กสร. ห่วงข้อพิพาทแรงงานช่วงสิ้นปี เรื่องโบนัส-ปรับค่าจ้าง สั่งเดินแผนเชิงรุก

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ห่วงข้อพิพาทแรงงานช่วงสิ้นปี เรื่องโบนัส-ปรับค่าจ้าง สั่งเจ้าหน้าที่เร่งส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ขอนายจ้าง-ลูกจ้าง ยึดหลักสุจริตใจ เจรจาด้วยเหตุผล

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปีเป็นเวลาที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของสถานประกอบกิจการที่ทำขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือองค์กรด้านแรงงานส่วนใหญ่จะสิ้นสุดลงตามรอบระยะเวลาที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้

นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เผยว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน ขอให้เร่งดำเนินการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก โดยแนะนำส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้าง ใช้ระบบทวิภาคี เจรจากันด้วยความสุจริตใจ เข้าอกเข้าใจกัน เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน การเจรจาต่อรองก็จะสามารถยุติกันได้ไม่นำมาซึ่งข้อขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงาน

ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. มีความมุ่งหวังให้การเจรจาปรับปรุงสภาพการจ้างและการตกลงข้อตกลงสภาพการจ้างจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้างและครอบครัว ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของสถานประกอบกิจการ

ทั้งเป็นเครื่องมือในการรักษาการจ้างและการดำเนินกิจการของสถานประกอบกิจการที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรายได้ลดลงหรือขาดทุนยังคงดำเนินการต่อไปได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติการด้านแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก กสร. ได้จัดตั้งศูนย์แรงงานสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดลำพูน จังหวัดสงขลา ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวังและสนับสนุน ให้คำปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์แก่สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง

มุ่งเน้นการปฏิบัติการเชิงรุกโดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เข้าส่งเสริมและร่วมแก้ไขข้อขัดแย้งที่จะนำมาสู่ข้อพิพาทแรงงานที่อาจมีความรุนแรง เช่น การปิดงาน นัดหยุดงานหรือการผละงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับสถานประกอบกิจการและลูกจ้างตลอดจนความน่าเชื่อถือในด้านการลงทุนของประเทศ