ถกไซต์ก่อสร้างบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ เสียงสะท้อนมาตรการปิดแคมป์ 1 เดือน

สัมภาษณ์พิเศษ

คำสั่งห้ามทำงานก่อสร้าง 30 วันในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 6 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ภายใต้มาตรการ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” มีผลตั้งแต่ 28 มิถุนายน-27 กรกฎาคม 2564 ในฝั่ง “รัฐบาล-ศบค.-หมอ” บอกว่าเป็นยาแรงแต่ทำแล้ว “เจ็บแต่จบ”

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วรยุทธ กิตติอุดม” ซีอีโอกลุ่ม RK-รุ่งกิจ พร็อพเพอร์ตี้ และอุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กับ “วสันต์ เคียงศิริ” ซีอีโอกลุ่มธารารมณ์ ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เพราะสำเหนียกว่าได้ยินเสียง “เจ็บจี๊ด ๆ” จากผู้ประกอบการที่มีไซต์ก่อสร้างบ้านแนวราบกระจายอยู่ในทำเลขอบเมืองกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล

วรยุทธ กิตติอุดม

วรยุทธ กิตติอุดม
อุปนายก ส.อสังหาริมทรัพย์ไทย
“บ้านแนวราบกระทบการส่งมอบช้า เสียโอกาสทั้งคนซื้อ-คนขาย”

Q : ผลกระทบปิดแคมป์ 1 เดือน

ถ้าเป็นแบบนี้ความเสียหายก็จะขยายวงกว้างไปเยอะ ธนาคารก็อาจระงับการปล่อยสินเชื่อ เพราะหมดอายุของระยะเวลาการให้วงเงิน ปกติธนาคารอนุมัติสินเชื่อจะให้เวลาไม่เกิน 2 เดือนที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า แต่คำสั่งหยุดก่อสร้าง 1 เดือนทำให้เบิกเงินสินเชื่อไม่ได้เพราะไม่มีการโอน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ธนาคารก็มีสิทธิ์ไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับรายนั้นต่อก็ได้

มองในมุมนี้จะทำให้สูญเสียโอกาสไปสำหรับคนที่จะซื้อ แน่นอนว่าคำสั่งปิดแคมป์แบงก์ก็มีโอกาสที่จะเข้าใจ แต่ก็เป็นสิทธิ์ของแบงก์ที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ได้

ถ้าต้องคืนวงเงินสินเชื่อ ก็ต้องมาเริ่มขายใหม่ นับหนึ่งใหม่ เสียโอกาสทั้งการขายการโอน ในขณะที่ดอกเบี้ยก็วิ่งตลอด เรื่องสินเชื่อของลูกค้าก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่ง ฝั่งบริษัทมีเรื่องดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของบริษัทก็ถูกกระทบไปด้วย เพราะยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก 1 เดือนทำให้เสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกเยอะ

Q : การส่งมอบล่าช้า มีวิธีแก้ปัญหายังไง

RK มีไซต์ก่อสร้าง 2 โครงการ เรื่องส่งมอบเรื่องโอนมีทุกเดือนเพราะเป็นบ้านแนวราบ ตอนนี้ต่อให้เราไม่ก่อสร้างแต่ก็ยังมีทุก ๆ โครงการที่ยังต้องมีการเก็บงานส่งมอบบ้าน ทุกโครงการต้องมีคนงานมาเก็บงานสี งานฝ้า งานต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ถ้าเราสั่งหยุดหมดเลยแบบนี้ก็ทำให้ไม่สามารถส่งมอบได้ทุกโครงการ เป็นผลกระทบวงกว้างเลย ทั้งเรื่องของแรงงานแคลชโฟลว์ ดอกเบี้ย สินเชื่อ

ผมว่าตอนนี้คำสั่งปิดแคมป์อยู่ในช่วงก้ำกึ่ง อยู่ในช่วงเริ่มต้น อยากดูสถานการณ์สัก 3-5 วัน ถ้าภาครัฐผ่อนปรนในบางพื้นที่ ตรวจบางพื้นที่แล้วปรากฏว่าการแพร่ระบาดไม่ขยายวงกว้าง ก็น่าจะรีบผ่อนปรนไปไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ถึง 1 เดือนก็ได้

