กระทรวงแรงงาน ผนึกภาคการศึกษา ทำธนาคารสะสมหน่วยกิต

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

กระทรวงแรงงาน หารือ ม.เกษตรฯ นำร่องระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต ยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัย เดินหน้า อัพสกิล แรงงานไทย ผลิตนักบินโดรนภาคเกษตร เทรนนิ่ง นักค้าขายออนไลน์

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้อนรับ รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือจัดทำความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตร และยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัย โดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (credit bank) เมื่อวานนี้ (13 พฤศจิกายน 2566)

โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิตถือเป็นการเริ่มต้นร่วมมือกันในการต่อยอดกับภาคการศึกษา และใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละสถาบันมายกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถทดสอบเพื่อออกใบรับรองความรู้ความสามารถให้ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนจบระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

“การเรียนรู้และทดสอบความรู้ความสามารถของตนเองได้ เพื่อได้ใบรับรองความสามารถตามที่สถานประกอบการต้องการ เพราะแต่ละคนมีความสามารถและพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน เมื่อมาสอบกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็สามารถบอกได้ว่าฝีมือของเราอยู่ในระดับใด”

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวงอยู่แล้ว ทั้งมหาดไทย ศึกษาธิการ อว. และแรงงาน ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน upskill แรงงาน และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ ให้ได้ค่าแรงที่สูงขึ้น

ด้าน รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในนามสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะที่ได้เปิดโอกาสให้เข้าพบและหารือความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตร และยกระดับฝีมือแรงงานทุกช่วงวัยโดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองเรามีความพร้อมที่ทั้งด้านบุคลากร และศักยภาพในการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อที่จะยกระดับพัฒนาทักษะแรงงาน และต่อยอดความร่วมมือไปด้วยกัน

ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งเสนอการพัฒนาอาชีพใหม่ ๆ ว่า อาชีพทางการเกษตร เช่น อาชีพควบคุมโดรนด้านการเกษตร ต้องรู้เรื่องการเกษตร ต้องเรียนรู้เรื่องการบังคับควบคุมโดรน วางแผนควบคุมโดรน รู้พฤติกรรมของพืชต่าง ๆ เป็นความเชี่ยวชาญ รวมถึงอาชีพนักการขายออนไลน์ และอาชีพนวัตกรรมการจัดการเป็นต้น

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งดำเนินการกำหนดรายละเอียด ขั้นตอนและวิธีการในการใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องแรงงานโดยเร็ว หากทำได้จะช่วยให้พี่แรงงานได้นำประสบการณ์และความสามารถที่มีใบรับรองต่าง ๆ เข้าในระบบแล้วเทียบเคียงกับคุณวุฒิการศึกษา หรือสามารถนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับค่าจ้างตามฝีมือได้

ซึ่งต้องร่วมกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องไปจับมือกับภาคการศึกษา และสถาบันการศึกษาหลาย ๆ สถาบัน เพื่อใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละสถาบันมายกระดับฝีมือให้แก่กำลังแรงงานภายในประเทศ ซึ่งในส่วนนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถจัดฝึกอบรม หรือดำเนินการทดสอบเพื่อออกใบรับรองความรู้ความสามารถให้ได้

นางสาวบุปผากล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นจะเสนอสาขาอาชีพนำร่องที่จะมีการเทียบหน่วยกิตกับภาคการศึกษาเพื่อบรรจุในระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะนำร่องในหลักสูตรนักบินโดรนเพื่อการเกษตร และหลักสูตรการขายสินค้าออนไลน์

ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มาแรงมากและผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ความสนใจอย่างมาก อีกส่วนหนึ่งที่เตรียมบูรณาการซึ่งคาดว่าจะมีความร่วมมือกันในปลายปีนี้คือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทั้ง 9 แห่ง หลักสูตรที่จะนำร่องใช้ credit bank คือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อม และหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์ EV

อย่างไรก็ตาม ต้องหารือกันอีกครั้งเพื่อกำหนดรายละเอียดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จาก Credit Bank และใช้ง่ายได้สะดวกที่สุด

“ธนาคารหน่วยกิต เป็นระบบที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิจหรือผลการเรียนจากหลายรูปแบบ ทั้งจากการศึกษา จากการอบรม จากประสบการณ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเทียบวุฒิหรือรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา เมื่อเทียบเคียงกันได้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดอัตราค่าจ้างทั้งตามฝีมือและค่าจ้างตามวุฒิการศึกษาอีกด้วย” อธิบดีบุปผากล่าว