สืบสานพระราชปณิธาน ร.๙ จัดตั้งวิทยาลัยศาสตร์พระราชา

สัมภาษณ์

ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง และอื่น ๆ อีกมากมาย รับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมัยยังรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี

ด้วยการจดบันทึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อจัดทำแผนงานสนองพระราชดำริ ติดตาม ประเมินผล และประมวลผลงานสนองพระราชดำริของหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“อาจารย์ยักษ์” ยอมรับว่า สิ่งที่พระองค์คิด ทดลอง และปฏิบัติตลอดมา อาจทำให้เขาไม่ค่อยเข้าใจนักในเบื้องต้น บางครั้งยังแอบคิดด้วยว่า พระองค์ทรงรู้ได้อย่างไรว่าทำอย่างนี้แล้ว ผลจะออกมาเป็นแบบนี้

“หรือบางครั้งพระองค์ทรงคาดการณ์อนาคตล่วงหน้าว่า ถ้าโลกขับเคลื่อนแบบนี้ ประเทศขับเคลื่อนแบบนี้ แล้วทุกคนมุ่งที่จะเป็น State of Growth ตามทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาของนักวิชาการตะวันตกที่ต้องการสร้างประเทศให้มั่งคั่งเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างจะจบลงในไม่ช้า แต่สำหรับทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ ทำได้ทุกวัน ทั้งยังจะสร้างความยั่งยืนให้แก่ลูก หลาน เหลน โหลน ในอนาคตด้วย”

Advertisment

“เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลา อาจจะ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี และแรก ๆ อาจไม่ค่อยมีใครเชื่อ หรืออาจไม่ค่อยมีคนเข้าใจเลย แต่วันหนึ่งเขาจะเข้าใจเอง ซึ่งเหมือนกับพระราชดำรัสที่พระองค์ตรัสกับผมว่า ถ้าประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะถอยหลังอย่างน่ากลัว ตอนนั้นผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่พอประเทศไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ผมเข้าใจเลย เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2550 ผมก็ยิ่งประจักษ์ชัดในสิ่งที่พระองค์ตรัสให้ฟัง”

องค์ความรู้มาจากชาวบ้าน และชุมชน

นอกจากนั้น “อาจารย์ยักษ์” ยังเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เจอกับตัวเอง เนื่องจากหน้าที่ที่ต้องตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งยังต้องจดบันทึกพระราชดำริต่าง ๆ ที่พระองค์ตรัสกับชาวบ้าน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเขียนแผนงานพัฒนาโครงการต่าง ๆ

“ผมคิดว่าเราเขียนแผนพัฒนาสุดยอดแล้ว ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งยังมีทฤษฎีจากทั่วโลกมาประกอบเหตุ และผลในการสนับสนุนความคิดด้วย แต่พอผมกราบบังคมทูล พระองค์กลับคิดไปไกลกว่าที่ผมเขียนเสียอีก เราก็พยายามอธิบายสิ่งที่เรานำทฤษฎีต่าง ๆ มาประกอบ แต่พระองค์ไม่ได้ทำให้เราเสียใจเลย ผมว่าเป็นการสอนของพระองค์มากกว่าที่ทำให้เรารู้ว่า แนวทางการพัฒนาจริง ๆ อยู่ในชุมชนนั่นแหละ”

Advertisment

“ขอให้เราค้นหาให้เจอ เพราะสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญ องค์ความรู้ที่มาจากบรรพบุรุษยังเป็นองค์ความรู้ที่ใช้ได้จริง และยังมีคนทำอยู่จริง ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่น ที่เราจะต้องหาให้เจอ เพื่อนำมาประกอบร่างกับทฤษฎีของเรา และเราจะรู้เองว่า ชาวบ้านต้องการอะไร เขาขาดอะไร ที่สำคัญ จะต้องให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

“พระองค์ทรงสอนผมว่า ทำอะไรอย่าลัดขั้นตอน ค่อย ๆ พัฒนา ไปช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่า ตอนนั้นผมต้องฉีกแผนทิ้งทั้งหมดเลย เพราะเรารู้กับตัวเองเลยว่า สิ่งที่เราคิด เขียน เราไปหยิบยกความสำเร็จของทฤษฎีจากโลกตะวันตก ที่ใช้ไม่ได้กับบริบทของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ทำให้ผมคิดว่า สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเป็นวิถีของชาวบ้านที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมเขาเคยทำมาก่อน เพียงแต่เราไม่คิดจะนำมาต่อยอดเท่านั้นเอง”

ทั่วโลกยอมจำนนความคิดของพระองค์

คำถามคือในหลวงทรงรู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ?

