รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย “สายสีเหลือง” สะดุด ชงบอร์ด รฟม.ชี้ขาด

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่กำลังก่อสร้าง

โมโนเรลสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย “รัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน” สะดุด หลัง BEM แจงอาจได้รับผลกระทบ รฟม.หวั่นหาข้อสรุปไม่ได้ ชงบอร์ดชี้ขาด 19 ส.ค. ด้านบีทีเอสยืนกรานขอรอดูตัวเลขผู้โดยสาร หลังเปิดบริการจริง พร้อมลงทุนให้รัฐ 100% ระบุไม่ส่งผลเดินรถ “ลาดพร้าว-สำโรง” เปิดใช้พร้อมสายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” ต.ค.ปีหน้า

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติโครงการลงทุนส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทยฯ-บมจ.ราชกรุ๊ป) รับสัมปทาน 33 ปี ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เสนอลงทุนเพิ่มวงเงิน 3,779 ล้านบาท จากสถานีลาดพร้าวที่จะเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินและสายสีเหลืองตามแนวถนนรัชดาฯ ผ่านศาลอาญา ม.ราชภัฏจันทรเกษม เชื่อมแยกรัชโยธิน ระหว่างสถานีพหลโยธิน 24 กับสถานีรัชโยธิน ของสายสีเขียวหมอชิต-คูคต

หวั่นกระทบผู้โดยสาร

ล่าสุด บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ทำหนังสือถึง รฟม. อ้างอิงสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงินที่ทำไว้ในข้อ 21 ข้อตกลงกระทำการและงดเว้นกระทำการของ รฟม. ใน “ข้อ ข.” ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขของสัญญานี้ รฟม.รับว่าจะไม่กระทำ และจะต้องงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจขัดขวางหรือกระทบกระเทือนต่องานหรือการดำเนินการหรือการไหลเวียนของผู้โดยสารเข้าสู่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือการจัดเก็บค่าโดยสารหรืออัตราค่าโดยสารตามสัญญานี้ โดย BEM ขอให้ รฟม.เจรจา BTS ชดเชยรายได้ กรณีที่เกิดผลกระทบสายสีเหลืองส่วนต่อขยายเปิดบริการที่อาจทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลง โดยมองว่าเป็นการแข่งขัน เหมือนกรณีทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่ได้สร้างโทลล์เวย์

ทั้งนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.อนุมัติส่วนต่อขยายสายสีเหลืองไปแล้ว พร้อมแบ่งรายได้ค่าโดยสารตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น หากเกิน 30% และ 50% ขึ้นไป จะแบ่งให้ รฟม. 30-50% เป็นรายได้เพิ่มอีกปีละ 250 ล้านบาทในปีที่ 11-30 ซึ่งบอร์ดให้ รฟม.เจรจากับ BEM และ BTS ให้จบเกี่ยวกับประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องอนาคต และนำไปสู่การจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ

“ผลศึกษาระบุการสร้างสีเหลืองส่วนต่อขยายเชื่อมทางหลักและสายสีเขียวจะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินหายไป 6,000 เที่ยวคน/วัน คิดเป็นรายได้ที่สูญตลอดสัมปทานถึงปี 2592 จะอยู่ที่ 900-1,400 ล้านบาท ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีค่าแรกเข้าซ้ำระหว่างรถไฟฟ้าสองสายหรือไม่”

โดย รฟม.ได้เจรจากับบีทีเอสเกี่ยวกับเคสนี้แล้ว และให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เป็นเงื่อนไขในสัญญา ล่าสุด BTS ทำหนังสือยืนยันมายัง รฟม. จะไม่ชดเชยรายได้ให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ เนื่องจากเป็นผลกระทบที่ยังไม่เกิดขึ้น จะสามารถพิสูจน์ได้หลังจากเปิดบริการแล้ว

“สองฝ่ายไม่มีใครยอมใคร เจรจาหลายครั้งไม่ยุติ รฟม.ก็ไม่อยากการันตีว่าจะเกิดหรือไม่เกิดเรื่องผลกระทบ ไม่อยากให้เป็นข้อพิพาท ควรมีกรอบเวลาให้เรื่องจบ สายสีเหลืองจะเปิดเต็มรูปแบบเดือน ก.ค. 2565 หากยังไม่ยุติก็ต้องพับโครงการ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สายสีเหลืองส่วนต่อขยายพร้อมเดินหน้าก่อสร้าง โดยได้รับอนุมัติ EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) และบอร์ด รฟม.อนุมัติผลเจรจาค่าตอบแทนกับบีทีเอสแล้ว แต่ติดประเด็นดังกล่าวทำให้โครงการล่าช้า

ชงบอร์ด รฟม.เคาะ 19 ส.ค.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า วันที่ 19 ส.ค.นี้ จะเสนอความคืบหน้าให้บอร์ดรฟม.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติ เนื่องจาก BTS ทำหนังสือมาแล้ว “BTS ระบุว่า ผลกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงินนั้น อาจมาจากหลายปัจจัยก็ได้ เช่น พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยนไป เพราะมีรถไฟฟ้าให้บริการหลายสาย หรืออาจจะกระทบมากตามผลศึกษา หากมีข้อพิพาทในอนาคตอาจต้องยกเลิกโครงการ ซึ่งอยู่ที่การตัดสินใจของบอร์ด”

ย้ำคุยกันหลังเปิดใช้

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองได้รับอนุมัติพร้อมกับส่วนต่อขยายสายสีชมพู แต่เงื่อนไขต่าง ๆ ตั้งขึ้นภายหลัง อยากขอให้รัฐนึกถึงประชาชน หาก รฟม.ไม่ให้สร้างก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเสียเงินลงทุนอีก 3,700 ล้านบาท เพราะมีแค่ 2 สถานี และการทำให้โครงการมีกำไรก็ไม่ได้ง่าย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ยืนยันไปยัง รฟม.แล้วจะไม่รับประกันชดเชยรายได้ เนื่องจากบริษัทลงทุนให้รัฐ 100% และแบ่งรายได้ให้ รฟม.เพิ่ม เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทาง

ตุลาคม’64 ได้นั่งสีชมพู-สีเหลือง

ปัจจุบันสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง คืบหน้าแล้ว 57.90% สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี คืบหน้า 57.53% ปลายปี 2563 รถขบวนแรกทั้ง 2 สายจะถึงประเทศไทย ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบ คาดว่าจะเปิดใช้ในเดือน ต.ค. 2564

สายสีเหลืองมีแนวโน้มจะเปิดได้ตลอดสาย ส่วนสีชมพูอาจเปิดเป็นช่วง ๆ เพราะยังติดเรื่องพื้นที่ ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีชมพูจากศรีรัช-เมืองทองธานี ต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