นวัตกรรมชุดเอ็กโซสูท ตัวช่วยการเคลื่อนไหว ลดเสี่ยงของผู้สูงอายุ-ผู้ดูแล ก้าวสำคัญสู่สังคมอายุยืน

นวัตกรรมชุดเอ็กโซสูท ตัวช่วยการเคลื่อนไหว ลดเสี่ยงของผู้สูงอายุ-ผู้ดูแล ก้าวสำคัญสู่สังคมอายุยืน

สวรส. บพข. สศอ. จับมือ เอ็มเทค สวทช. เปิดตัวนวัตกรรม ชุดเอ็กโซสูท (Exosuits) “เรเชล (Rachel)” และ “รอส (Ross)” นวัตกรรมชุดบอดี้สูทตัวช่วยผู้สูงอายุและผู้ดูแล เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ-ลดเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับสังคมอายุยืน

เมื่อวันที่ 28-31 มีนาคมที่ผ่านมา สวทช. จัดงานประชุมวิชาการสุดยิ่งใหญ่ประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (NSTDA Annual Conference) หรือ NAC2023 ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน”มีการจัดแสดงผลงานวิจัยและเทคโนโลยีจาก สวทช. และจากหน่วยงานพันธมิตรมากกว่า 70 ผลงาน มีการจัดสัมมนากว่า 40 หัวข้อ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

โดยหนึ่งในงานวิจัยที่เป็นก้าวสำคัญของประเทศสู่การเป็นสังคมอายุยืน คงหนีไม่พ้น ‘นวัตกรรมชุดเอ็กโซสูท (Exosuits)’ นวัตกรรมเพื่อสังคมอายุยืน ซึ่งได้วิจัยและพัฒนา เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ โดยประยุกต์นำเอานวัตกรรมในการดูแลตัวเอง รวมทั้งช่วยผู้ดูแลในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในการใช้ชีวิตประจำวัน

ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานผู้ให้ทุนในการพัฒนานวัตกรรม ให้พร้อมต่อการใช้งาน และเกิดการต่อยอดขยายผลในระดับประเทศต่อไป โดยชุดเอ็กโซสูท (Exosuits) ที่พัฒนาสามารถแบ่งตามกลุ่มผู้ใช้ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) เรเชล (Rachel)สำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้
ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) เรเชล (Rachel)
สำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้
ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) รอส (Ross)สำหรับผู้ดูแล
ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) รอส (Ross)
สำหรับผู้ดูแล

1.‘เรเชล (Rachel)’ ชุดบอดี้สูทสำหรับผู้สูงอายุ ออกแบบ วิจัยและพัฒนามาสำหรับ ผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อใช้สวมใส่ตลอดวัน ช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยมีการเสริมแรงด้วยกล้ามเนื้อจำลอง เพื่อการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นตัวช่วยผู้สูงอายุในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นยืน เดินขึ้นบันได ทำงานบ้าน เป็นต้น

Advertisment

2. ‘รอส (Ross)’ ชุดพยุงหลัง ที่ได้รับการออกแบบวิจัยและพัฒนา สำหรับบุคลากรทางการพยาบาล ได้แก่ พยาบาล เวรเปล หรือบุคคลทั่วไปที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นชุดสำหรับสวมใส่ที่มีกลไกเสริมแรง ทำหน้าที่ช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลัง ที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในระหว่างการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เช่น การยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การพลิกตัวผู้ป่วย การประคองผู้ป่วย โดยสามารถสวมใส่หรือถอดชุดได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว พร้อมใช้งานได้ทันที สามารถป้องกันการบาดเจ็บของบุคลากรทางการพยาบาล รวมถึงผู้ดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยกับ สวทช. เพื่อดำเนินโครงการวิจัยปรับปรุงประสิทธิภาพของชุดสวมใส่ พร้อมระบบติดตามและแอปพลิเคชัน เพื่อพยุงกล้ามเนื้อและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาและขยายผลการใช้งานต้นแบบชุดพยุงกล้ามเนื้อและอุปกรณ์วัดเตือนการบาดเจ็บแบบสวมใส่ หรือเรียกว่า ชุดเรเชล (Rachel) รุ่นออลเดย์ (All-day)

ชุดดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งวัน ช่วยป้องกันการบาดเจ็บระหว่างการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวัน และลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น เป็นเวลานานขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในระยะสั้น เช่น การป้องกันการหกล้ม และระยะยาว เช่น การปรับท่าทางในการทำกิจกรรมให้ถูกต้องตามหลักของการจัดวางท่าทางที่เหมาะสม และดีต่อสุขภาพ เพื่อลดอัตราการเสื่อมของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ตลอดจนลดการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเสริมพลังแห่งการมีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

