ต่อสัญญา”ซี.พี.”ขายอาหารตู้เสบียงรถไฟใหม่

จับตาประมูลรับสัมปทานขายอาหารบนตู้เสบียง 4 ภาค ต่อสัญญา “ซี.พี.” 4 เดือน รถไฟโอดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ปรับขึ้นค่าโดยสารที่นั่งละ 185 บาท

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ข้อสรุปจะต่อสัญญา 4 เดือน ให้ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ให้บริการร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่จำหน่ายอาหารแช่แข็งและกาแฟมวลชนในเครือ ซี.พี. เป็นผู้ให้บริการอาหารบนขบวนรถไฟใหม่ทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หลังครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 11 พ.ย. 2560

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้จัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดหาเอกชนที่จะมาดำเนินการต่อ หลังหมดสัญญากับ ซี.พี.แล้ว โดยเสนอนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและดำนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป

“ระหว่างนี้ให้ ซี.พี.ขายอาหารไปก่อน 4 เดือน ถึงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2561 ที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูล ซึ่ง ซี.พี.ก็มีสิทธิ์่จะยื่นประมูลได้” แหล่งข่าวกล่าว และว่า

ทั้งนี้ บนรถด่วนขบวนพิเศษโฉมใหม่นี้จะมีรถตู้เสบียงอาหาร 1 คันไว้บริการรับประทานอาหาร แต่เอกชนที่ได้สัมปทานจะสามารถเข็นรถเพื่อขายให้กับผู้โดยสารได้ด้วย โดยค่าอาหารคิดแยกออกจากค่าตั๋ว ซึ่งผู้โดยสารต้องสั่งเมนูจากร้านค้าเอง รายการอาหารบนตู้เสบียงจะมีขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ของใช้ประจำวัน และกาแฟสด

เวลาให้บริการเริ่มตั้งแต่ 18.00-22.00 น. หรือจนกว่าผู้โดยสารจะพักผ่อน ในขณะที่ร้านขายอาหารจะบริการตั้งแต่ 04.00-22.00น. พร้อมบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีทุก 2 ชั่วโมง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถนอนปรับอากาศชั้นที่ 1 สามารถสั่งอาหารจากที่นั่งแบบออนไลน์ได้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯกล่าวว่า หลังได้จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน เพื่อเป็นการลงทุนในล้อเลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำรถโดยสารที่มีความทันสมัย และพัฒนาบริการที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สนองตอบความต้องการของผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อ โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 ใน 4 เส้นทางหลัก ไปและกลับ จำนวน 8 ขบวนต่อวัน โดยคิดค่าโดยสารอัตราเดียวกับขบวนรถเชิงพาณิชย์หรือขบวนด่วนพิเศษในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2560 ได้ปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยประมาณ ราคา 190 และ 145 บาท ต่อที่นั่ง เพื่อให้รถไฟมีรายได้ในระดับเลี้ยงตัวเองได้และนำไปปรับปรุงบริการให้เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางรางให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ได้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและความสบายมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการน้ำดื่ม บริการ WIFI จอ LED แสดงสถานะข้อมูลการเดินรถ และรายการบันเทิงต่าง ๆ บนขบวนรถ ทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะทำให้แต่ละที่นั่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 185 บาทต่อคน