ย้ายงานได้ขึ้นเงินเดือนสูงสุด 25% เทรนด์จ้าง CEO ระยะสั้นมาแรง

คนทำงาน

เปิดผลสำรวจ 8 กลุ่มอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ-อีอีซี บริษัทระดับโลกชี้ภาพรวมคนย้ายงานได้เงินเดือนเพิ่มถึง 15-25% สวนทางคนอยู่เก่าได้ขึ้น 1-4% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย นายจ้างต้องปรับวิธีดึงคน-รักษาคนเก่ง เผยเทรนด์ดึงคนเก่ากลับมาทำงาน-จ้างซีอีโอขัดตาทัพก็มาแรง ตลาดแรงงานที่มีทักษะต้องการโบนัส+วันทำงานที่ยืดหยุ่น

บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก “โรเบิร์ต วอลเตอร์ส” จัดทำสํารวจเงินเดือนประจำปี 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 570 คน ประกอบด้วยพนักงานและนายจ้างบริษัทต่าง ๆ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย

แนวโน้มเงินเดือนปี’67

จากรายงานภาพรวมเงินเดือน แนวโน้มการสรรหาบุคลากร และข้อมูลเชิงลึกในการรักษาบุคลากร ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนายจ้างและพนักงานในการเปรียบเทียบระดับเงินเดือนของภาคอุตสาหกรรม

ข้อมูลระบุปี 2567 คนย้ายงานจะได้เงินเดือนเพิ่มสูงสุด 40% ส่วนคนอยู่ที่เก่าขึ้นเพียง 1-4% เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย ส่งผลให้นายจ้างต้องงัดกลยุทธ์ดึงคนให้อยู่กับองค์กร รวมทั้งเทรนด์ดึงคนเก่ากลับมาทำงาน และจ้าง CEO แบบรักษาการก็ได้รับการตอบรับ

นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจําประเทศไทย บริษัท โรเบิร์ต วอลเตอร์ส เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังจะได้รับเงินเดือนเพิ่ม 6-10% จากบริษัทเดิม สวนทางกับฝั่งนายจ้างที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเก่าทุกตำแหน่งเพียง 1-4% ต่ำกว่าผลสำรวจปีที่ผ่านมาที่นายจ้างขึ้นเงินเดือน 2-5% ขณะที่โบนัสคาดการณ์ว่าปีนี้จะจ่ายประมาณ 13% ในทุกระดับงาน

น่าสนใจว่า ปีนี้คนย้ายงานมีโอกาสเรียกเงินเดือนเพิ่มได้มาก หากมีทักษะที่ต้องการและมีความพร้อมทำงาน โดยได้รับเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรม 15-25% ส่วนผู้ที่ได้ฝึกอบรมเพิ่มจะได้เงินเดือนเพิ่ม 15%

หากแบ่งตามอุตสาหกรรม คนย้ายงานที่มีทักษะในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้เงินเดือนเพิ่ม 10-40% ธุรกิจด้านกฎหมาย การขายและการตลาด 20-35% ธุรกิจวิศวกรรมและการผลิต และธุรกิจซัพพลายเชนการจัดซื้อ 25-30% และธุรกิจบัญชีการเงิน ธุรกิจทรัพยากรบุคคล 20-30%

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา

 

อยากย้ายงานเกินครึ่ง

ผลสำรวจระบุอีกว่า พนักงาน 3 ใน 4 มีความตั้งใจจะหางานใหม่ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ปัจจัยพิจารณาเรื่องการย้ายงานคือ บริษัทใหม่มีแผนจ่ายโบนัสชัดเจน (89%) มีประกันสุขภาพเอกชนสำหรับผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก (74%) มีการทํางานที่ยืดหยุ่น ทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (59%) จำนวนสิทธิวันหยุด-วันลา (41%) และทำประกันคุ้มครองชีวิต/โรคร้ายแรง (30%)

ทั้งนี้ 78% ของพนักงานที่ต้องการทำงานแบบยืดหยุ่นคือ เข้าออฟฟิศ 2-3 วัน/สัปดาห์ ขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่คาดหวังให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์

