รฟม.พร้อมชี้แจงศาล “หลักเกณฑ์” ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

รฟม.แถลงย้ำหมุดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนท์-มีนบุรี” เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินข้อเสนอ รวบซองเทคนิค-การเงินพิจารณาร่วมกัน ทำถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายร่วมทุนฯ เผยยังไม่เปิดยื่นซอง ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น พร้อมหอบเอกสารชี้แจงต่อศาลวันที่ 14 ต.ค. จ่อใช้สิทธิ์ฟ้องศาลแพ่งทำให้รัฐเสียหาย ไทม์ไลน์ยังไม่ปรับ ยื่นข้อเสนอ 9 พ.ย.ได้ผู้ชนะต้นปี’64

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ต.ค.2563 เป็นวันที่ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนนัดแรกกรณี บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ยื่นฟ้องต่อศาล ขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี กลับไปใช้เกณฑ์เดิม ซึ่ง รฟม.พร้อมชี้แจงต่อศาลในการปรับเป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับด้านราคา 70%

ภคพงศ์-ผู้ว่าฯรฟม.
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

โดยยืนยันว่าการปรับปรุงเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้เคยดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

ทั้งนี้ การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้วโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับจากการได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคนิคในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ส่งผลให้ประชาชนได้รับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงที่สุด และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะของ รฟม.

อีกทั้งการดำเนินการต่างๆ ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ได้มีการพิจารณาและคำนึงถึง มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

“โครงการยังไม่ได้เปิดยื่นข้อเสนอ อยู่ในช่วงเตรียมให้เอกชนมายื่นข้อเสนอ และไม่ได้ปรับแก้หลังรับข้อเสนอแล้ว จึงยังไม่มีผู้เสียหายเกิดขึ้น อีกทั้งให้เวลาในการทำข้อเสนอถึง 70 วัน มีเวลาเพิ่ม ไม่น่าจะเกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบหรือเอื้อต่อใครและเอกชนสามารถหาซับคอนแทรคทั้งในไทยและต่างชาติที่มีประสบการณ์งานด้านอุโมงค์มาดำเนินการได้ เพราะในทีโออาร์ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มาซื้อซองเท่านั้น และไม่ได้กำหนดว่าต้องมีประสบการณ์อุโมงค์ก่อสร้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา”

ทั้งนี้ การที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาภายหลังยื่นซองไปแล้ว เพื่อไม่ให้เอกชนได้ทราบถึงข้อกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่คณะกรรมการฯจะไม่เห็นข้อเสนอของรายใดรายหนึ่ง ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจาณาแต่มีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนด้านต่างๆ มาพิจารณาทั้งการลงทุน กฎหมาย การขนส่งสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม รอฟังคำตัดสินของศาลฯว่าจะออกมายังไงและเมื่อไหร่ ทั้งนี้ในระหว่างนี้รฟม.ยังคงเดินหน้าตามขั้นตอนการเปิดประมูลคือจะเปิดยื่นซองวันที่ 9 พ.ย. จากนั้นคณะกรรมการมาตรา 36 จะประชุมกำหนดเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านต่างๆ จากนั้นจะเปิดข้อเสนอซองที่1 วันที่ 23 พ.ย. จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 สับดาห์ ถึงจะประกาศผู้ผ่านการพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาซองที่2และ3 ประมาณ 2-3 เดือน และได้ผู้ชนะประมูลต้นปี 2564

“ถ้าศาลมีคำสั่งให้ชะลอหรือคุ้มครอง คงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ และชะลอการประมูลออกไป ซึ่งรฟม.พร้อมปฎิบัติตามคำสั่งศาลจนกว่าจะมีคำสั่งอื่นมาเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง จะเดินหน้าประมูลต่อไปและจะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งทำให้รฟม.เกิดความเสียหาย ”

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค30% เช่น เทคนิคการก่อสร้าง การบริการจัดการจราจรช่วงก่อสร้าง ผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่โดยรอบ เพราะแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่เกาะรัตรโกสินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว และเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ตลอดเส้นทาง อีกทั้งจะดูการบริการการเดินรถที่ออกแบบด้วย

ส่วนด้านการเงิน 70 % อาทิ ดูเรื่องวงเงินที่เสนอให้รัฐสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012ล้านบาท โดยรัฐชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากเริ่มก่อสร้าง 2 ปี นอกจากนี้มีเรื่องผลตอบแทนที่ให้รัฐจากผลการศึกษาที่ออกมาใน 30 ปีรฟม.จะได้ผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

“ในข้อเสนอด้านราคา 70% จะมี 10% เป็นคะแนนด้านความน่าเชื่อถือจากราคาที่เอกชนเสนอมาว่าจะมีความเป็นไปได้และสามารถดำเนินการได้ตามที่เสนอแผนมาหรือไม่ ซึ่งเอกชนจะต้องเสนอราคาที่เป็นสมมุติฐานที่เป็นไปได้”

นายภคพงศ์กล่าวย้ำว่า รฟม.จะใช้เกณฑ์การพิจารณาประมูลของสายสีส้มสำหรับพิจารณาการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นๆต่อไปด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กม.

แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กม.จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)

และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดย รฟม.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนppp net cost 30 ปี วงเงินลงทุนกว่า 1.28 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้บริการตลอดสายในปี 2570