ทช.เบรกโปรเจ็กต์สะพาน-ไบก์เลน 5 หมื่นล้าน

กรมทางหลวงแตะเบรกโปรเจ็กต์ใหญ่ “สะพานโกลเด้นเกท-สนามบินน้ำ-ไบก์เลน” เกลี่ยงบฯปี”61 วงเงิน 4.6 หมื่นล้าน ลุยซ่อม สร้าง ราดยางถนนทั่วประเทศ 4.7 หมื่น กม. ตัดโครงข่ายใหม่เชื่อมอีอีซี-เขตเศรษฐกิจพิเศษ เผยปี”62 อัด 4.5 พันล้าน อวสานลูกรัง

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2561 รวม 46,330 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯลงทุน 44,770 ล้านบาท ดำเนินการงานซ่อมบำรุงโครงข่ายถนนทั่วประเทศ 47,308 กม. และอำนวยความปลอดภัย 1,473 แห่ง เช่น ขยายความกว้างสะพาน ปรับปรุงคอขวด วงเงิน 20,314 ล้านบาท

ส่วนงานพัฒนาโครงข่ายถนน วงเงิน 19,237 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างถนน สะพาน ตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ก่อสร้างถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางคอนกรีต ระยะทาง 684.373 กม. ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ ความยาว 8,287 เมตร ก่อสร้างถนนเพื่อแก้ปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาคและก่อสร้างถนนในเขตผังเมือง ก่อสร้างถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว ก่อสร้างถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง ก่อสร้างถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

“ปี”61 ได้งบฯ 3,000 ล้านบาท ราดยางถนนลูกรัง 600 กม. ยังเหลือ 900 กม. จะของบฯปี”62 มาดำเนินการให้หมด จำนวน 4,500 ล้านบาท จากที่กรมรับผิดชอบทั้งหมดกว่า 47,000 กม.”

สำหรับโครงการจะดำเนินการในปี 2561 อาทิ ก่อสร้างถนนสาย 1120 แยกถนนมิตรภาพ-บ้านโคกไผ่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา, ก่อสร้างถนนสาย จ1 และ จ2 ผังเมืองรวมเมืองพะเยา และสาย ค ผังเมืองรวมชุมชนมหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา เป็นต้น

ส่วนโครงการสำคัญที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ ทางต่างระดับบนถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33-ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จะแล้วเสร็จกลางปี 2561, การก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098-ทางหลวงหมายเลข 1 (ตอนที่ 2) อ.เมือง จ.เชียงราย จะเสร็จปลายปี 2561, ขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) และขยายถนนราชพฤกษ์ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 จะแล้วเสร็จปลายปี 2562 เป็นต้น

“งบประมาณจะเน้นกับภารกิจกรมและนโยบายรัฐที่สำคัญ โครงการไหนที่มีขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ประชาชนคัดค้าน อาจจะชะลอออกไปก่อน” นายพิศักดิ์กล่าวและว่า

ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างสะพานสนามบินน้ำที่ประชาชนคัดค้านช่วงสร้างต่อขยายไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช มีแนวโน้มที่กรมจะศึกษาเฉพาะสะพานอย่างเดียว ทั้งนี้หากผลศึกษาออกมาแล้วไม่คุ้มคงจะต้องยกเลิกโครงการ

มีโครงการสะพานเชื่อมสมุทรปราการ กรุงเทพฯและสมุทรสาคร ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท ขณะนี้ผลศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอสำนักงานสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา คาดว่าจะเริ่มเสนอในปี 2561 คงจะใช้เวลาอีกนานกว่าโครงการจะได้เริ่มก่อสร้าง เพราะเป็นโครงการใหญ่

นอกจากนี้มีโครงการทางจักรยานเชื่อม 5 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ระยะทาง 184 กม. ผลศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้วเสร็จ พบว่าใช้เงินลงทุนร่วม 2,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 20 ล้านบาท เนื่องจากบางช่วงเป็นถนนชลประทาน ต้องสร้างแนวคันขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้ประเมินแล้วเป็นโครงการใช้เงินลงทุนสูง และไม่คุ้มค่า ซึ่งโครงการต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวของประเทศ