โรคเรียนรู้บกพร่อง แพทย์ส่งสัญญาณเตือนรีบแก้ปัญหา

แม้ปัจจุบันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก LD (Learning Disorder) หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในประเทศไทยจะขยายวงกว้างขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือยังมีผู้ปกครองและครูจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด คิดว่าเด็ก LD ที่มีปัญหาด้านการอ่าน, การเขียน, การคำนวณ อาจมีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน ทำงานช้า และเป็นเด็กดื้อ เกเร จนทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะเรียนรู้ที่ดีพอ กระทั่งอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคต

ทั้ง ๆ ที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ หากได้รับการพัฒนาตรงจุดและเหมาะสม

ถามว่า LD คืออะไร ?

คำตอบคือ LD ย่อมาจากคำว่า Learning Disorder หรือในชื่อภาษาไทยคือ “โรคการเรียนรู้บกพร่อง” ซึ่งเป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง จนทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง

รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์
รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์

“รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์” จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือแอลดี แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง ความบกพร่องด้านการอ่านปัญหาพบมากที่สุดของเด็ก LD เกิดจากความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

สอง ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

สาม ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ เด็กจะขาดทักษะ และความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการคิดคำนวณต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ผลเช่นนี้จึงทำให้หลายคนสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุของโรค LD “รศ.นพ.มนัท” จึงบอกว่าเกิดจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา, กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน และความผิดปกติของโครโมโซม

ดังนั้น แนวทางของแพทย์ในการวินิจฉัยเด็ก LD จึงต้องรวบรวมประวัติการเรียน และพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้านมาใช้ประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งรายงานจากครูประจำชั้น การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน เพราะเด็ก LD จะเรียนรู้ต่ำกว่าเพื่อนนักเรียนในชั้นอย่างชัดเจน และเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็ก LD มีปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ที่พบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40-50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษา และการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือ และสายตา

ฉะนั้น ถ้าดูจากสถิติทั่วโลกต่างสรุปตรงกันว่า ถ้า 5% ของเด็กชั้นประถมที่เป็นโรค LD จะมีจำนวนไม่น้อย โดยจะพบแบบรุนแรง 1-2% ส่วนที่เหลือ 3% เป็นแบบไม่รุนแรง สามารถช่วยตัวเองได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่เป็น LD มีตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่เด็กผู้ชายจะถูกส่งมาพบแพทย์มากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมดื้อและซน ขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะเรียบร้อย ไม่ค่อยแสดงออก ส่วนโรคร่วมอย่างสมาธิสั้นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่า

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยคือ พบว่ามีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่เด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ หากได้รับการช่วยเหลือตรงจุด และเหมาะสมตั้งแต่ยังเล็กยิ่งดี

“รศ.นพ.มนัท” กล่าวต่อว่า พ่อแม่จึงต้องเปิดใจ เพราะลูกเป็นโรคที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้เกเร หรือขี้เกียจ การหลบเลี่ยงเป็นผลที่ปลายเหตุ โดยกระบวนการรักษาจะแนะนำทั้งผู้ปกครอง ลูก และโรงเรียน

ตัวอย่างเช่น โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียน สอนเป็นกลุ่มย่อย หรือตัวต่อตัวครั้งละ 30-45 นาที หรือสัปดาห์ละ 4-5 วัน เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการอ่านโจทย์และเขียนตอบ

“นอกจากนั้น ควรส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ต้องกระตุ้นเตือนว่าเขาทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงการมองหาความสามารถพิเศษของเขาให้เจอ โดยพ่อแม่ต้องเข้ามาช่วยด้วย

ส่วนคุณครูก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก พูดง่าย ๆ ควรร่วมมือกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม”

ถึงจะทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้หายจากโรค LD เสียที