สำหรับผู้รับเหมาคู่สัญญาของ RK มีบางส่วนเริ่มมีแนวโน้มว่าจะขอขยายเวลา คนงานในไซต์ไม่เกิน 30 คน ส่วนใหญ่เป็นของผู้รับเหมาซึ่งทำงานระบบก่อสร้างสำเร็จรูปหรือพรีคาสต์ก็เลยใช้คนไม่เยอะ ก็เลยไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่เรื่องของการติดเชื้อ แต่ตอนนี้สถานการณ์ถ้าไม่ให้ทำงานเลยจะมีผลกระทบหนักมาก

Q : จะหาใครมารันงานแทนคนงานก่อสร้าง

คนงานก็พักอยู่ในแคมป์แต่ทำงานไม่ได้ ถ้าจะหาใครมาทำแทนก็เป็น outsource มาช่วยครับ แต่ต้นทุนจะเพิ่มมาก เพราะแรงงานที่เป็นชุดซ่อมกับชุดสร้างค่าตัวคนละเรตกันอยู่แล้ว เช่น บริษัทที่เป็นชุดซ่อมค่าแรงแพงกว่าเพราะเป็นงานหลังการขาย งานซ่อมงานแก้ปกติค่าแรงสูงกว่าอยู่แล้วเพราะเป็นช่างชำนาญการโดยเฉพาะ เป็นการแก้งานที่ยังอยู่ในช่วงของการรับประกันการก่อสร้างอยู่

ค่าแรงเอาต์ซอร์สเฉลี่ยวันละ 800-1,500 บาทต่อคน เทียบกับค่าแรงคนงานก่อสร้างวันละ 300-600 บาท ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าว 300 บาทคือคนที่พูดไม่รู้เรื่องเลย พูดและฟังภาษาไทยไม่ได้เลย ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย ก็ต้องสอนงานกันเยอะ ในขณะที่แรงงานก่อสร้างที่เป็นคนไทยแทบจะไม่มีเลย

ประเด็นแคมป์คนงานก่อสร้างคิดว่าถ้าควบคุมไม่ให้คนงานออกไปไหน ทำบับเบิลแอนด์ซีลซึ่งมาตรการบับเบิลโปรโตคอลก็ดีอยู่แล้ว มีการตรวจสอบต่าง ๆ มีมาตรการต่าง ๆ ชัดเจน มีรายงานอยู่ตลอด ค่อนข้างดีสำหรับไซต์งานที่เป็นแนวราบ หรือมีแคมป์พักอาศัยอยู่ที่เดียวกับไซต์ก่อสร้าง แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องล็อกไม่ให้ทำงาน 30 วัน ผมมองว่ามาตรการเคร่งครัดไปนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำรัฐบาลคือขอให้ดูพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นไซต์งานเล็ก ๆ มีคนงานไม่เยอะ ขอให้พิจารณาผ่อนคลายคำสั่งหยุดงานก่อสร้าง 1 เดือน มาตรการนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้กับทุกที่ทุกไซต์เพราะไซต์ก่อสร้างบ้านจัดสรรเป็นไซต์ก่อสร้างเล็ก ๆ ไม่มีการพบคลัสเตอร์โควิดจากไซต์เล็กจึงไม่จำเป็นที่จะต้องปิดแคมป์-หยุดก่อสร้าง 1 เดือนไปทั้งหมด

วสันต์ เคียงศิริ

วสันต์ เคียงศิริ
นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
“มาตรการปูพรมไปหมด ถ้าต้องทำ OT รัฐจะเยียวยาหรือไม่”

Q : ผลกระทบคำสั่งหยุดก่อสร้าง 1 เดือน

กระทบค่อนข้างเยอะทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าทางตรงคือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ แม้ว่ารัฐบาลจะชดเชยในบางส่วน ซึ่งซัพพอร์ตในตอนนี้เรื่องประกันสังคมชดเชยค่าแรง 50% ไม่เกิน 7,500 บาท แต่การก่อสร้างไม่ได้มีเฉพาะคนงาน บริษัทมีพนักงานอีกหลายระดับ ทั้งซูเปอร์ไวเซอร์ คอนซัลต์ก็ต้องหยุดงาน ซึ่ง 7,500 บาทมันไม่พออยู่แล้ว