“ผู้หางาน 70% มั่นใจโอกาสได้งานใหม่ในสาขาที่ตัวเองถนัด เพราะมีทักษะที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเป็นตลาดแรงงานที่มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ทำให้มีโอกาสได้งานสูง”

นางปุณยนุชตั้งข้อสังเกตว่า ความท้าทายที่ใหญ่สุดในการสรรหาพนักงานในปีหน้าคือ ความคาดหวังเงินเดือนและผลประโยชน์ที่สูงเกินไป และปัญหาการขาดแคลนทักษะบวกความสามารถที่ต้องการ ดังนั้น นายจ้างจะเพิ่มความพยายามในการรักษาคนเก่งด้วยการยื่นข้อเสนอสู้ (counter offers)

ซึ่งมากกว่า 8 ใน 10 ราย มีกลยุทธ์รักษาพนักงานโดยมุ่งจัดโปรแกรมการพัฒนาเรียนรู้ และโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เช่น นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต มุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย

ขณะที่นายจ้างกว่า 80% ก็พิจารณาจ้างกลุ่มบูมเมอแรง หรือดึงคนเก่ากลับมาทำงาน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะจัดการกับปัญหาขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะ โดย 72% ของพนักงานล้วนเปิดกว้างอยากกลับมาทำงานที่บริษัทเก่า

นอกจากนี้ 54% ของพนักงานที่สมัครงานใหม่ แต่ยังไม่ได้ลาออกจากที่เดิมจะยังคงพิจารณาอยู่ต่อ หากนายจ้างมีข้อเสนอที่ต้องการ เช่น ให้เงินเดือนเพิ่ม (94%) ได้เลื่อนตำแหน่ง (58%) การทำงานยืดหยุ่นได้มากขึ้น (40%) การจ่ายโบนัสที่จูงใจ (33%) และทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (21%)

ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจ 34% ระบุว่า พวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอการซื้อตัวให้อยู่ต่อ โดย 28% จะอยู่ต่อน้อยกว่า 6 เดือน, 17% จะอยู่ต่อ 1 ปี และ 14% จะอยู่ต่อ 3-5 ปี

อีกความท้าทายคือ การขาด successor หรือผู้สืบทอดรระดับ C-level ซึ่งเป็นเรื่องหนักใจของหลายองค์กร ทำให้เกิดเทรนด์จ้างงานผู้บริหารที่เกษียณแล้วมารับตำแหน่งแบบระยะสั้น หรือระยะเวลาหนึ่ง (interim) เพื่อทดแทนการขาดแคลนผู้สมัคร และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเทรนคนมารับตำแหน่งต่อไป

เปิดกลยุทธ์ดึงคนเก่ง

นางปุณยนุชกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทไทยเริ่มยกระดับกลยุทธ์การสรรหาพนักงาน ด้วยการใช้จุดขายวัฒนธรรมองค์กรและสร้างแบรนด์ที่โดดเด่น ที่เห็นมากคือ ร่วมมือกับแพลตฟอร์มเน้นเรื่องความยั่งยืน ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง และมุ่งรับผิดชอบต่อสังคม

การรับฟังเสียงพนักงานก็เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่พนักงานอยากให้นายจ้างปรับคือ สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (86%) ทำงานแบบยืดหยุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ (hybrid working), มุ่งดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี การเข้าถึงที่ปรึกษานักจิตวิทยา (36%), ส่งเสริมความหลากหลาย ลดการเลือกปฏิบัติ (26%), พยายามลดโลกร้อน (12%) และมีแนวปฏิบัติรับผิดชอบต่อสังคม (7%)

“ปี 2567 นายจ้างเห็นปัญหาการขาดแคลนมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานที่มีทักษะเรื่องเทคโนโลยี การขาย บัญชี การตลาด ซัพพลายเชน และจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อบรรเทาปัญหานี้ 92% ของนายจ้างจึงโฟกัสเรื่องพัฒนาทักษะด้วยการฝึกอบรมทั้งภายในภายนอก และสนับสนุนฝึกอบรมส่วนบุคคล”

ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานที่ตอบแบบสำรวจ (50%) วางแผนจะเพิ่มทักษะทางเทคนิคและสังคม การสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อพวกเขาจะมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย