เศรษฐกิจไทยปี’66 เติบโตฟื้นรับนักท่องเที่ยว เชียร์ผู้ประกอบการสร้างแบรนด์

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 มีรายงานว่า ช่วงกลางเดือน ก..ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ 3.4% คาดจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2%

โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจแตะที่ระดับ 22.5 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง ทำให้อาจมีการขยายตัวเพียง 0.7% เท่านั้น

Krungthai COMPASS ยังชี้ว่า คาดการณ์ปี 2566 ว่ายังคงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายด้านที่ล้วนมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ เช่น หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจไทยที่ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวตามกระแสโลก

ในขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในบ้านเรานั้นเริ่มฟื้นตัวและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ซึ่งภาคธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ไวจะมีความได้เปรียบมากกว่า รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือในการให้บริการ เช่น รูปแบบการบริการที่เป็นออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรตาม การวางกลยุทธ์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำ และการทำ personal branding จะเป็นทางออกที่ทำให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจในปัจจุบัน

นายสุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบรนด์ แมทเทอร์ แพลน จำกัด ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญการพัฒนากลยุทธ์แบรนด์และการตลาด ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในการสร้างแบรนด์กล่าวถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจไทยในปัจจุบัน หลังจากพิจารณาข้อมูลดังกล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ  ไม่ยึดติดกับวิถีเดิม ๆ หรือกลยุทธ์แบบเดิม และต้องมีความแม่นยำในการใช้งบประมาณ เพราะตลาดในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงขึ้น ขณะที่ประเภทของสินค้ายังคงวนเวียนอยู่ในกลุ่มเดิม ทำให้ทิศทางของการทำธุรกิจในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อมากขึ้น เพราะผู้ซื้อจะมีโอกาสได้ทดลองสินค้าใหม่ ๆ มากขึ้น ในขณะที่การคาดหวังให้เกิด brand royalty หรือความภักดีต่อแบรนด์ของลูกค้าจะยากมากขึ้น

นายสุวิทย์ระบุว่า สินค้าบางประเภทในปัจจุบันจะถูกขีดเส้นชัดเจนว่าอยู่ในโลกออนไลน์ หรือบางประเภทอยู่ในโลกออฟไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมักจะเชื่อมั่น และมองว่าตัวช่วยสุดท้ายของการทำธุรกิจคือต้องพึ่งพาความเป็นโลกออนไลน์ ซึ่งมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์อย่างเดียว สินค้าที่ไม่มีมิติในการทำให้เกิดความน่าสนใจจะถูกกลืนหายไปในตลาด

ซึ่งปัจจุบันค่านิยมของสินค้าที่จะไปผูกติดกับตัวอินฟลูเอนเซอร์นั้น มีแนวโน้มจะลดลง ในขณะที่การทำ personal branding จะกลายมาเป็นทางออกและตัวช่วยที่ดี

ในการสร้างแบรนด์สินค้า หรือแบรนด์ธุรกิจที่แข็งแรงนั้น การทำ Personal branding ของผู้ประกอบการถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นกลยุทธ์ในการขายตัวเองที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะสามารถทำให้ขายได้ตลอดชีวิต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีองค์ความรู้ที่มาเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า “Lifelong Learning” ซึ่งจะเป็นคีย์ซักเซสของการทำธุรกิจปัจจุบัน เพราะการทำตลาดไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่มีใครบอกว่าทุกสินค้าต้องขายผ่านบนออนไลน์แพลตฟอร์มเท่านั้นจึงจะสำเร็จ

แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการเอาตัวเองมาเชื่อมโยงกับสินค้า และเชื่อมโยงกับผู้บริโภค อันนี้ยากกว่า สินค้าแบรนด์ธุรกิจจะต้องสร้าง trust ให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อคนเชื่อถือหรือคล้อยตาม แบรนด์ก็จะไม่เหนื่อย เพียงแต่กลไกการสร้างทรัสต์ หรือความเชื่อมั่นต้องค้นหาให้เจอว่าจะใช้วิธีไหน ไม่มีสูตรตายตัว และมันอาจจะไม่ใช่รูปแบบของการทำคอนเทนต์รายวัน ซึ่งผู้บริโภคอาจจะเสพไม่ทันนายสุวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ “Personal branding” เปรียบเสมือนต้นตอของการทำธุรกิจ คือสร้างความเชื่อมั่น วิสัยทัศน์ของธุรกิจต้องชัดเจน และวิสัยทัศน์ที่ดีต้องเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับฐานลูกค้า Personal branding จึงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถทำให้เกิดผลได้ในระยะยาว แต่การทำ Personal branding ให้แข็งแรงนั้น ศักยภาพของบุคคลจะต้องพร้อมด้วย เช่น การที่จะบอกว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง เราก็จะต้องมีความรู้ที่แท้จริงในด้านนั้น และจะต้องมีการพัฒนา ทั้งทักษะ (Skill) และองค์ความรู้ (Knowledge) อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังต้องมีประสบการณ์ที่มากพอ และมีโครงสร้างขององค์กรและสินค้าที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ซึ่งจะส่งเสริมให้แบรนด์สามารถต่อยอดหรือเติบโตได้

ผู้ประกอบการมักจะเข้าใจผิดว่าสินค้าตัวเองมีนวัตกรรมก็เพียงพอ แต่ลืมคิดไปว่าการมีนวัตกรรมนั้น หากไม่ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องกลับมาให้ความสำคัญตั้งแต่ตรรกะหรือวิธีการคิด ก่อนเรื่อง red ocean (ตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงมาก) หรือ blue ocean (ตลาดที่โดดเด่นด้วยคุณค่าและความแตกต่างของแบรนด์ ธุรกิจ หรือสินค้า) อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการทำ personal branding แต่สินค้าจะต้องถูกจริตกับ persona ของผู้ประกอบการเอง ต้องตอบโจทย์การสร้าง culture ให้กับ personal branding โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผู้ประกอบการจะต้องสร้างตัวตนด้วย personal branding ที่แข็งแรงมาก เพื่อให้คนเห็นแล้วนึกถึงและจดจำ นี่คือการสร้าง trust และค่านิยมในแบรนด์นั่นเองผู้บริหารแบรนด์ แมทเทอร์ แพลนฯ กล่าว