สำหรับบริษัทค่าใช้จ่ายมีอีกเยอะ ค่าดำเนินการที่มีโอเวอร์เฮด สมมุติมีเครน 1 ตัวค่าเช่าก็วันละเป็นแสนอยู่แล้ว 30 วันตก 3 ล้านบาทก็ไม่ได้มีใครพูดถึงเรื่องนี้ หรือดอกเบี้ยที่ไปกู้แบงก์มันวิ่งตลอด บอกให้หยุดงาน 1 เดือน แต่ดอกเบี้ยไม่ได้หยุดด้วย มีอีกหลายเรื่องที่มีผลกระทบค่อนข้างมากทีเดียว การออกมาตรการแบบนี้อาจจะปูพรมไปนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้นตอนนี้กำลังหารือร่วมกันใน 3 สมาคม (สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย) ว่าจะทำข้อเสนอแนะรัฐบาล อย่างน้อยไซต์ที่คนงานพักอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างซึ่งเราซีลอยู่แล้ว แต่ถ้าเราซีลแล้วให้คนงานนั่งอยู่เฉย ๆ รัฐบาลต้องมานั่งชดเชย มันดูแปลก ๆ หน่อย

สมมุติว่าไซต์นั้นเราดูแล้วไม่มีผู้ติดเชื้อ เราซีลแล้ว เราก็ควรจะให้เขาทำงานต่อไปได้ ถ้าพบผู้ติดเชื้อเมื่อไหร่ค่อยปิดเป็นจุด ๆ ดีกว่า ตอนนี้กลายเป็นว่าไซต์ก่อสร้างรายเล็กรายกลางโดนหมดเลย ในเรื่องของการหยุดยั้งการแพร่ระบาดทุกคนเห็นความสำคัญ เรายินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่บางอย่างมันอาจไม่ได้ช่วยหยุดยั้ง แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น

Q : มีทหาร-ตำรวจเฝ้าหน้าแคมป์อยู่แล้ว

ใช่ ถ้าในชีวิตประจำวันเขา (คนงาน) ตื่นเช้าไปทำงาน พอตกเย็นก็กลับมาพักซึ่งอยู่ในที่เดียวกัน เราก็เพียงแต่คุมเรื่องการเข้าออก แต่ถ้าให้เขาอยู่เฉย ๆ แล้วไปจ่ายค่าชดเชยให้ บางทีมันอาจจะไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ ผมคิดว่าถ้าเราไม่พบผู้ป่วยก็ปล่อยให้เขาทำงานไป ดีกว่าให้อยู่เฉย ๆ

ส่วนแคมป์บ้านพักคนงานที่อยู่ห่างกับไซต์ก่อสร้างเราก็ควบคุมในเรื่องของการเดินทาง ควบคุมไม่ให้คนออกจากสถานที่ก่อสร้าง แล้วก็ไม่ออกจากบ้านพักคนงาน ส่วนการเดินทางประจำวันตอนเช้ากับตอนเย็น เราก็หามาตรการได้ในการควบคุมให้รัดกุม เช่น การใช้รถคันเดียวกันตลอด รถคันนี้จะต้องออกกี่โมงกลับกี่โมง อาจมีเจ้าหน้าที่นำ เพราะไหน ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าอยู่แล้ว ไม่ให้ลงจากรถ ไม่ให้มีการออกนอกเส้นทาง มีการติด GPS

นั่นคือต้องการชี้ให้เห็นว่าเราสามารถที่จะมีมาตรการควบคุมโรคระบาดได้ ถ้าโอเปอเรชั่นนี้ทั้งบ้านพักคนงาน ทั้งสถานที่ เรามีหน่วยคัดกรองที่เข้าไปแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อก็น่าจะปล่อยให้เขาทำงานต่อไปได้ เรื่องนี้ผมก็คิดว่าจะลดงบประมาณในการชดเชยด้วย ไม่อย่างนั้นเราจ่ายให้คนมานั่งเฉย ๆ มันไม่ค่อยปกติเท่าไหร่

แต่ก็เข้าใจว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงวันละ 4-5 พันคน เพราะฉะนั้นทุกคนก็คงกลัวเหมือนกัน มาตรการปิดแคมป์เราก็เห็นด้วย แต่จะต้องปรับรายละเอียดในบางส่วนที่ทำอยู่ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ที่สำคัญก็คืองบประมาณของภาครัฐด้วย ซึ่งผมคิดว่าเราควรใช้อย่างจำกัด

