เพราะกติกาการค้าโลก ถูกขีดกรอบใหม่อีกครั้งจากปัญหาวิกฤตปัญหาอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น รัฐและธุรกิจประเทศไทย ไม่ยอมตกขบวนโลก
อย่างน้อยก็มี 14 บริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ลงมือทำ ปักธงทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG-environment, social, governance และเป้าหมาย SDG-sustainable development goals
ขับเคลื่อนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้า-อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการมีส่วนร่วมชดเชยคาร์บอน (carbon offset) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละองค์กรปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่สำคัญ
ไม่เพียง 14 องค์กรธุรกิจที่ตื่นรู้ขึ้น แต่ยังมี “องค์กรกลาง” อย่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมทำหน้าที่เชื่อมต่อการพัฒนา-การรักษาพื้นที่ป่า ที่มีเป้าหมาย “ชนะ 3 ฝ่าย” คือ ธุรกิจ-ประชาชน-และรักษาสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER ภาคป่าไม้ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
แม่ฟ้าหลวงฯประกาศเจตนารมณ์จัดการคาร์บอนเครดิต
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับ 14 เครือข่ายธุรกิจ จัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาเกือบ 40 ปี
โดยมีความเชื่อว่าป่าจะอยู่ได้ คนต้องมีรายได้ที่เพียงพอ เพราะเมื่อคนมีรายได้เพียงพอ ก็จะนำไปสู่การช่วยรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาการบุกรุกทำลายป่าที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่เกิดจากความจำเป็นเรื่องปากท้อง และหากบริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุล ผืนป่าก็จะสามารถเป็นแหล่งรายได้ให้กับทั้งชุมชนและประเทศได้
“จากประสบการณ์ด้านดูแลป่าดังกล่าว เราได้ขยายผลมาสู่โครงการจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชน
ทั้งนี้โครงการเกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรและป่าไม้ เนื่องจากต้นไม้สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และในประเทศไทยมีชุมชนที่ดูแลป่าดีอยู่แล้ว และในอีกทางหนึ่งมีภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเอง”
ดังนั้น มูลนิธิทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมให้ชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำได้สนับสนุนกัน และเกิด win-win situation หรือสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุน 2 ประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดหลักของโครงการ ได้แก่ พื้นที่ป่าชุมชนที่เสียหายจากไฟป่า ปริมาณคาร์บอนเครดิต และการรวมกลุ่มสร้างอาชีพของชุมชน
หม่อมหลวงดิศปนัดดาเล่าถึงกระบวนการจัดการพื้นที่ป่า เพื่อกักเก็บ-จัดการคาร์บอนเครดิตว่า ช่วง 3 ปีแรก (2563-2565) เป็นช่วงพัฒนาระบบ มีพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ และมีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน โครงการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำหลายบริษัท และมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ
ผนึก 14 บริษัท ขึ้นทะเบียนแสนไร่ 77 ชุมชน
ปัจจุบันมูลนิธิขยายพื้นที่พัฒนาเพิ่มขึ้นครอบคลุม 143,496 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตประมาณ 100,000 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 77 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร และมีภาคเอกชน 14 รายเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
5.บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) 7.บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 8.ธนาคารออมสิน 9.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด 11.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 12.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 14.บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
“บทบาทภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนงบประมาณ 2 ส่วน คือ 1.สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน 2.เตรียมความพร้อมของชุมชนเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐาน T-VER นำไปสู่การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในอนาคต
โดยทั้ง 2 ส่วนสามารถดำเนินการผ่านกลไกและกฎหมายที่มีอยู่แล้วได้ทันที พร้อมทั้งสนับสนุนความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การพัฒนาสินค้า รวมถึงการอบรมพัฒนาศักยภาพชุมชน รวมถึงการช่วยหาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาจัดการเรื่องการปล่อยคาร์บอน”
สังคมวัฒนาเพิ่มรายได้ 630 ล้านบาท
หม่อมหลวงดิศปนัดดากล่าวอีกว่า เป้าหมายต่อไป มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯอยู่ในระหว่างการเตรียมแผนขยายการดำเนินงานโครงการในป่าชุมชน ร่วมกับกรมป่าไม้เพิ่มเติมอีก 150,000 ไร่ ซึ่งการขยายงานในครั้งนี้ เมื่อรวมกับระยะพัฒนาระบบ จะทำให้โครงการมีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัด
ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน การดำเนินงานในแต่ละป่าชุมชนครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี และคาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านรายได้ชุมชนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท
ธุรกิจเดินหน้าจัดการคาร์บอนเครดิต
สุศมา ปิตากุลดิลก รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯว่า เทคโนโลยีที่จะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก คือ การใช้ carbon capture and storage หรือ CCS
เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นใต้ดินอย่างถาวรในระดับที่ลึกมากกว่า 1,500 เมตร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน
หลายประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่น ซึ่งบริษัทกำลังอยู่ระหว่างศึกษา เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่มีใครใช้ในประเทศไทย
หรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังศึกษาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากจะนำมาใช้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ซึ่งหากบริษัทศึกษาและสามารถนำมาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย
ด้าน กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า บางจากฯสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย net zero
เช่น การก่อตั้ง Carbon Markets Club (CMC) เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งบทบาทของบางจากฯในการร่วมขับเคลื่อนตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน CMC ร่วมกับพันธมิตรรวม 11 องค์กร ริเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2564 ดำเนินกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 430 ราย ทั้งประเภทองค์กรและบุคคล และมียอดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและ renewable energy certificates ผ่าน marketplace ในเว็บไซต์ของ CMC รวมกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”
นอกจากนี้ บางจากฯร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและพันธมิตร กำลังจะร่วมพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้นร่วมกับสหกรณ์การเกษตรในเครือข่ายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันชุมชนของบางจากฯ กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เกษตรกรสวนผลไม้ยันนาข้าว ก็จะทำเรื่องการลดโลกร้อนตั้งแต่การปลูก การดูแลต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร
สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผ่านความมุ่งมั่นของ “ต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่ระบุว่า “ไทยเบฟฯมีการตั้งเป้าว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030
และมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero 2040 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด ผ่านการใช้พลังงานสะอาด การกำจัดของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรม เนื่องจากธุรกิจผลิตแอลกอฮอล์ จะมีของเสียที่เกิดจากการหมักด้วย”
ฉะนั้น ต้องหาวิธีเก็บ ที่สำคัญ อุตสาหกรรมของเรามีการใช้น้ำปริมาณมาก จึงตั้งเป้าหมายว่าจะคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้ได้ 100% ตามปริมาณน้ำที่เราใช้ในการผลิตให้ได้ภายในปี 2030 และสุดท้ายคือความหลากหลายทางชีวภาพ ธุรกิจของเราต้องไม่ทำลายสัตว์ที่อยู่ในระบบนิเวศ ฉะนั้นจะมีการสำรวจระบบนิเวศที่อยู่รอบ ๆ โรงงานว่าเป็นอย่างไรด้วย