Advertisment

“การสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมงานวิจัยของ สวรส. ตั้งอยู่บนเป้าหมายของการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ตลอดจนลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าว สวรส. วางแผนจะพัฒนาไปสู่การขยายผลในระบบสุขภาพ โดยคาดว่าจะพัฒนาเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เสริมว่า ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีชุดพยุงหลัง “รอส (Ross)” สำหรับบุคลากรทางการพยาบาล ที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อหลังอย่างหนัก ระหว่างการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปยังรถเข็น หรือจากการขึ้น-ลงรถ การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง โดยคณะวิจัยได้พัฒนาชุด “รอส (Ross)” ให้มีระบบติดตามและแจ้งเตือนท่าทางในการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะในภารกิจที่ท่าทางของร่างกายมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

ซึ่งได้พัฒนาจากปัญญาประดิษฐ์หรือโครงข่ายประสาทเทียมในการทำนายสถานะการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ ทำหน้าที่ช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลัง ที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังสามารถสวมใส่หรือถอดชุดได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับภารกิจเร่งด่วน บพข. เชื่อมั่นว่าจะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนจากเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่พัฒนาขึ้นเอง หรือมีการต่อยอดขึ้นภายในประเทศ

ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวถึงที่มาของการพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้ว่า การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” แล้วในปี 2565 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้สูงวัย

จึงได้ริเริ่มจัดตั้งโปรแกรม NSTDA Frontier Research Exoskeleton ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ‘เอ็กโซสเกเลตัน (Exoskeleton)’ เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุประเภทสวมใส่ เพื่อตอบสนองการทำกิจกรรมต่างๆ การช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง ตลอดจนเสริมสร้างสุขภาพให้มีความแข็งแรงยาวนานขึ้น

โดยมีลักษณะเป็นอุปกรณ์สวมใส่ภายนอกร่างกาย หรือที่เรียกว่า “เอ็กโซ-แอพพาเรล (Exoapparel)” หรือ “เอ็กโซ-สูท (Exosuit)” เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ป้องกันการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงการป้องกันการพลัดตกหกล้มมุ่งเน้นออกแบบให้เหมาะกับสรีระ และบริบทการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ นอกจากนี้มีการคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ต้นทุนสูง เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในราคาที่เข้าถึงได้
ในปีงบประมาณ 2565

เอ็มเทค สวทช. ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวรส. และ สกสว. เพื่อต่อยอดชุดบอดี้สูทสำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ จากชุดเรเชล (Rachel) รุ่นแอ็คทีฟ (Active) เป็นรุ่นออลเดย์ (All-day) โดยได้ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมของคณะวิจัย ในการพัฒนากล้ามเนื้อจำลองที่ใช้วัสดุผ้า และเทคนิคการตัดเย็บให้มีการยืดหยุ่นและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทำให้ตัวชุดรุ่นนี้ มีน้ำหนักเบา ใส่สบาย ระบายเหงื่อได้ดี สามารถใส่ได้ทั้งวัน แต่ยังคงช่วยเสริมในการเคลื่อนไหว และลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บในชีวิตประจำวันให้ยังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ลดการพึ่งพิงผู้อื่น

นอกจากนี้ เอ็มเทค สวทช. ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. ในการต่อยอดชุดพยุงหลัง “รอส (Ross) รุ่น แบ็คซัพพอร์ต (Back support)” ที่มีฟังก์ชันการเสริมแรงแบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับภารกิจทางการแพทย์ด้วย โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ทำนายการเคลื่อนไหว สามารถช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลัง ที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในระหว่างการเคลื่อนไหว ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ

อีกทั้งยังคำนึงถึงด้านการใช้งาน โดยใช้วัสดุที่มีโครงสร้างการที่โปร่ง ใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย และด้านการผลิต มีการใช้วัสดุในประเทศเป็นหลัก และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ต้นทุนไม่สูง เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการพยาบาล เช่น พยาบาล หรือเวรเปล รวมถึงบุคคลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

การวิจัยและพัฒนาชุดนวัตกรรมในครั้งนี้ ทาง สวรส. สกสว. บพข. และ สศอ. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในระยะยาว จึงให้การสนับสนุนคณะวิจัยจาก เอ็มเทค สวทช. จนสามารถพัฒนานวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย พร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน