ถอดบทเรียน ‘ธุรกิจครอบครัว 2023’

ถอดบทเรียน ‘ธุรกิจครอบครัว 2023’

ถอดบทเรียน ‘ธุรกิจครอบครัว 2023’ รวมกันเราอยู่ หรือแยกหมู่ (ทำเอง) ‘เวิร์คกว่า’

เมื่อธุรกิจครอบครัวได้ดำเนินการมาจนถึงเวลาที่ต้องส่งไม้ต่อไปยังทายาทธุรกิจที่ครอบครัวได้วางตัวไว้ แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทายาทธุรกิจไม่ประสงค์ที่จะสืบทอดธุรกิจครอบครัว เพราะไม่มีความชอบในกิจการที่ครอบครัวสร้างมา และมีความคิดอยากจะก้าวออกไปทำธุรกิจด้วยตัวเองในรูปแบบที่ตนเองถนัดและชื่นชอบมากกว่าธุรกิจครอบครัว ปัญหานี้จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร? หรือในอีกประเด็นหนึ่ง การที่ทายาทธุรกิจครอบครัวขอแยกตัวออกไปทำธุรกิจเอง อาจจะกลายเป็นข้อดีที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจครอบครัวทางอ้อม หากทายาทธุรกิจนั้น ใช้การต่อยอดจากธุรกิจที่ครอบครัวได้สร้างไว้ ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เป็นแนวทางของตัวเอง ถ้าเป็นเช่นนั้น ทายาทธุรกิจจะสามารถเลือกทำตามความฝันของตนได้หรือไม่ สำหรับการทำธุรกิจยุค 2023 นี้

รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็น ว่า ปี 2023 จะเป็นปีปราบเซียนที่ท้าทายผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ ธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างมาก เรียกว่า วิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศสูง การแข่งขันและการกีดกันทางการค้า ฯลฯ ปัญหาด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องหาวิธีการบริหารจัดการธุรกิจให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ โดยมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)  และชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) ปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Resilience Mindset) ให้พร้อมปรับตัวรับมือกับวิกฤตการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ ภาพรวมสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอาจนำมาสู่ปัญหาหนึ่งที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ นั่นก็คือ การทำธุรกิจครอบครัว ในยุคที่มีความท้าทายจากปัจจัยลบรอบด้าน ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันสูงเพื่อความอยู่รอด ซึ่งอาจเป็นผลให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทธุรกิจรู้สึกว่า ไม่อยากรับช่วงต่อของธุรกิจครอบครัว

Advertisment

ทายาทธุรกิจที่เกิดมาพร้อมธุรกิจที่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือรุ่นพ่อ-แม่ได้สร้างไว้  อาจทำให้คนภายนอกรู้สึกว่า เป็นความโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงาน โดยไม่ต้องลำบากหางานเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ทายาทธุรกิจอาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้น โดยมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่อยากสานต่อ เช่น ต้องมีภาระรับผิดชอบสูงจากความคาดหวังของครอบครัว ทำให้เกิดความกดดัน เนื่องจากต้องพิสูจน์ฝีมือในการก้าวเข้ามารับหน้าที่ในการบริหารงานต่อในช่วงเวลาที่ธุรกิจมีอุปสรรครายล้อมรอบด้าน ซึ่งถ้าสอบผ่าน ก็จะไม่มีปัญหาในการรับหน้าที่ผู้นำของธุรกิจครอบครัวคนต่อไป แต่หากไม่สามารถนำพาธุรกิจไปต่อได้ตามที่ครอบครัวคาดหวัง อาจจะกลายเป็นความผิดหวัง สูญเสียความมั่นใจ และหมดกำลังใจที่จะทำต่อ เป็นต้น

อีกเหตุผลหนึ่ง การหมด Passion ของทายาทธุรกิจ อาจจะไม่ใช่เรื่องความคาดหวัง แต่เป็นเพราะมีความฝันที่อยากจะทำ หรือมีความชอบ ความถนัดอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากธุรกิจครอบครัว จึงไม่อยากฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบ นอกจากนั้น อีกเหตุผลหนึ่ง คือ อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้ไปเรียนหรือไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมที่มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง รักอิสระ ชื่นชอบเทคโนโลยี นวัตกรรม ฯลฯ ส่งผลให้ต้องการใช้ชีวิตตามที่ต้องการมากกว่าสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่มีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจตายตัว ดังนั้น การเจรจาต่อรองประนีประนอมเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันและกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องกระทำ เพราะจะส่งผลต่อความรัก ความสามัคคีของสมาชิกครอบครัว และการดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัวในอนาคต

รศ. ทองทิพภา ระบุว่า การสืบทอดทายาทธุรกิจ เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ โดยควรย้อนกลับไปดูตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการสืบทอดของทายาทธุรกิจครอบครัวว่า ครอบครัวมีกระบวนการบ่มเพาะเพื่อปลูกฝังความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในธุรกิจครอบครัวให้แก่ทายาทหรือไม่ มีกระบวนการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจในสภาพของธุรกิจครอบครัวมาก-น้องเพียงใด มีกระบวนการในการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นทายาทธุรกิจหรือไม่ อย่างไร มีการให้โอกาสแก่ลูกหลานได้พิสูจน์ฝีมือในช่วงเวลาที่พร้อมและเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น การคัดเลือกสมาชิกครอบครัวที่จะเข้ามาทำงานใน ธุรกิจครอบครัว มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการทำธุรกิจประเภททั่วไป ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จึงควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทายาทพร้อมเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว และลดความขัดแย้งในการส่งต่อการทำธุรกิจครอบครัวให้แก่คนในรุ่นถัดไป

ผู้นำธุรกิจครอบครัว หรือคนรุ่นพ่อ-แม่ ที่สร้างธุรกิจเอาไว้ ลองเปิดใจให้กว้างและยอมรับว่า ลูกไม่ชอบทำธุรกิจ หรือไม่มีใจรักในการทำธุรกิจกับครอบครัว โดยปล่อยให้ทายาทออกไปค้นหาประสบการณ์และลองทำสิ่งที่ชอบ ซึ่งมีหลายครอบครัวที่เป็นตัวอย่างของการประสานประโยชน์ธุรกิจครอบครัวกับธุรกิจของทายาทที่ประสบความสำเร็จ โดยทายาทที่ออกไปทำงานสายอื่นได้กลับมาช่วยซัพพอร์ตธุรกิจของครอบครัวในอีกรูปแบบหนึ่ง

Advertisment

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่    www.Bangkokbanksme.com

#ธุรกิจครอบครัว #FamilyBusiness #Disrutption #ทายาทธุรกิจ #sme #bangkokbank #bangkokbanksme #sme #SMEUpdate