รฟม.ชิงล้มประมูล ”สายสีส้ม” ไม่รอศาล หนี BTS ฟ้องเปลี่ยนเกณฑ์”เทคนิคพ่วงราคา”

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

รฟม.ล้มประมูล PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” วงเงิน 1.28 แสนล้าน ไม่รอศาลอ่านคำวินิจฉัย ปมเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาเทคนิคพ่วงราคา ตีกรรเชียงปิดจ็อบคดีฟ้องร้อง คาดศาลฯไม่พิจารณาต่อ รอจำหน่ายคดี เว้นบีทีเอสร้องปมใหม่

วันที่ 7 ก.พ.2564 มีรายงานข่าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ล้มประมูลPPP net cost 30 ปี ก่อสร้างและสัมปทานเดินรถโครงการรถไฟฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทมีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ ได้แก่ กลุ่มบีทีเอส-ซิโนไทยฯและบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) โดยไม่รอให้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัย เท่ากับเป็นการยุติคดีฟ้องร้องที่ยังค้างอยู่ที่ศาลฯ

เนื่องจากเป็นดุลพินิจของศาลฯจะไม่พิจารณา ถ้าศาลเห็นว่าการโต้แย้งสิทธิระหว่างกันสิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปก็จะสั่งจำหน่ายคดี แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในเรื่องนี้แม้ว่าจะมีการยกเลิกการประมูลไปแล้ว ก็สามารถที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไป

“หากยกเลิกประมูลแล้ว เพราะไม่มีมูลเหตุที่ศาลต้องพิจารณา ยกเว้นบีทีเอสจะยื่นฟ้องประเด็นใหม่ หากบีทีเอสตัดสินใจฟ้องร้อง ก็ไม่จบ”

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า การเดินหน้าโครงการหลังล้มประมูล ทางรฟม.จะเปิดประมูลใหม่ ตามกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และข้อกำหนดในประกาศ ส่วนจะใช้เกณฑ์ตัดสินแบบไหนอยู่ที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่คาดว่าจะใช้เกณฑ์ใหม่ คือ พิจารณาซองเทคนิคควบคู่กับราคา

จึงทำให้รฟม.ชิงล้มประมูล เนื่องจากหากจะใช้เกณฑ์เดิมคงเปิดซองไปตั้งแต่ศาลมีคำสั่งทุเลาบีทีเอสให้รฟม.ชะลอการใช้เกณฑ์ใหม่ออกไปจนกว่าศาลฯจะมีคำสั่งเป็นอื่น เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา

“เกณฑ์ใหม่รฟม.คาดว่าจะทำให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จใน 6-8 เดือน ซึ่งการเปิดซองเทคนิคควบคู่ราคาจะทำให้เร็วกว่าเกณฑ์เดิมเปิดทีละซอง ประมาณ 15-30 วัน “รายงานข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม สำหรับคดีฟ้องร้องสืบเนื่องจากที่รฟม.ปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินข้อเสนอใหม่ จากรูปแบบเดิมที่พิจารณาซองเทคนิคและซองการลงทุนและผลตอบแทนแยกจากกัน เป็นวิธีการประเมินใหม่โดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา

ต่อมาบีทีเอสยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 และได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประเมินใหม่ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 19 ต.ค. 2563 โดยสรุปให้ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ร่วมกันยื่นคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 โดยสรุปขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น พร้อมยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี และคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น

โดยศาลมีการไต่สวนแล้ว รอฟังคำวินิจฉัย จนมาถึงวันที่ 3 ก.พ.2564 คณะกรรมการ 36 ได้ประชุมและมติให้เปิดประมูลใหม่เนื่องจากมองว่าเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วและใกล้วันที่จะครบกำหนดให้เอกชนทั้ง 2 ราย ยืนราคา 270 วัน