โควิดทุบผู้โดยสาร “ระบบขนส่งสาธารณะ” ลดฮวบยกแผง

ขนส่งสาธารณะ
Mladen ANTONOV / AFP

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกที่ 3 ที่กำลังเขย่าขวัญคนไทยทั้งประเทศ จากสถิติยอดติดเชื้อรายวันที่เพิ่มหลักพันราย

ทำให้รัฐบาลออกสารพัดกฎเหล็กคุมการแพร่ระบาด ทั้งคุมเวลาเปิดปิดสถานที่เสี่ยง เว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากตลอดเวลา งดการเดินทางหากไม่มีความจำเป็น

จากมาตรการคุมเข้ม-เน้นย้ำ ปฏิเสธไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการขนส่งสาธารณะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจสถานการณ์ของระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันทุกโหมดการเดินทางไม่ว่าจะบก ราง น้ำ และอากาศ โดยรวมลดลงทุกโหมดการเดินทาง

“รถเมล์”คนใช้วูบ 40-60%

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และการที่แต่ละจังหวัดมีมาตรการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นตามนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

ทำให้ผู้โดยสารในรถสาธารณะทั้งรถโหมด 1 รถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และรถโหมด 2 รถโดยสารประจำทางวิ่งจากกรุงเทพฯไปจังหวัดต่างๆ ลดน้อยลงอย่างมาก

โดยจำนวนผู้โดยสารเปรียบเทียบช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 และช่วงการระบาดรอบที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า รถโหมด 1 (นับรถเมล์ขสมก.- รถเมล์ร่วม) ผู้โดยสารจาก 780,000 คน เหลือประมาณ 430,000 คนลดลงประมาณ 40% ส่วนรถโหมด 2 ผู้โดยสารจาก 60,000 – 70,000 คนในช่วงปกติ เหลือเพียง28,000 คน หายไปประมาณ 60%

จ่อออกมาตรการตามหลัง ศบค.

ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เบื้องต้น อนุญาตให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่งพิจารณาปรับลดเที่ยววิ่งรถโดยสารลงตามความเหมาะสมแล้ว และหลังจากที่ ศบค.ออกประกาศยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ เพื่อคุมการแพร่ระบาด

“กรมกำลังเตรียมที่จะออกมาตรการกำกับดูแลการเดินรถโดยสารใน 6 จังหวัดดังกล่าวต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการให้งดเดินทางข้ามจังหวัดก็คงจะต้องมีคำสั่งกำกับตามลงไป”

ระบบรางคนใช้ร่วง 3.7 แสนคนเที่ยว/วัน

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เก็บข้อมูลตัวเลขผู้โดยสารเฉลี่ยในแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 – วันที่ 26 เม.ย. 2564 พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค., มี.ค. – 26 เม.ย. 2564) อัตราผู้โดยสารมีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามปัจจัยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยตัวเลขในเดือน ม.ค. 2564 มีจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางของไทยทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถไฟธรรมดา รวม 508,426 คนเที่ยว/วัน แบ่งเป็น ระบบรถไฟ ร.ฟ.ท. 24,505 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ (ARL) 21,823 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-ม่วง (MRT) 159,197 คนเที่ยว/วัน และระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) 302,901 คนเที่ยว/วัน

“เป็นผลมาจากการระบาดระลอกที่ 2 ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ที่เกิดจากการปล่อยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย “

ขณะที่ ในเดือน มี.ค. 2564 ผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 898,697 คนเที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2564 ที่ 390,271 คนเที่ยว/วัน จำแนกเป็น ระบบรถไฟ ร.ฟ.ท. 35,138 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้า ARL 41,225 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้า MRT 284,767 คนเที่ยว/วัน และระบบรถไฟฟ้า BTS 537,567 คนเที่ยว/วัน

“เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการให้บริการเดินรถรับส่งในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564”

และล่าสุดเดือน เม.ย. 2564 (ข้อมูล 1-26 เม.ย. 2564) พบว่า ผู้โดยสารโดยรวมปรับตัวลดลงเหลือ 527,835 คนเที่ยว/วัน ลดลงจากเดือนมี.ค.2564ที่ 370,862 คนเที่ยว/วัน จำแนกเป็น ระบบรถไฟ ร.ฟ.ท. 31,389 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้า ARL 25,214 คนเที่ยว/วัน, ระบบรถไฟฟ้า MRT 158,416 คนเที่ยว/วัน และระบบรถไฟฟ้า BTS 312,816 คนเที่ยว/วัน เป็นผลมาจากการระบาดระลอกที่ 3 ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564

“กรมท่าฯ”หวัง ก.ค.นี้ผู้โดยสารฟื้น

ด้านขนส่งทางอากาศ ในส่วนของ 28 สนามบินภูธร แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนเม.ย. 2564 โดยภาพรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารน่าจะเริ่มกลับมาเท่าเดิมอีกครั้งในเดือนก.ค. 2564

ผงะ! เที่ยวบินเหลือแค่ 31 เที่ยว/วัน

โดยก่อนการระบาดระลอกที่ 3 จำนวนผู้โดยสารเดินทางในช่วงเดือน มี.ค. 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 คน/วัน คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 120 เที่ยวบิน/วัน และภายหลังจากมีการแพร่ระบาดเมื่อต้นเดือนเม.ย. 2564 จำนวนผู้โดยสารค่อยๆลดลง ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา จนถึงตัวเลขต่ำสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 พบมีผู้โดยสารรวมทุกแห่งเพียง 4,134 คน/วัน คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 31 เที่ยวบิน/วัน

“คาดการณ์ว่า ในเดือนพ.ค. 2564 จะมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเดินทางเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยที่ 9,500 คน/วัน คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยที่ 70 เที่ยวบิน/วัน และตัวเลขของการเดินทางในภาพรวมจะกลับมามีจำนวนเท่ากับเดือนมี.ค. 2564 ได้อีกครั้งในเดือน ก.ค. 2564 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 28,000 คน/วัน คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยที่ 147 เที่ยวบิน/วัน”

ยกเลิกไฟล์ทบินแล้ว 1.5 พันเที่ยว

ขณะที่ ภาพรวมของจำนวนสายการบินที่ขอยกเลิกเที่ยวบินในเดือนเม.ย. 2564 รวมแล้วประมาณ 1,525 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 28% จากจำนวนเที่ยวบินที่ขออนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยท่าอากาศยานที่มีการยกเลิกเที่ยวบินมากที่สุดในเดือนเม.ย. 2564 คือ ท่าอากาศยานแม่สอด ลดลงกว่า 83%