‘บีจีซี’ เปิดแผนปี 63 รุกโทเทิล แพคเกจจิ้ง เพิ่มกำไร พร้อมลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ต่อยอดธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร

บีจีซี ปรับตัวรับแนวโน้มบรรจุภัณฑ์ วางแผนกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร หรือโทเทิล แพคเกจจิ้ง โซลูชั่น อย่างเต็มตัว ยกระดับการผลิตครบวงจร พร้อมรุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าโต 5-10% ยอดขาย 1.3 หมื่นล้านในปี 63 เล็งลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสเติบโตสร้างรายได้ระยะยาว

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี (BGC) กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว โดยมีกำลังผลิตรวม ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ครองส่วนแบ่งอุตสาหกรรมขวดแก้วเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ การเติบโตของปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 พบว่าภาพรวมเติบโตขึ้น 8.2% มีมูลค่ารายได้ประมาณ 11,100 ล้านบาท จากผลิตภัณฑ์หลักซึ่งเป็นขวดแก้วในธุรกิจเบียร์ทั้งในและต่างประเทศ ขวดซอฟดริงค์ ขวดบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยลูกค้าหลักเป็นเครือบุญรอดและบริษัทผู้ถือหุ้น เช่น กรีนสปอร์ต กระทิงแดง ไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลูกค้าต่างประเทศทั้งเวียดนาม ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อินเดีย ยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา

“จากศักยภาพทางธุรกิจของบริษัท ทำให้เราปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ จากเดิมที่เน้นบรรจุภัณฑ์แก้วเพียงอย่างเดียว มุ่งสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร หรือโทเทิล แพคเกจจิ้ง โซลูชั่น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้เริ่มนำบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เข้าไปนำเสนอแก่ลูกค้านอกเหนือจากบรรจุภัณฑ์แก้วที่เราผลิต เช่น ฝาขวด กล่องกระดาษ ฉลากสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะควบรวมกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเพื่อทำให้เกิดความครบวงจรในการผลิตสินค้าและการบริการ

“กล่าวโดยสรุปของปี 2562 เป็นปีที่ดีทั้งเรื่องการเติบโตของยอดขาย การหาและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่มากขึ้นของบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์อื่น นอกจากนี้ยังมีการออกธุรกิจใหม่ๆ ที่แตกต่างจากธุรกิจปัจจุบัน คือการเข้าไปเพิ่มผลผลิตในพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้กำไรดี 10-20% ล่าสุดได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม 2 โครงการ คือ โครงการ XuanTho1 และโครงการ Xuan Tho2 ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วทั้ง 2 โครงการ” นายศิลปรัตน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีจีซี คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานบริษัทจะเติบโต 5-10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนการเติบโตยังมาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 95% และธุรกิจพลังงาน 5% โดยในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จะเน้นขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีโอกาสเติบโต รวมถึงเพิ่มช่องทางในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งตื่นตัวในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Advertisment

“ในไตรมาสแรกของปี 2563 ธุรกิจของเรายังมีความเข้มแข็ง ยอดขายยังเติบโตอยู่และกำลังการผลิตยังเต็มไปจนถึงเดือนเมษายน ยืนยันว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ยกเว้นว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ แต่ยังเชื่อมั่นว่ายังไม่กระทบกับผลกำไรโดยรวม”

นายศิลปรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บีจีซี ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่กับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ รองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต สิ่งที่บีจีซีจะเน้นเป็นพิเศษในปี 2563 คือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเตาเผาเพิ่มเติม และยังเพิ่ม

ปริมาณการส่งออกได้ด้วย
“บริษัทได้เตรียมงบประมาณ 400-500 ล้านบาทในแต่ละปี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการผลิต โดยการจัดหาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง และปรับปรุงกระบวนการผลิตเดิม ปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) โดยการติดเซ็นเซอร์ในจุดต่างๆ เพื่อรายงานสถานภาพการผลิตแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดจากการผลิต รวมทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลการผลิตในทุกจุดอย่างละเอียด เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการนำไปวิเคราะห์ด้วยระบบเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ และนำผลไปปรับปรุงระบบการผลิตต่อไป โดยในปัจจุบันบริษัท ใช้กำลังการผลิตเกือบ 100% และได้มีการปรับปรุงระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เรามีแผนขยายกลุ่มลูกค้าไปยังผลิตภัณฑ์แก้ว High Value เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มราคาแพง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรได้มากขึ้น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีจีซี กล่าว