.ท.ดำเนินการสร้างสกายวอล์กเชื่อมจากสถานีหมอชิตของบีทีเอส

ผุดฟีดเดอร์รถเมล์ไฟฟ้า-BRT

แต่เพื่อความรวดเร็ว ได้ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อกับสถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักร และสถานี BTS หมอชิต

โดยให้เปิดสัมปทานการเดินรถรูปแบบรถโดยสารไฟฟ้า หรือ smart shuttle bus รูปแบบเดียวกับรถเมล์ไฟฟ้าสาย 1551 ช่วงโรงพยาบาลจุฬาภรณ์-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างภายในสถานีกลางฯกับ ถ.พหลโยธิน ที่ประชุมให้ ขบ.ศึกษาว่าสามารถนำรูปแบบระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) มาดำเนินการได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน จะเร่งรัดแผนการปรับปรุงพื้นที่หมอชิต โดยทำการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ไปอยู่ที่อาคารบางกอก เทอร์มินอล (BKT) พื้นที่ 112,000 ตร.ม. ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติตามขั้นตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

เร่งขยาย ถ.เทอดดำริ-เกียกกาย

รวมถึงขอให้ กทม.เร่งรัดขยาย ถ.เทอดดำริ ช่วงแยกเทอดดำริ-สถานีบางซื่อ จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ให้เป็นไปตามแผน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2566 และขอให้พิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วง ถ.พหลโยธิน และ ถ.กำแพงเพชร

เพื่อรองรับการจราจรบริเวณสถานีกลางบางซื่อ โดย กทม.รายงานว่า สะพานข้ามแม่น้ำแยกเกียกกายได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 แล้ว จะเริ่มสร้างในปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

สร้างแลมป์เข้าสถานีกลางฯ

ยังให้ ร.ฟ.ท.ประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างทางขึ้น-ลงทางด่วนศรีรัช โดยให้ ร.ฟ.ท.อนุญาต กทพ.เข้าใช้พื้นที่และเร่งรัดปรับปรุงทางขึ้น-ลงบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ และทางเชื่อมระหว่างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯให้เป็นไปตามแผน

นอกจากนี้ เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างถนนและทางลอดเลียบทางรถไฟช่วงสถานีบางซื่อ-วัดเสมียนนารี ให้เปิดใช้ได้ทันตามแผนในปี 2564 และพิจารณาความจำเป็นของโครงการก่อสร้างทางลอด-ทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ บริเวณ ถ.กำแพงเพชร ร่วมด้วย

รอรถไฟเคาะรูปแบบบริหาร

คาดว่ามาตรการทุกอย่างจะดำเนินการได้ทันเปิดปี 2564 ส่วนรูปแบบการบริหารสถานีกลางบางซื่อ ที่ประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการหารือ แต่สอบถามกับ ร.ฟ.ท.ว่า ในการบริหารสถานีกลาง

ควรใช้วิธีการเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารสถานีมากกว่าที่จะบริหารเอง แต่รูปแบบในการบริหาร ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้เสนอให้รับทราบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งรัด หากรูปแบบการบริหารสถานีกลางยังไม่ชัด จะมีผลกับการวางแผนจราจรแน่นอน

ดึง ปตท.-SCG เดินรถฟีดเดอร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงการจัด shuttle bus ในลักษณะเป็นเส้นทางทวนเข็มนาฬิกา โดยมองโอกาสของการเป็น showcase รถเมล์ไฟฟ้า และ smart shuttle bus จุดจอด 6 ป้าย ระยะทางรวม 9.5 กม. ออกทุก 10 นาที ใช้รถ 2+1 คันรองรับได้ 100 คน/ชั่วโมง จะพิจารณาเอกชนที่มีศักยภาพและมีสำนักงานในย่านดังกล่าว เช่น ปตท. SCG ในลักษณะเชิงตอบแทนสังคม หรือ CSR หรือร่วมทุน

โดยคาดว่าปริมาณการจราจรช่วงเร่งด่วนในปี 2564 ประมาณ 54,000 คัน/ชม. สูงกว่าปริมาณจราจรในปีฐาน 2562 ประมาณ 7% เป็นปริมาณการจราจรของสถานีกลางฯในช่วงเร่งด่วน 1,000 คัน/ชม. คิดเป็น 2% โครงข่ายถนนในปัจจุบันยังสามารถรองรับปริมาณจราจรได้ และจะยังคงรองรับได้อีก 4-5 ปี