Healthcare Total Design Solution เทรนด์สถาปนิกยุคโควิด พลิกโฉมวงการออกแบบโรงพยาบาล

Thailand Next Normal ยุคหลังโควิดประเทศไทยจะพลิกโฉมหน้าอย่างไรได้บ้าง

หนึ่งในคำตอบมาจากวงการสถาปนิกที่เพิ่งมีการประกาศตัวนำเสนอบริการออกแบบครบวงจรในนาม “pgd เฮลท์แคร์ โททอล ดีไซน์ โซลูชั่น” เหตุผลเพราะการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด ถ้าไม่ทำให้ครบวงจรคงจะแข่งขันได้ลำบากสาหัสกันเลยทีเดียว

ดึงศิลปินแห่งชาตินั่งหัวโต๊ะ

ซักเซสเซอร์คนแรกของปฏิบัติการนี้มีดีกรีเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน) ปี 2561 “ดร.แดง-คงศักดิ์ ยุกตะเสวี” ศิลปินแห่งชาติ และประธานกรรมการ pgd ผู้อยู่เบื้องหลังมือประสานสิบทิศที่ทำให้ทีมงานรวมตัวกันได้ในวันนี้

“รับงานออกแบบครบวงจรครอบคลุมการก่อสร้างทุกแขนง ซึ่งเฮลท์แคร์ดีไซน์คืองานออกแบบอาคารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล มีทั้งโรงพยาบาล ศูนย์เวลเนส คลินิก อาคารการแพทย์ทั้งหลาย เรียกว่าเฮลท์แคร์โปรเจ็กต์”

โรคระบาดโควิดที่หลายสำนักบอกว่าเป็นปรากฏการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดในรอบร้อยปี ในขณะที่ “ดร.แดง” หรือ “อ.แดง” ของคนวงการเตคให้ข้อคิดสั้น ๆ ว่า …ใครจะไปรู้ อีก 5 ปีอาจมีเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่รุนแรงแบบนี้อีก

Advertisment

ดังนั้น ยุคหลังโควิดทำให้พฤติกรรมคนในสังคมเปลี่ยน นำไปสู่พฤติกรรมการทำธุรกิจ พฤติกรรมการลงทุนก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม จุดโฟกัสอยู่ที่เทรนด์การลงทุนด้านเฮลท์แคร์โปรเจ็กต์กำลังเป็นธุรกิจยอดนิยม ประเด็นจึงอยู่ที่จะลงทุนอย่างไรให้ “ประหยัด-ปลอดภัย-งบฯไม่บานปลาย”

ประสบการณ์ 42 ปีในบทบาทสถาปนิกของ อ.แดง สร้างชื่อเสียงมาจากการออกแบบโรงแรมและพระราชวัง อาคารรัฐสภาในหลาย ๆ ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเนื้องาน 70-80% จากจุดเริ่มต้นในปี 1979 จนกระทั่งมีออฟฟิศในกรุงเทพฯ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-UAE และจีน

เทิร์นนิ่งพอยต์อยู่ที่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วได้รับการทาบทามให้ออกแบบโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เจ้าของผู้ก่อตั้งมองว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในยุคนั้นทำไมถึงยังไม่มีการนำระบบบริหารจัดการแบบสหรัฐมาใช้ จึงต้องการสร้าง รพ.แม่และเด็กที่ทันสมัยและบริหารแบบสากล

ทุกวันนี้ ดีไซน์ที่ฝากฝีมือไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็ยังคงอยู่ ประสบการณ์แรกทำให้รู้ว่าการออกแบบอาคารโรงพยาบาลแตกต่างจากอาคารทั่วไป เพราะมีระบบต่าง ๆ มากกว่าปกติ เรียกว่าเป็น “งานยาก” ไม่ใช่ “งานง่าย” รอยต่อช่วง 15 ปีย้อนหลัง (2547-2562) รู้จักกับ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” จึงได้รับงานทั้งออกแบบใหม่และรีโนเวตโรงพยาบาล

Advertisment

“ศิลปินแห่งชาติมี 400 คน แต่มีสาขาเดียวกับผมไม่เกิน 20 คน ผมอายุ 76 ปี ทางกระทรวงวัฒนธรรมสัมภาษณ์วางแผนจะทำอะไรในอนาคต คำตอบคือผมทำงานต่อไป 5-10 ปี แต่การออกแบบโรงแรมคิดว่าอิ่มตัวแล้ว สิ่งที่อยากทำคือออกแบบโรงพยาบาล เพราะเป็นธุรกิจในประเทศไทยที่ยังมีอนาคตอีกไกลมากที่จะพัฒนาระดับสากลได้”

