“คมนาคม” ขอเอี่ยวงบโควิด 6 พันล้าน เยียวยาผู้ประกอบการขนส่งทุกโหมด

“คมนาคม” เคาะวงเงินของบฟื้นฟู 4 แสนล้าน ที่ 6,000 ล้านบาท ด้านมาตรการอื่นยังดาหน้าขอกันอีกเพียบ “การทาง” ขอเลื่อนจ่ายหนี้ ลดเงินส่งคลัง “วิทยุการบิน” ของสินเชื่อดอกต่ำ 3 พันล้าน “เจ้าท่า-อุตต่อเรือ”ขอรับอุดหนุนอื้อซ่าทั้ง” ซอฟต์โลน-หักภาษี-ลดเบี้ยประกัน-ส่งเสริม Local Content” ด้าน ”บขส.” ขอรถไฟ-การทางลดค่าเช่าที่ ”ขนส่งจตุจักร”

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นมีการสรุป 2 รูปแบบมาตรการคือ 1.มาตรการหน่วยงานในสังกัดดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้วประมาณ 41 มาตรการ และส่วนที่ 2 มาตรการที่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

โดยจะขอจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยได้เสนอขอไปเบื้องต้น 6,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้ความเห็นชอบ

สั่ง ”ขนส่ง” ทำแผนรับ NGV ลอยตัว

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ต้องขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกกระทรวง มี 5 มาตรการหลัก 1.มาตรการช่วยเหลือราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานก็ได้สนับสนุนให้รถโดยสารสาธารณะใช้น้ำมันดีเซลชนิด B10 และ B20 ส่วนการอุ้มราคาก๊าซ NGV ทางกระทรวงพลังงานก็ยืนยันว่าจะอุ้มให้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะปล่อยลอยตัวราคา NGV ทันที แต่จะไม่ให้เกิน 75% ของราคาน้ำมัน B10 โดยตอนนี้ได้ฝากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประเมินสถานการณ์ภายหลังการปล่อยให้ค่าก๊าซลอยตัวแล้ว โดยเฉพาะอัตราค่าขนส่งและค่าโดยสารจะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วให้มานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ขณะที่กรมเจ้าท่า (จท.) ก็ขอรับการสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลราคาถูกเช่นกัน แต่กระทรวงพลังงานไม่อนุมัติ เนื่องจากไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

”การทาง” เลื่อนจ่ายหนี้-ลดเงินส่งเข้าคลัง

ขณะที่มาตรการทางการเงิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอเลื่อนจ่ายเงินกู้ยืมที่ครบกำหนดในปี 2563-2564 ออกไป โดยเป็นจำนวนเงินรวม 900 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 500 ล้านบาท โดยการขอเลื่อนจ่ายดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบกับกระแสเงินสดและแผนลงทุนขององค์กรเป็นหลัก แต่ผู้แทนกระทรวงการคลังขอให้ กทพ.กลับไปทำรายละเอียดเรื่องรายรับ-รายจ่ายกลับมารายงานถึงความจำเป็นอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังขอชะลอการนำรายได้ส่งเข้ารัฐตามประมาณการณ์ โดยขอส่งรายได้เข้ารัฐตามรายได้ที่เก็บได้จริงแทน แต่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้กลับไปทบทวนรายละเอียดผลกระทบต่างๆ และรายรับของ กทพ.กลับมาก่อน เพื่อทำหลักการให้ชัดเจน

ยังมีเรื่องของการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ด้วย โดยหน่วยงานที่ขอสนับสนุนคือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการออกมาตรการช่วยเหลือการลดอัตราค่านำร่องการให้บริการทางอากาศ ประกอบกับมีแผนงานที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินดังกล่าว ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้บวท.กลับไปจัดทำรายละเอียด ทั้งยอดคงเหลือกระแสเงินสดขององค์กร รายรับ-รายจ่าย และแผนลงทุน เพื่อให้ สบน. รับทราบความจำเป็นต้องใช้จ่ายมีมากน้อยเพียงใด

”ขนส่งทางน้ำ” ขอมาตรการอื้อ

ด้านกรมเจ้าท่า (จท.) ก็ขอ Soft Loan เข้ามาเช่นกัน โดยเป็นการขอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและพนักงาน ทางกระทรวงการคลังเห็นว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย รัฐบาลมีมาตรการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือให้แล้ว จึงขอให้ไปติดตามสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าวได้ทันที และขอให้ จท. เป็นผู้รับรองถึงความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ดังกล่าวให้ผู้ประกอบการด้วย ขณะเดียวกัน ได้รับทราบว่า สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทยพร้อมด้วยสมาคมเจ้าของเรือไทย ต้องการรับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายของพนักงานประมาณ 1,080 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินนี้จะต้องกลับไปทำรายละเอียด เพื่อเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมและส่งต่อให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา

ส่วนมาตรการด้านภาษีและประกันภัย กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ขอให้มีมาตรการนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ แต่กรมสรรพากรระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีประกาศไว้ก่อนแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนการประกันภัย ก็ขอให้มีการขอปรับลดดอกเบี้ยประกันภัยลง 150% ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ชี้แจงว่า ได้ให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยอยู่แล้วประมาณ 10% แต่ไม่ครอบคลุมการประกันตัวเรือและสินค้า ที่ประชุมจึงให้ จท. ทำหนังสือถึง คปภ. เพื่อขอรับการสนับสนุนให้ครอบคลุมมากขึ้น ส่วน คปภ.จะไปหารือกับบริษัทประกันภัย เพื่อหารือถึงส่วนลดที่สามารถให้ได้ แต่คงให้ไม่ถึง 150% ตามที่กรมเจ้าท่าขอมาแน่นอน

เอกชนขออุดหนุนอุตต่อเรือในประเทศ

นายพีระพลกล่าวต่อว่า ทางสมาคมเจ้าของเรือไทยได้ยื่นขอลดค่าเช่ากับทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทั้งบนท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่ง กทท.ชี้แจงว่า ได้ให้ส่วนลดไปแล้ว 3 เดือน และพร้อมจะเข้าช่วยเหลือในสัญญาต่างๆ แต่ที่ประชุมให้ จท. ช่วยตรวจสอบในส่วนที่เป็นสัญญาสัมปทานด้วย และให้แยกเรื่องนี้ออกเป็นอีกประเด็นหนึ่งไม่รวมกับผู้ประกอบการรายย่อย และทางสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทยได้ขอให้ออกข้อปกป้องเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศไทย เช่น มาตรการกำแพงภาษี หรือข้อกำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) ให้มากขึ้น

ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับเรื่องนี้เรียบร้อยแล้วและให้ จท. ส่งรายละเอียดปริมาณการนำเข้าและส่งออกการผลิตและซ่อมเรือมีมากน้อยเพียงใด และในที่ประชุมขอให้ จท. นำข้อเสนอแนะการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือดังกล่าว เพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีพิจารณา โดยให้เป็นไปจตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการผลักดันการพาณิชย์นาวีในประเทศให้เป็นรูปธรรม

บขส.ขอลดค่าเช่าที่ดินหมอชิด

ด้าน บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ก็ได้ขอลดค่าเช่าที่ดินจำนวน 45 ล้านบาท แยกเป็นค่าเช่าบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หมอชิต (จตุจักร) จำนวน 21 ล้านบาท และค่าเช่าที่ดินทำสถานีเดินรถโดยสารขนาดเล็ก (จตุจักร) ซึ่งตั้งอยู่ใต้ทางด่วนศรีรัชจำนวน 24 ล้านบาท กับ กทพ. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เรื่องนี้ ร.ฟ.ท.เคยมีมติให้ลดค่าเช่าของเอกชน แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่วน กทพ.มีมาตรการยกเว้นค่าเช่าให้ 3 เดือนซึ่งครอบคลุม บขส.ด้วย ซึ่งเป็นการให้ส่วนลดแล้วประมาณ 900,000 บาท/เดือน แต่เนื่องจาก บขส.ทำตัวเลขที่จะขอความช่วยเหลือมาไม่ชัดเจน จึงขอให้ บขส. นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) เสียก่อน แล้วนำมาตรการที่ ร.ฟ.ท. และ กทพ.ออกไว้ข้างต้นเสนอรวมให้บอร์ดของ บขส.พิจารณาถึงแนวทางข้อเสนอมาว่าจะขอรับความช่วยเหลือเท่าไหร่และอย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่ง บขส.รายงานจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาได้ภายในเดือนนี้


นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียนถึงกรมทางหลวง (ทล.) ให้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติและข้อปฏิบัติเพิ่มเติมในการเยียวยาผู้ประกอบการว่า จะขยายเวลาก่อสร้างและจัดจ้างที่ปรึกษาอย่างไร ก็คาดว่าจะออกรายละเอียดต่างๆ ได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งจะมีผลกับการก่อสร้างและจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการของหน่วยงานอื่นๆ ด้วย