Q : รัฐชดเชยคนงาน 2,000 บาท

ข้อปฏิบัติการปิดแคมป์ทั้งหมดมันเป็นความลำบากยากเย็นทั้งนั้น ในภาพรวมถ้าไซต์ไหนดูแล้วมันปลอดจากผู้ติดเชื้อ และมีมาตรการที่ควบคุมได้น่าจะลองพิจารณาให้ดำเนินกิจกรรมทางด้านก่อสร้างได้ แต่หยุดก่อสร้างเลยสะเทือนเยอะ คนงาน เจ้าของงาน ผู้รับเหมา supply chain ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ผู้บริโภคก็ได้รับบ้านช้าลง เพราะการปิดไป 1 เดือนไม่ได้หมายความว่าวันที่ 1 ของเดือนถัดไปแล้วเริ่มก่อสร้างได้ บางทีไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าคนงานกลับไปหมดแล้วกว่าจะตามกลับมามันไม่เร็วทันที ผมคิดว่ารายละเอียดของมาตรการบางทีทางผู้ที่ดูแลก็เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ เราเข้าใจ ทีนี้อาจจะลองพูดคุยกันว่าเราขยับปรับเปลี่ยนตรงไหนได้ไหม ให้ผลกระทบมันน้อยที่สุด โดยที่ priority เป็นเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดอันดับ 1 อยู่แล้ว

Q : ถ้าส่งมอบช้าไป 1 เดือนกระทบตลาดรวมยังไง

บางส่วนอาจจะหายไป บางส่วนอาจจะไม่หายไปเลย แต่มันกลายเป็นการดีเลย์ เพราะฉะนั้นในการดีเลย์จะมีไฟเเนนเชียลคอสต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่อยู่อาศัยก็ต้องมีสัญญากับลูกค้าว่าต้องเสร็จภายในเดือนนี้ ถ้าไม่เสร็จลูกค้ามีสิทธิ์ปรับหรือคิดดอกเบี้ยได้ ตรงนี้ก็จะมีต้นทุนทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นมา หรืออยากจะเร่งงานเพราะเสียเวลาไป 1 เดือน ก็จะมีค่าโอทีเพื่อให้ผู้รับเหมาเร่งงานเพิ่มขึ้น

ซึ่งการทำโอเวอร์ไทม์มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น จะมีผลกระทบไปเรื่อย ๆ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือถ้าไม่เร่งแล้วส่งงานช้าก็จะเกิดความเสียหายอีก ยังไม่รู้ว่าใครจะช่วยเยียวยาได้เพราะไม่มีใครพูดถึงเรื่องพวกนี้

เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าในเรื่องของการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ (มาตรการปิดแคมป์) มีค่าใช้จ่ายจุกจิกเต็มไปหมดเลย ถ้าปรับที่ต้นเหตุได้ก็จะดีที่สุด เป็นภาระกับรัฐน้อยที่สุด ถ้าเราคิดว่าตรงไหนที่สามารถผ่อนปรนแล้วไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโควิคได้ ผ่อนปรนได้ไหม จะได้ลดภาระเยียวยาของภาครัฐ แล้วก็ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย

Q : ธารารมณ์มีกี่ไซต์ก่อสร้าง

มี 8-9 ไซต์ ตอนนี้ก็ต้องหยุดหมดทุกอย่าง การขายบ้านก็มียูนิตที่ต้องทยอยส่งมอบลูกค้าทุกเดือน คำสั่งนี้กระทบทันที ลูกค้าแจ้งซ่อมช่างก็เข้าไปซ่อมแซมไม่ได้ อย่างที่เรียนว่างานก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ตอนนี้มาตรการปูพรมไปหมด บ้านที่ลูกค้าเข้ามาตรวจมีแค่ 10-15 รายการ เราจะเอาช่าง 1-2 คน 2 คนเข้าไปซ่อมให้เรียบร้อยจะได้ส่งมอบจะได้โอน อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ ต้องหยุดหมดเลยตอนนี้เพราะประกาศคำสั่งค่อนข้างกว้างและครอบคลุมหมดทุกเรื่อง