บาลานซ์โรงพยาบาล+ธุรกิจ

สตอรี่การมีโอกาสออกแบบ รพ.บำรุงราษฎร์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำงานภายใต้ทุกข้อจำกัดที่มี เพราะอาคารโรงพยาบาลค่อนข้างซับซ้อนไม่เหมือนอาคารทั่วไป เรื่องความปลอดภัย hygenic ป้องกันเชื้อโรคต้องมาเป็นอันดับ 1 บทสรุปแบบฟันธงคือ วัสดุที่ใช้เป็นหัวใจการออกแบบ

ณ ยุคนั้นสามารถทำงานสำเร็จด้วยฝีมือระดับบรมครู “…รพ.แรกที่ผมทำในบำรุงราษฎร์ทำได้ระดับหนึ่ง เป็นผลงานแรกที่เราได้เรียนรู้ความคมกริบของการออกแบบ”

ทั้งนี้ ยุคปี 2500 วงการโรงพยาบาลเอกชนมีข้อจำกัดอย่างรุนแรงในด้านวัสดุอุปกรณ์ ทั้งพื้น ผนัง เพดาน ไฟ ในเทอมการออกแบบเรียกว่า medical code อุปกรณ์ที่ใช้ต้องอิงมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกับมาตรฐานสากล

แน่นอนว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลสัก 1 โปรเจ็กต์เป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมาก ปัญหาเพราะวัสดุตามมาตรฐาน medical code ไม่มี ต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก นอกจากราคาแพงแล้ว ปัญหาคือไม่มีผู้แทนจำหน่าย และไม่ต้องพูดถึงเรื่องบริการหลังการขายอีกต่างหาก

“โจทย์ออกแบบ รพ.บำรุงราษฎร์ ต้องมีความเป็น hospitality มีการบริการ การตกแต่ง สร้างบรรยากาศ เพราะนอกจากคนไข้แล้ว ผู้ใช้บริการ อาทิ ญาติคนไข้ คนเยี่ยม มีจำนวนเฉลี่ย 70% ที่เข้ามาใช้อาคาร ยุคนั้นอยากให้มี door man, lift attention เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ไปอีกจุดหนึ่ง”

“ประสบการณ์ 15 ปี ทำงานเป็นทีมร่วมกับที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ ทั้งฝ่ายการก่อสร้าง คุณหมอ จึงคิดว่าผมเป็นบริษัทที่ออกแบบโรงพยาบาลมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะ รพ.เอกชน”

คีย์เวิร์ดคือ “…สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการออกแบบ คือการบาลานซ์ระหว่างด้านการแพทย์กับด้านธุรกิจ แน่นอน ส่วนใหญ่ธุรกิจโรงพยาบาลคือการโอเปอเรชั่น ซึ่งการออกแบบมีส่วน contribute ให้กับการสร้างสมดุลเมดิคอลกับฮอสพิทาลิตี้อย่างมาก”

4 โครงสร้าง+4 งานดีไซน์หลัก

หัวใจแห่งความสำเร็จมาจากทีมงานมากประสบการณ์ ทำให้ pgd เฮลท์แคร์ ดีไซน์ โซลูชั่น มีโครงสร้างผู้บริหารที่เก็บรายละเอียดโครงสร้างการทำงานทุกเม็ด เริ่มจาก “ม.ล.สุรวุฒิ ทองแถม” อดีตเจ้าของและผู้บริหารโรงแรมเครืออมารี รีไทร์ ต้นปี 2564 สด ๆ ร้อน ๆ (ดูกราฟิกประกอบ)

ถัดมา “นพ.ชาตรี ดวงเนตร” ดีกรีอดีตหมอไทยในอเมริกา ตั้งแต่จบจากศิริราช กลับมาทำใน รพ.บำรุงราษฎร์ ก่อนจะรีไทร์ใน รพ.กรุงเทพ เมื่อปี 2563 เป็นมือวางอันดับ 1 ในการวาง medical planning ให้กับการก่อสร้างโรงพยาบาลที่การออกแบบในปัจจุบันและอนาคตต้องใส่ new normal เพราะต้องคำนึงเชื้อโรคที่อบอวลอยู่ในอาคาร การกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ใน รพ. การจัดโฟลว์สเปซต่าง ๆ

ในด้านดีไซน์ “ดร.แดง” รับผิดชอบดูแลโดยตรง น่าสนใจมากที่มีการวางทีมงานออกเป็น 4 โครงสร้างหลัก ประกอบด้วย “แลนด์สเคป” รับผิดชอบโดย “ศรายุธ ชนะชัย” แห่ง Moss Studio เพราะงาน รพ.ต้องทำระดับ healing land-scape มาจากข้อตระหนักที่ว่าทางการแพทย์ ต้นไม้ใบหญ้าในโครงการมีส่วนช่วยในการรักษาคนไข้ ทำให้ recover ได้เร็วขึ้น

“ไลติ้งดีไซน์” โดย “ชนรรถ โชติษฐยางกูร” แห่ง With Light ที่ต้องดีไซน์คำนึงประโยชน์ใช้สอย การติดตั้งและเลือกเฟ้นแต่ละแผนกโรค ตำแหน่งไฟไม่เหมือนกัน อาทิ แผนกผิวหนัง ตา ไต ฯลฯ ทั้งยังต้องมีความสวยงาม การบำรุงรักษา ที่สำคัญ ต้องประหยัดพลังงานเพราะค่าใช้จ่ายแพงสุดในโรงพยาบาลก็คือค่าไฟนี่เอง

อีกส่วนคือ “กราฟิกและป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ-signage design” อาจเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เป็นปัญหากวนใจในทุก รพ. เหตุผลนิดเดียวเพราะไม่มีทีมงานนี้มาดูแลตั้งแต่ต้น รับผิดชอบโดย “ปิยพงศ์ ภูมิจิตร” แห่ง Shake & Bake Studio ซึ่งผลงานที่ทำจะดีลหรือถูกใช้งานโดยต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยผู้ใช้บริการ เช่น คนไข้ คนเยี่ยม แม้แต่ญาติเฝ้าไข้

“กราฟิกและป้ายสัญญาณเราต้องการให้มีระบบ มีประสิทธิภาพสูง อ่านได้ชัดเจนในเวลารวดเร็ว เพราะปัจจุบันและอนาคตจะลิงก์กับ operation ของ รพ.ด้วย โดยเฉพาะ digital signage เปิดใช้แอปแล้วสามารถเดินได้ต่อเนื่องไปยังแผนกที่ต้องการติดต่อ เช่น เจาะเลือด จ่ายเงิน หอผู้ป่วย ฯลฯ”

และ “healing art” โดย “ดวงธิดา บุญให้” ทำหน้าที่รวบรวมศิลปินเพื่อพัฒนาศิลปะในแนวนี้ ประเด็นพิจารณาคือทุก รพ. ส่วนใหญ่มองเป็นสิ่งสุดท้ายที่คำนึงถึง มักจะมาเริ่มคิดตอนลงมือก่อสร้างและตกแต่งเสร็จค่อยมองหางานอาร์ตเวิร์กมาใส่ แต่ pgd จะคิดคอนเซ็ปต์ตั้งแต่ต้น ดีไซน์มีโจทย์ไปทางไหน จะต้องล้อกันไปยังไง

สุดท้าย โครงสร้างทีมงาน pgd-Paul Group Design อีก 2 คน คือ “รศ.ดร.วันชัย เทพรักษ์” ผู้บริหารที่ ดร.แดงเชิดชูเกียรติว่าเป็น structure engineer มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ กับ “ผศ.ดร.อุทัย ไชยวงศ์วิลาน” ประสบการณ์ออกแบบ Mechanical & Electrical Engineer

พรมแดนการรับงานยังเปิดกว้างออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเตรียมคีย์แมนไว้อีก 2 ราย คือ “ไมเคิล ฮีย์ส” แห่ง RTKL บริษัทชื่อดังจากสหรัฐ โชกโชนการออกแบบเฮลท์แคร์ กับกลุ่ม CPG คอร์ปอเรชั่น แห่งสิงคโปร์ เจ้าของผลงานออกแบบเฮลท์แคร์มากที่สุดในสิงคโปร์

วิน-วินเกมลงทุนโรงพยาบาล

ทั้งหมดนี้มีคำถามสำคัญคือ เฮลท์แคร์ ดีไซน์ โซลูชั่น มีประโยชน์ต่อเจ้าของโรงพยาบาลอย่างไร

“ดร.แดง” สรุป 2 ข้อสั้น ๆ 1.ประหยัดเวลาในไซต์ก่อสร้างได้ 30-40% เพราะทุกอย่างเก็บรายละเอียดตั้งแต่ต้นในขั้นตอนการออกแบบ ผลพลอยได้อัตโนมัติทำให้มีผลต่อต้นทุน เพราะถ้าหากก่อสร้างยืดเยื้อ ย่อมมีผลต่อภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มาสร้างโครงการ

2.บริการครบวงจรเบ็ดเสร็จ total solution ผูกพันกับเงื่อนไขบริการที่เจ้าของ รพ.ตั้งงบประมาณลงทุนเท่าไหร่ ทีมออกแบบสามารถควบคุมให้อยู่ในงบฯลงทุน เพราะมั่นใจว่าไม่มี loose end

วิน-วินเกมมีแถมให้อีกเรื่อง ประสบการณ์และชื่อเสียง “หมอชาตรี ดวงเนตร” มีเครดิตมากเพียงพอที่หากมีชื่อแปะผนังในฐานะเป็น consultant team จะมีผลต่อการทำธุรกิจโรงพยาบาลที่คุณหมอเป็นที่ปรึกษาให้อย่างแน่นอน

บริการเฮลท์แคร์ ดีไซน์ โซลูชั่น จึงมั่นใจว่าตอบสนองเทรนด์ next normal การลงทุนยุคหลังโควิด