“อนุทิน” บุกคมนาคมล็อกงบข้ามปี 3.27 แสนล้าน เวนคืนรถไฟฟ้า-ไฮสปีด-มอเตอร์เวย์

“อนุทิน” เคาะงบคมนาคม-โลจิสติกส์ปี ‘65 กว่า 3.27 แสนล้าน สแกน “คมนาคม” โกยมากสุด 3.25 แสนล้าน เปิดโผ 11 หน่วยงาน 2 กรมถนน “ทางหลวง-ทางหลวงชนบท”ซิวมากสุด “รฟม.-รถไฟ” ขอค่าเวนคืน-จ้างออกแบบ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ 2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน

ได้เห็นชอบงบประมาณหลังกลั่นกรองเบื้องต้นวงเงิน 327,174 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณากลั่นกรอง จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และบรรจุเข้าวาระการพิจาณณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไปตามขั้นตอน

“คมนาคม” โกยมากสุด

โดยวงเงิน 327,174 ล้านบาท เป็นการปรับลดลง 1.03% จากกรอบเดิมที่เสนอไว้ 330,581 ล้านบาท มี 9 หน่วยงานขอรับจัดสรร ได้แก่ 1.กระทรวงคมนาคม 11 หน่วยงาน วงเงิน 325,880.0378 ล้านบาท

2.กระทรวงอุตสาหกรรม 1 หน่วยงาน (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) วงเงิน 121 ล้านบาท 3.กระทรวงพาณิชย์ 1 หน่วยงาน (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) วงเงิน 25 ล้านบาท

4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 หน่วยงาน (กรมส่งเสริมการเกษตร-สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) วงเงิน 98.9865 ล้านบาท 5.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 1,161 ล้านบาท

6.สำนักนายกรัฐมนตรี 1 หน่วยงาน (สภาพัฒน์) 22.5 ล้านบาท 7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 20 ล้านบาท 8.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 1 หน่วยงาน (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) วงเงิน 370 ล้านบาทและ 9. กระทรวงแรงงาน 1 หน่วยงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) วงเงิน 40 ล้านบาท

โดยการของบประมาณนี้จะแบ่งเป้าหมายการเบิกจ่ายเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ วงเงิน 325,804 ล้านบาท และกลุ่มที่ 2 การบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานและการอำนวยความสะดวกทางการค้า วงเงิน 1,369 ล้านบาท

“เมื่อโฟกัสเฉพาะกระทรวงคมนาคม มี 11 หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด”

“ทางหลวง-ทางหลวงชนบท” มากสุด

ใน 5 อันดับ ประกอบด้วย 1.กรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 240,153 ล้านบาท ได้แก่
เวนคืนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 21,968 ล้านบาท บูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค วงเงิน 13,318 ล้านบาท

โครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน วงเงิน 113,323.9211 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนทางหลวง 82,580 ล้านบาท พัฒนาจุดจอดพักรถและสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 4,403.776 ล้านบาท ทางยกระดับบนถ.พระราม 2 วงเงิน 4,558.3679 ล้านบาท

2.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 28,156 ล้านบาท พัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท วงเงิน 23,313.0129 ล้านบาท อำนวยความปลอดภัยสนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงิน 4,848.1171 ล้านบาท

รฟม. จองเวนคืน “ม่วง-ส้ม-รถไฟฟ้าภูธร”

3.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 20,609.137 ล้านบาท เช่น ค่าเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง วงเงิน 2,515 ล้านบาท สายสีม่วงช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 7,200 ล้านบาท สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม – ตลิ่งชัน วงเงิน 6,640 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งมวลชนจ.เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงรพ.นครพิงค์ – แยกแม่เหียะ วงเงิน 315 ล้านบาท
ระบบขนส่งมวลชนจ.นครรราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงิน 16 ล้านบาท

“รถไฟ” ขอเวนคืนทางคู่-ไฮสปีดไทยจีน

4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 15 โครงการ วงเงิน 18,003.5836 ล้านบาท เช่น
เวนคืนทางคู่ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ วงเงิน 6,253.38 ล้านบาท ทางคู่บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ที่จ.ร้อยเอ็ด วงเงิน 4,253 ล้านบาท เวนคืนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพ – นครราชสีมา วงเงิน 3,904.4821 ล้านบาท

-จ้างที่ปรึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงไทยจีน นครราชสีมา – หนองคาย วงเงิน 51 ล้านบาท

และ 5. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 11,034.999 ล้านบาท ประกอบด้วย
โครงกมารพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยาน 19 แห่ง วงเงิน 8,897 ล้านบาท และโครงการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพท่าอากาศยาน 27 แห่ง วงเงิน 2,137 ล้านบาท