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ “อาจารย์ยักษ์” คิด และพยายามไขปริศนามาโดยตลอด จนกระทั่งหลายปีผ่านมา จึงค้นพบว่าเพราะพระองค์ประสูติในสหรัฐอเมริกา เรียนหนังสือ และเติบโตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“ทั้งสองประเทศล้วนเป็นประเทศที่เจริญ เพียงแต่สหรัฐอเมริกาอาจเป็นประเทศทุนนิยม ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเป็นกลาง เปิดรับทุนนิยมเสรี ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นประเทศสังคมนิยม เขาสร้างประเทศด้วยความบาลานซ์ สามารถอยู่ได้กับทุกประเทศในโลก ผมจึงเชื่อว่าพระองค์น่าจะทรงมีวิธีคิดแบบนี้”

“แต่สิ่งที่ประเทศไทยเหนือกว่าสวิตเซอร์แลนด์ คือ เรามีแดดมากกว่า ต้นไม้ปรุงอาหารเร็วกว่า ทั้งยังผลิตออกซิเจนได้มากกว่า ขณะเดียวกันก็ยังเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า จึงทำให้พระองค์เชื่อว่าการที่เราจะสร้างประเทศด้วยความพอเพียง จึงเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ ขอให้เราตั้งเป้าเรื่องนี้เพื่อเป็นแชมป์โลก

จะไม่มีใครสู้เราได้เลย ดังนั้น พอพระองค์ทรงคิดแบบนี้ ก็ทรงเพียรทำตามความเชื่อเรื่อยมา และก็เป็นจริงในเวลาต่อมาด้วย”

“จนกระทั่ง โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Lifetime Achievement Award) เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยตลอดรัชสมัย เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2549 ผ่านมา”

สิ่งเหล่านี้เป็นการพิสูจน์ให้โลกประจักษ์ชัดว่า แนวทางการทรงงานของพระองค์เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งยังทำให้เวลาต่อมา สหประชาชาติยังนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนด้วย

“อาจารย์ยักษ์” บอกว่า ตรงนี้เป็นมุมมองที่แหลมคมของพระองค์ เพียงแต่คนไทยทุกวันนี้ยังไม่ค่อยซาบซึ้งกับหลักปรัชญานี้ ขณะที่ทั่วโลกต่างจำนนต่อความคิดของพระองค์ ทั้งยังใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน 17 เป้าหมายของ SDGs โดยเฉพาะเรื่องของการขจัดความยากจนของประชากรโลก

“ผมจึงเชื่อว่าหลักการทรงงานของพระองค์มีสิ่งสำคัญซ่อนอยู่ 3 ระดับ คือ หลักปรัชญา, แนวพระราชดำริ และทฤษฎีการพัฒนาในทุกมิติ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระองค์จะทรงทำโครงการใหม่ ๆ อะไรขึ้นมา จึงมีสิ่งเหล่านี้ซ่อนอยู่เสมอ จนก่อเกิดเป็น 4,000 กว่าโครงการ ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกว่า ใน 4,000 กว่าโครงการของพระองค์สามารถต่อยอดเป็นงานวิชาการได้มากกว่า 50,000 ชิ้น”

ตั้งวิทยาลัยศาสตร์พระราชาเผยแพร่สู่สากล

ตรงนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ “ดร.สุเมธ” พูดคุยกับ “อาจารย์ยักษ์” และ “ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อต้องการเห็นสถาบันอุดมศึกษาที่ไหนสักแห่งนำเรื่องศาสตร์พระราชาไปพัฒนาเป็นงานวิชาการ เพื่อให้ทั่วโลกรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ มากมายจะช่วยมนุษยชาติต่อไปได้ในอนาคต

อีกเหตุผลหนึ่งคือต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์เรียนรู้ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ “ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตอบรับในเรื่องนี้ และเชื่อว่าอีกไม่นานคงจะมีงานแถลงข่าวเพื่อเปิดตัววิทยาลัยศาสตร์พระราชาขึ้นภายใน สจล.

โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้ พร้อมกับผลักดันหลักการทรงงานของพระองค์เผยแพร่ไปสู่ระดับสากล เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศให้อยู่ดีกินดีขึ้น

ทั้งยังช่วยประชากรโลกที่ยากจนให้กลับฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่

อันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหวัง

และเป็นสิ่งที่ “อาจารย์ยักษ์” ต้องการถวายชีวิตแด่พระองค์ เพื่อทำงานขับเคลื่อนมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาตลอด 21 ปี หลังจากลาออกจากราชการ เพื่อนำศาสตร์พระราชาไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน และชุมชน

ทั้งนั้นเพื่อต้องการให้พวกเขายืนได้ด้วยขาตัวเอง

และเมื่อพวกเขายืนได้ด้วยขาตัวเองแล้ว เขาก็จะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไป

อันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหวังมาตลอดพระชนม์ชีพ