เปิดใจ ปลัด มท. มุ่งขับเคลื่อนขยายผล หมู่บ้านยั่งยืนทั่วประเทศ

เปิดใจ ปลัด มท. มุ่งขับเคลื่อนขยายผล หมู่บ้านยั่งยืนทั่วประเทศ พร้อมลุย พา UN ดูพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จ ตำบลโก่งธนู จ.ลพบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปณิธานของคนมหาดไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาขยายผลทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง

ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำริด้านต่าง ๆ มาขับเคลื่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” มาขับเคลื่อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้ประชาชนทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนมีความสุข มีความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเกื้อการุณย์ และรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน

โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญ คือ ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็น 2 ชุมชนต้นแบบในการน้อมนำพระราชดำริดังกล่าวมาปฏิบัติในพื้นที่จนกลายเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ที่ประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

Advertisment

ที่สำคัญเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และคณะผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านเกาะหมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู และวัดญาณเสน ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

สำหรับ “พื้นที่บ้านเกาะ หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีแห่งนี้ เป็น Best Practice ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนและเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ของกระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน”

โดยนำพื้นที่สาธารณะมาปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ และด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำเอาสิ่งที่เป็นความสำเร็จของตำบลโก่งธนู คือ ความมั่นคงด้านอาหาร และน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องของการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทย มาส่งเสริมก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงเชื้อเชิญดีไซเนอร์และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงาน และขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับ UN เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนได้บริหารจัดการขยะดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ทุกครัวเรือนได้คัดแยกขยะโดยคัดแยกขยะเปียก (Food Waste) เพื่อลงสู่ถัง “ขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งเป็นแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ต่อยอดการหมักปุ๋ยในลักษณะระบบเปิด คือ ทำเสวียน สู่การทำถังขยะระบบปิด ต่อมาจึงเรียกว่า “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน”

Advertisment

การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืนทั้งหมดนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยการทำให้หมู่บ้านเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหาร ตั้งแต่บริเวณบ้านเรือนสะอาดถูกสุขลักษณะขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ตลอดจนเกิดการรวมกลุ่มที่เป็นวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต เป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ที่มีการร่วมประชุมพูดคุยกัน รวมตัวกันช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนา ช่วยกันทำสิ่งที่ดีทำให้คนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อเกิดผลสำเร็จก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ขยายผลไปสู่ตำบล/หมู่บ้าน ที่ร่วมกันรักษาภูมิปัญญาไทยที่เป็นมรดกตกทอดไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลัง และทำให้สังคมมีความมั่นคง ปลอดยาเสพติด ไม่มีโจรขโมย ยังผลไปสู่ความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคง

ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งดี ๆ จำนวนมากในอดีตเป็นการขับเคลื่อนโดยการนำของระบบราชการและเป็นการทำงานแบบแยกส่วน เช่น ถ้าปลูกผักก็เด่นเรื่องปลูกผัก แต่เรื่องการบริหารจัดการขยะก็ไม่ได้ทำ เรื่องของการส่งเสริมผ้า เราก็ส่งเสริมในเรื่องของการผลิตแต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาต่อยอด แต่ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงองค์รวมของคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย พระองค์จึงพระราชทานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และทรงอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยมีแรงหนุนเสริมสำคัญจากคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย และคณะ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ครอบครัวพี่น้องประชาชนในเชิงคุณภาพ

โดยเน้นให้เกิดการทำงานแบบ Partnership (ภาคีเครือข่าย) ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความคึกคักและเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์กับ UN เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญชวนทุกภาคส่วนของสังคมมาเป็นคณะทำงาน ทั้งผู้นำศาสนาพุทธคือพระ ผู้นำศาสนาอิสลามคือโต๊ะครู ฯลฯ และนักธุรกิจเอกชน นักวิชาการ ผู้นำ NGO สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนในระดับอำเภอ ท่านนายอำเภอก็ไปสร้างทีม Change Agent ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่งปัจจุบันนี้ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง