พระราชินีเสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินฯ จ.เพชรบุรี

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เวลา 18.10 น.สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ เป็นการส่วนพระองค์ ในโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนาย นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนเฝ้าฯรับเสด็จ การนี้ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปพระบาทสมด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ค่ายนเรศวร

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงยังโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสร็จประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ทอดพระเนตร และทรงรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริในการดำเนินโครงการฯ และทรงรับฟังการบรรยายการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกป่าโดยวิธีปลูกป่าทางไกล และทรงปลูกป่าทางไกลด้วยการยิงหนังสติ๊ก เมล็ดมะขาม เมล็ดมะกำตัน เมล็ดต้นคูณ

การนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงนำหนังสติ๊กส่วนพระองค์ที่ทรงทำจากยางพลาสติกของแท้มาทรงยิงเมล็ดมะขาม เมล็ดมะกำตัน เมล็ดต้นคูณ ไปทางหุบเขาป่าหัวโล้น ด้วยความสนพระทัย พร้อมทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมผู้ที่คิดค้นวิธีการปลูกป่าด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้ป่าไม้มีความสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยทำให้คนเพลิดเพลินในการยิงหนังสติ๊กอีกด้วย

ต่อมาประทับรถรางพระที่นั่งไปยังสระเก็บน้ำ A และสระเก็บน้ำ B ทรงรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่โครงการฯ และทอดพระเนตรพืชสมุนไพรสวนนานาพฤกษสมุนไพร โอกาสนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงร่วมกิจกรรมการแปรรูปสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ทรงทดลองทำลูกประคบสมุนไพร ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นผสมสมุนไพร กระทั่งการมัดลูกประคบด้วยพระองค์เอง ทรงปรุงยาหม่องน้ำมันไพล น้ำมันไพล และสเปรย์กันยุงจากมะกรูด และตะไคร้หอม เป็นต้น

เมื่อได้เวลาอันสมควร เสด็จฯเข้าภายในอาคารสำนักงานโครงการฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลถวายรายงาน ความเป็นมาและการบริหารจัดการโครงการ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ภาพรวมโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยความสนพระราชหฤทัย

ต่อมาทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์จากโครงการชัยพัฒนา โครงการชั่งหัวมัน และชมผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน จาก 8 อำเภอ ในจังหวัดเพชรบุรี เช่นผลิตภัณฑ์กระเป๋าศรนารายณ์ทรงโมเดิร์นจากกลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่าศรนารายณ์ อ.ชะอำ ผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทองแปรรูป ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน กระเป๋าผ้า อ.หนองหญ้าปล้อง ผลิตภัณฑ์เกลือทะเลแปรรูปที่นำมาเป็นผลิตภัณฑ์สปา จาก อ.บ้านแหลม ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกระเหรี่ยงโปว์ บ้านสองพี่น้อง อ.เมืองเพชรบุรี และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกตาลเป็นขนมหวายและสบู่บำรุงผิว จาก อ.ท่ายาง เป็นต้น

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีได้พระราชทานกำลังใจให้แก่ตัวแทนร้านต่างในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพ อีกทั้งทรงอุดหนุนสินค้าจากชาวบ้านทั้ง 8 อำเภอ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ร้านต่าง ๆ ด้วย

โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทราย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า พื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และบริเวณใกล้เคียง เคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีน้ำตกและลำธารไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ตลอดปี แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลับเสื่อมโทรมลง ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงทุกปี และไม่ตกต้องตามฤดูกาลเกรงว่าพื้นที่นี้จะแห้งแล้งกลายเป็นทะเลทราย จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ประมาณ 15,880 ไร่ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบราษฎรให้ราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าอยู่อาศัย และทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่า และการปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงมีพระราชประสงค์จะดำเนินการทดลองการฟื้นฟูพื้นที่ ในพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีพื้นที่ใหญ่เกินไป และพบว่าได้พื้นที่บริเวณบ้านอ่างหิน ม.6 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมเช่นเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวน 3 แปลง ติดต่อกันรวม 340 ไร่ แปลงที่ 1 เป็นชื่อในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แปลงที่ 2 เป็นชื่อหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ ดิสกุล แปลงที่ 3 ชื่อท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ซึ่งในเวลาต่อมาหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ ดิสกุลและท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้เริ่มดำเนินงานตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ว่า “พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษา ประกอบด้วยการชลประทาน สร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่น ๆ ตามความจำเป็น เพื่อเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ศึกษารูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม และถ่ายทอดสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 โดยมีศูนย์โครงการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในการสนองต่อพระราชดำริ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ดังนั้นมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้เข้ามารับผิดชอบ ดำเนินงานต่อตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2548 โดยใช้งบประมาณดำเนินการทั้งหมดของมูลนิธิฯ แต่ยังคงรูปแบบการดำเนินงานตามที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานไว้ ภายใต้ชื่อ “โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”